บาลีวันละคำ

คุณ (บาลีวันละคำ 3,903)

คุณ

คำ-สั้น

แต่ความ-ยาว

อ่านว่า คุน

“คุณ” บาลีอ่านว่า คุ-นะ รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + อ (อะ) ปัจจัย

: คุณฺ + อ = คุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” = เมื่อทำสิ่งนั้น ก็จะประกาศให้รู้ว่าสิ่งที่ทำหรือผู้ทำสิ่งนั้นมีความดี

(2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” = เมื่อทำสิ่งนั้นก็เท่ากับได้ผลของสิ่งนั้นติดพันมาด้วย

(3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม” = ใครต้องการความดีก็ต้องสั่งสมสิ่งนั้น ถ้าไม่สั่งสมก็ไม่มีและไม่ได้สิ่งที่ต้องการ

“คุณ” ในบาลีหมายถึง –

(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord)

(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)

(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ (quality, good quality, advantage, merit)

(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold)

ตัวอย่างในข้อ (4) ก็อย่างเช่นคำว่า “ทวีคูณ” ซึ่งแปลว่า “สองเท่า” (ทวี < ทฺวิ = สอง, คูณ = -เท่า) “-คูณ” คำนี้แผลงมาจาก “คุณ” นี่เอง

ขยายความ :

“คุณ” ในภาษาไทย ใช้ตามความหมายเดิมในบาลีก็มี ใช้ตามความหมายเฉพาะในภาษาไทยก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คุณ ๑” บอกไว้ดังนี้ –

(1) (คำนาม) ความดีที่มีประจำอยู่ในสิ่งนั้น ๆ เช่น คุณของแผ่นดิน, ความดีที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น ไม่รู้คุณข้าวแดงแกงร้อน

(2) (คำนาม) ความเกื้อกูล เช่น รู้คุณ. (ป., ส.)

(3) (คำนาม) คำที่ใช้เรียกนำหน้าบุคคลเพื่อแสดงความยกย่อง เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณสมร

(4) (คำนาม) คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้าถึงชั้นทุติยจุลจอมเกล้า, คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป

(5) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) คำแต่งชื่อ.

(6) (สรรพนาม) คำใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย เป็นคำสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒, (ภาษาปาก) คำใช้แทนผู้ที่เราพูดถึงด้วยความสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓, เช่น คุณอยู่ไหม ช่วยไปเรียนว่ามีคนมาหา.

แถม :

มีคำคนเก่าพูดกันคำหนึ่งว่า “คุณไสย” หมายถึง การเสกคาถาอาคมไปทำร้ายศัตรูหรือคนที่เกลียดชังหรือคนที่ต้องการให้เป็นไปตามประสงค์ ใครถูกกระทำเช่นนั้นก็พูดกันว่า “ถูกคุณไสย”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คุณ” เป็น “คุณ ๒” อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ –

“คุณ ๒ : (คำนาม) อาถรรพณ์ คือ พิธีทําร้ายต่ออมิตร โดยเสกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าในตัวหรือฝังรูปฝังรอย เรียกกันว่า กระทําคุณ, ผู้ถูกกระทำ เรียกว่า ถูกคุณ, คุณไสย ก็ว่า.”

พิจารณาความหมายของคำว่า “คุณ” ในภาษาไทยทั้ง 6 ข้อดังแสดงข้างต้น ไม่มีข้อไหนที่เข้ากันได้กับความหมายของคำว่า “คุณไสย” จึงไม่อาจบอกได้ว่า “คุณ ๒” เป็นภาษาอะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

คุณค่าของคน

: บางคนโลกรู้ตั้งแต่ยังเป็น

: บางคนโลกเห็นต่อเมื่อตาย

#บาลีวันละคำ (3,903)

18-02-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *