บาลีวันละคำ

กัสสโป (บาลีวันละคำ 4,159)

กัสสโป

ผู้รักษาเขต

…………..

ในกัปปัจจุบันอันเรียกว่าภัทรกัป มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์ คือ 

(1) กกุสันโธ = พระกกุสันธะ 

(2) โกนาคมโน = พระโกนาคมน์ 

(3) กัสสโป = พระกัสสป 

(4) โคตโม = พระโคดม 

(5) เมตเตยโย = พระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอารย์ หรือ พระศรีอริยเมตไตรย)

พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์นี้ คนไทยเรียกกันมาว่า “พระเจ้าห้าพระองค์”

…………..

กัสสโป” เขียนแบบบาลีเป็น “กสฺสโป” อ่านว่า กัด-สะ-โป รูปคำเดิมเป็น “กสฺสป” (กัด-สะ-ปะ) รากศัพท์มาจาก กสฺส (ที่นา, เขต) + ปา (ธาตุ = รักษา) + (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ปา (ปา >

: กสฺส + ปา = กสฺสปา > กสฺสป + = กสฺสป แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษาเขต” หรือ “ผู้รักษานา

หมายเหตุ: รากศัพท์ตามนัยแห่งคัมภีร์นิรุตติทีปนี

กสฺสป” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “กสฺสโป” เขียนเป็นคำบาลีแบบไทยเป็น “กัสสโป” อ่านว่า กัด-สะ-โป เขียนเป็นคำไทยเป็น “กัสสป” อ่านว่า กัด-สบ 

อภิปรายแทรก :

พระนาม “กัสสโป” นี้ ถ้าจะเรียกเป็นคำไทยว่า กัด-สะ-ปะ ก็เขียนเป็น “กัสสปะ” (มีสระ อะ ท้ายคำ) แต่ที่เขียนเป็น “กัสสป” (ไม่มีสระ อะ ท้ายคำ) เพราะประสงค์จะให้อ่านว่า กัด-สบ 

พระมหาเถระสำคัญองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาลที่เรามักออกนามกันว่า “พระมหากัสสปะ” (-กัส-สะ-ปะ) เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วท่านเป็นพระเถระที่มีอาวุโสสูงสุด และเป็นประธานในการประชุมสงฆ์ทำปฐมสังคายนา พระธรรมกถึกรุ่นเก่าของไทยเมื่อนำเรื่องทำปฐมสังคายนามาเทศน์ที่เรียกกันว่า “เทศน์แจง” (มักจะมี 3 ธรรมาสน์ สมมุติเป็นพระมหากัสสปะธรรมาสน์หนึ่ง พระอุบาลีธรรมาสน์หนึ่ง พระอานนท์ธรรมาสน์หนึ่ง) นิยมใช้โวหารเรียกขานนามท่านว่า “พระอริยกัสสปสังฆวุฒาจารย์” (-อะริ-ยะ-กัด-สบ-สัง-คะ-วุด-ทา-จาน) “สังฆวุฒาจารย์” แปลว่า อาจารย์ผู้มีอาวุโสสูงในหมู่สงฆ์

แสดงว่า นามบาลีว่า “กสฺสป” นี้ คนเก่านิยมเรียกว่า กัด-สบ ไม่ใช่ กัด-สะ-ปะ อย่างเราเรียกกันเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น จึงเขียนคำไทยเป็น “กัสสป” (ไม่มีสระ อะ ท้ายคำ) ด้วยประสงค์จะให้อ่านว่า กัด-สบ นั่นเอง

ขยายความ :

กัสสโป” หรือ “พระกัสสป” เป็นนามพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในภัทรกัปนี้เป็นองค์ที่ 3 (ถ้านับพระพุทธเจ้าทั้งหมดในกัปต่างๆ เริ่มตั้งแต่พระทีปังกรเป็นต้นมา พระกัสสปนับเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 24)

สรุปสาระสำคัญในประวัติของพระกัสสป เป็นดังนี้ 

…………..

เมือง = พาราณสี (กษัตริย์พระนามว่า กิกี)

พุทธบิดา = พรหมทัตตพราหมณ์

พุทธมารดา = ธนวดีพราหมณี

ครองเรือน = สองพันปี

ปราสาท 3 ฤดู = หังสะ ยสะ สิริจันทะ

สนมนารี = สี่หมื่นแปดพันนาง

มเหสี = สุนันทาพราหมณี

พระโอรส = วิชิตเสน

พาหนะในวันออกบวช = ออกบวชพร้อมด้วยปราสาท

บำเพ็ญเพียรก่อนตรัสรู้ = นาน 7 วัน

สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา = มฤคทายวัน

อัครสาวก = พระติสสเถระ และพระภารทวาชเถระ

พุทธอุปัฏฐาก = พระสัพพมิตตเถระ

อัครสาวิกา = พระอนุลาเถรี และพระอุรุเวลาเถรี

อัครอุปัฏฐาก = สุมังคลอุบาสก และฆฏิการอุบาสก

อัครอุปัฏฐายิกา= วิชิตเสนาอุบาสิกา และภัททาอุบาสิกา

ต้นไม้ตรัสรู้ = นิโครธ (ไทร)

พระรัศมีจากพระวรกาย = “เปล่งปลั่งดังสายฟ้าในอากาศ” และ “ดุจ

พระจันทร์เต็มดวง”

พระชนมายุ = สองหมื่นปี

พระองค์สูง = 20 ศอก

ประชุมสาวก = 1 ครั้ง จำนวนสาวก สองหมื่น

แสดงธรรมครั้งสำคัญ = 3 ครั้ง

     ครั้งที่ 1 จำนวนผู้บรรลุธรรม สองหมื่นโกฏิ

     ครั้งที่ 2 จำนวนผู้บรรลุธรรม หมื่นโกฏิ

     ครั้งที่ 3 จำนวนผู้บรรลุธรรม ห้าพันโกฏิ

สถานที่ปรินิพพาน = เสตัพยาราม

พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ = สูงหนึ่งโยชน์

พระโพธิสัตว์ (คือพระโคดม) เสวยพระชาติเป็น = โชติปาลมาณพ สหายของฆฏิการอุบาสกอัครอุปัฏฐาก

ที่มา:

พุทธวงศ์ พระไตรปิฎกเล่ม 33 ข้อ 25

มธุรัตถวิลาสินี (อรรถกถาพุทธวงศ์) หน้า 473-485

…………..

แถม :

สัญลักษณ์สัตว์ประจำพระองค์พระกัสสป ตามคติของคนไทยมักเข้าใจกันว่าเป็น พญาเต่า ดังปรากฏในภาพพระเจ้าห้าพระองค์ที่เผยแพร่กันทั่วไป

เข้าใจว่า อาจเป็นเพราะพระนาม “กัสสโป” หรือ “พระกัสสป” รูปคำพ้องกับคำว่า “กสฺสป” ในภาษาบาลีซึ่งแปลว่า เต่า คนทั้งหลายจึงเข้าใจว่า พระนาม “กัสสโป” เป็นคำเดียวกับ “กสฺสป” ที่แปลว่า เต่า เต่าจึงถูกนำมาใช้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำพระองค์พระกัสสป 

โปรดทราบว่า คำว่า “กสฺสโป >กัสสโป > พระกัสสป” ในพระนามนี้ หมายถึง “ผู้รักษาเขต” หรือ “ผู้รักษานา” รากศัพท์มีความเป็นมาดังแสดงข้างต้น

ไม่เกี่ยวกับ “เต่า” หรือ “พญาเต่า” ใดๆ เลย

หมายเหตุ : 

สัตว์สัญลักษณ์ประจำพระเจ้าห้าพระองค์ดังที่ปรากฏนั้น ท่านผู้ใดมีหลักฐานว่ามีที่ไปที่มาเป็นประการใด ขอความกรุณานำมาเสนอเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ทั้งจะได้แก้ไขความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำให้ถูกต้องต่อไปด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระพุทธเจ้า อาจมาจากคนเฝ้านา

เพราะฉะนั้น –

: อย่าด่วนตีราคาว่าเกิดมาเป็นใคร

#บาลีวันละคำ (4,159)

1-11-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *