บาลีวันละคำ

กวีนิพนธ์ (บาลีวันละคำ 4,167)

กวีนิพนธ์

ผลงานของกวี

อ่านว่า กะ-วี-นิ-พน

ประกอบด้วยคำว่า กวี + นิพนธ์

(๑) “กวี

อ่านว่า กะ-วี รูปคำเดิมในบาลีเป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) รากศัพท์มาจาก กุ (ธาตุ = สรรเสริญ; ผูกถ้อยคำ, ประพันธ์; กล่าว, ส่งเสียง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (กุ > โก > กว)

: กุ > โก > กว + อิ = กวิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สรรเสริญ” (คือแต่งบทสรรเสริญเทพเจ้า) (2) “ผู้ผูกทั่ว” (คือเอาถ้อยคำมาผูกเข้าเป็นบทกลอน) (3) “ผู้กล่าวถ้อยคำที่น่ารักเป็นปกติ” “ผู้กล่าวถ้อยคำดื่มด่ำ” หมายถึง กวี (a poet) 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรูปศัพท์คำนี้ไว้ 2 รูป คือมีทั้งที่เป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) และ “กวี” (-วี สระ อี) 

ที่ได้รูปเป็น “กวี” (-วี สระ อี) เพราะลง อี ปัจจัย หรือ ณี ปัจจัยแล้วลบ > อี 

: กุ > โก > กว + อี = กวี

: กุ > โก > กว + ณี > อี = กวี

ในคัมภีร์ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา พบรูปคำที่เป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) ทั้งนั้น

กวิ” (-วิ สระ อิ) เป็น อิ-การันต์ในปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ คงรูปเป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) หมายถึง “กวีคนเดียว” ถ้าเป็นพหุวจนะ จึงจะเป็น “กวี” (-วี สระ อี) แปลว่า “กวีทั้งหลาย” หมายถึง “กวีหลายคน” ยังไม่พบรูปคำที่เป็น “กวี” (-วี สระ อี) และหมายถึง “กวีคนเดียว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็เก็บคำนี้ไว้รูปเดียว คือสะกดเป็นอักษรโรมันว่า Kavi อ่านว่า กะ-วิ (-วิ สระ อิ) ถ้าจะให้อ่านว่า กะ-วี (-วี สระ อี) ตัว i จะต้องมีขีดขวางข้างบน ไม่ใช่จุดบนตามปกติ > ī คือเขียนเป็น Kavī (โปรดสังเกต Kavi [กวิ] กับ Kavī [กวี] อักษรโรมันต่างกัน)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กวิ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กวิ : (คำวิเศษณ์) คงแก่เรียน, มีปัญญาปราชญ์, ฉลาดเฉลียว; learned, wise; – (คำนาม) ผู้ประพันธ์กาพย์กลอน; ดวงอาทิตย์; พระศุกร์, ศาสตฤประจำดาวพระศุกร์, และอาจารย์ของเวตาล; นามของวาลมีกิ, ผู้รจนาเรื่องรามเกียรติ, ผู้กาพยนิรมาตฤ; นามพระพรหม; ‘กวิกา,’ เครื่องบังคับปากม้า, สายบังเหียนม้า; a poet; the sun; Śukra, the regent of the planet Venus, and preceptor of the domons; name of Valmiki, the author of Rāmāyana, the inventor of poetry; name of Brahmā; the bit of a bridle, the reins.”

คำนี้เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “กวี” (-วี สระ อี) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กวี : (คำนาม) ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน จำแนกเป็น ๔ คือ ๑. จินตกวี แต่งโดยความนึกคิด ๒. สุตกวี แต่งโดยได้ฟังมา ๓. อรรถกวี แต่งตามความเป็นจริง ๔. ปฏิภาณกวี แต่งโดยฉับพลันทันที. (ป.).”

(๒) “นิพนธ์

อ่านว่า นิ-พน เขียนแบบบาลีเป็น “นิพนฺธ” อ่านว่า นิ-พัน-ทะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + (อะ) ปัจจัย

: นิ + พนฺธฺ = นิพนฺธฺ + = นิพนฺธ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การผูกเข้าไว้” หมายถึง การผูก, เครื่องผูก; ความผูกพัน, การดำเนินไปเรื่อย ๆ, ความต่อเนื่องกันไป (binding, bond; attachment, continuance, continuity)

บาลี “นิพนฺธ” สันสกฤตก็เป็น “นิพนฺธ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

นิพนฺธ : (คำนาม) ‘นิพันธ์, นิพนธ์,’ ภาษย์, อรรถกถา, เชิงอรรถ, คำไขหรืออธิบายตามศาสตรวิธี; การผูก-มัด-รัด-พันธ์, การกักขัง; มโนโยคหรืออภินิเวศต่อ; การมอบสมบัติ, การยกโคหรือธนะให้เพื่ออุปการะ; วารษิกหรือเบี้ยบำนาญ; สถิรทรัพย์, อจลทรัพย์, ทรัพย์คงที่ (เคลื่อนที่หรือขึ้นลงไม่ได้); คีต, เพลง, การขับร้อง; a commentary, an explanation of technical rules; binding; confinement; intentness on or attachment to; a grant of property, an assignment of cattle or money for support; a corrody or pension; fixed property, property neither movable nor fluctuating; a song, singing.”

นิพนฺธ” (นิ-พัน-ทะ) ในภาษาไทยใช้เป็น “นิพนธ์” (นิ-พน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

นิพนธ์ : (คำนาม) เรื่องที่แต่งขึ้น, (ราชา) พระนิพนธ์, พระราชนิพนธ์. (คำกริยา) ร้อยกรองถ้อยคำ, แต่งหนังสือ, (ราชา) ทรงนิพนธ์, ทรงพระนิพนธ์, ทรงพระราชนิพนธ์. (ป., ส. นิพนฺธ).”

กวี + นิพนธ์ = กวีนิพนธ์ เป็นรูปคำสมาสแบบไทย อาจแปลจากหน้าไปหลังว่า “คำที่กวีแต่งขึ้น” (กวี > นิพนธ์) หรือแปลจากหลังมาหน้าว่า “คำที่แต่งขึ้นของกวี” (กวี < นิพนธ์)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กวีนิพนธ์ : (คำนาม) คำประพันธ์ที่กวีแต่งอาจเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรองก็ได้.”

ขยายความ :

(1) ร้อยแก้ว : (คำนาม) ความเรียงที่สละสลวยไพเราะเหมาะเจาะด้วยเสียงและความหมาย เช่น ปฐมสมโพธิกถา, งานเขียนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่ร้อยกรอง.

(2) ร้อยกรอง : (คำกริยา) สอดผูกให้ติดต่อกัน, ร้อย ถัก และเย็บงานประเภทประณีตศิลป์เช่นดอกไม้ให้เป็นรูปต่าง ๆ, เช่น ร้อยกรองข่ายคลุมไตร ร้อยกรองสไบ; ตรวจชำระให้ถูกต้อง, สังคายนา, ในคำว่า ร้อยกรองพระธรรมวินัย; แต่งหนังสือดีให้มีความไพเราะ, เรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบตามบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์. (คำนาม) คำประพันธ์, ถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์.

…………..

ดูก่อนภราดา!

นานาประเทศล้วน..นับถือ

คนที่รู้หนังสือ………..แต่งได้

ใครเกลียดอักษรคือ…คนป่า

ใครเยาะกวีไซร้………แน่แท้คนดง๚ะ๛

                            (พระนลคำหลวง)

#บาลีวันละคำ (4,167)

9-11-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *