ธรรมกถึกย่านไทร (บาลีวันละคำ 4,168)
ธรรมกถึกย่านไทร
เทศน์ไป ๆ กลับไม่ถูก
อ่านว่า ทำ-มะ-กะ-ถึก-ย่าน-ไซ
“ธรรมกถึกย่านไทร” เป็นคำไทยที่แปลมาจากคำบาลีว่า “นิโคฺรธธมฺมกถิก” อ่านว่า นิก-คฺโร-ทะ-ทำ-มะ-กะ-ถิ-กะ
ประกอบด้วยคำว่า นิโคฺรธ + ธมฺมกถิก
(๑) “นิโคฺรธ”
อ่านว่า นิก-คฺโร-ทะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + รุธฺ (ธาตุ = ปิดกั้น) + อ (อะ) ปัจจัย, ลง คฺ อาคม ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (นิ + คฺ + รุธฺ), แปลง อุ ที่ รุ-(ธฺ) เป็น โอ (รุธฺ > โรธฺ)
: นิ + คฺ + รุธฺ = นิคฺรุธฺ + อ = นิคฺรุธ > นิคฺโรธ (ปริวรรต โอ ไว้หน้า คฺ) > นิโคฺรธ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่ปกคลุมลงมา” หมายถึง ต้นไทร, ต้นนิโครธ (the banyan or Indian fig-tree, Ficus Indica)
บาลี “นิโคฺรธ” เขียนในภาษาไทยเป็น “นิโครธ” อ่านว่า นิ-โคฺรด แปลว่า ต้นไทร
คำว่า “ไทร” อ่านว่า ไซ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ไทร : (คำนาม) ชื่อไม้ต้นในสกุล Ficus วงศ์ Moraceae มีหลายชนิด เช่น ไทรย้อย หรือไทรย้อยใบแหลม (F. benjamina L.) ไทรย้อยใบทู่ หรือ ไฮฮี (F. microcarpa L.f.).”
(๒) “ธมฺมกถิก”
อ่านว่า ทำ-มะ-กะ-ถิ-กะ ประกอบด้วย ธมฺมกถา + ณิก ปัจจัย
(ก) “ธมฺมกถา” อ่านว่า ทำ-มะ-กะ-ถา มาจาก ธมฺม + กถา
(1) “ธมฺม” รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ธมฺม > ธรรม มีความหมายหลายหลาก แต่ในที่นี้หมายเฉพาะคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
(2) “กถา” รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กถฺ + อ = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “อัน-กล่าวไว้” หมายถึง –
(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)
(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)
ธมฺม + กถา = ธมฺมกถา แปลว่า การกล่าวธรรม, การแสดงธรรม, การแสดงคำสอนของพระพุทธเจ้า
(ข) ธมฺมกถา + ณิก ปัจจัย, ลบ ณ (ณิก > อิก), “ลบสระหน้า” (คือ อา ที่ –กถา ซึ่งอยู่หน้า ณิก) : ธมฺมกถา > ธมฺมกถ
: ธมฺมกถา > ธมฺมกถ + ณิก > อิก : ธมฺมกถ + อิก = ธมฺมกถิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยถ้อยคำในธรรม” “ผู้กล่าวถ้อยคำคือธรรม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมกถิก” ว่า one who converses about ethical problems, one who recites or preaches the Dhamma, one who speaks fitly or properly, one who preach the Word of the Buddha (ผู้สนทนาเกี่ยวกับปัญหาธรรม, ผู้สาธยายหรือสอนธรรม, ผู้พูดในสิ่งที่เหมาะสมและถูกต้อง, ผู้กล่าวสอนธรรมะของพระพุทธเจ้า)
ธมฺมกถิก ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมกถึก” คือแผลง –อิก เป็น –อึก
คำทำนองเดียวกันนี้ก็อย่างเช่น –
อธิก > อธึก
โชติก > โชดึก
สิกขา > ศึกษา
และ ธมฺมกถิก > ธรรมกถึก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธรรมกถึก : (คำนาม) เรียกพระที่เป็นนักเทศน์ผู้แสดงธรรมว่า พระธรรมกถึก. (ป. ธมฺมกถิก).”
นิโคฺรธ + ธมฺมกถิก = นิโคฺรธธมฺมกถิก (นิก-คฺโร-ทะ-ทำ-มะ-กะ-ถิ-กะ) แปลว่า “ผู้กล่าวธรรมเพียงดังต้นไทร” แปลเป็นไทยอีกชั้นหนึ่งว่า “ธรรมกถึกย่านไทร”
ขยายความ :
คำว่า “ย่าน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ย่าน ๒ : (คำนาม) เครือเถา เช่น ย่านวันยอ ย่านลิเภา, เรียกรากไทรที่ห้อยย้อยลงมาว่า ย่านไทร.”
“ย่านไทร” หมายถึง กิ่งไทรที่แตกออกจากต้น มีย่านย้อยลงดิน ย่านไทรนั้นเกิดเป็นต้นไทรต่อไปอีก แล้วมีกิ่งแตกจากต้นและเกิดย่านย้อยต่อ ๆ ไปอีก ห่างจากต้นเดิมออกไปทุกที นี่คือลักษณะของ “ย่านไทร”
นักเทศน์ที่ตั้งหัวข้อธรรมไว้อย่างหนึ่ง แล้วอธิบายขยายความไปยังเรื่องอื่น จากเรื่องอื่นก็ขยายต่อไปยังเรื่องอื่น ๆ อีก จนกระทั่งกลับมาที่เรื่องเดิมไม่ถูก ไม่รู้ว่าเรื่องเดิมตั้งหัวข้อไว้อย่างไร เป็นลักษณะการแสดงธรรมที่ไม่เหมาะอย่างหนึ่ง ผู้ที่แสดงธรรมในลักษณะอย่างนี้ คำบาลีเรียกว่า “นิโคฺรธธมฺมกถิก” นักเรียนบาลีแปลกันมาว่า “ธรรมกถึกย่านไทร”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต นำหลักที่เรียกว่า “องค์แห่งธรรมกถึก” คือหลักที่ถูกต้องของการแสดงธรรมมาแสดงไว้ว่า –
1. อนุปุพฺพิกถํ (กล่าวความไปตามลำดับ คือ แสดงหลักธรรมหรือเนื้อหาวิชาตามลำดับความง่ายยากลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ : His instruction or exposition is regulated and gradually advanced.)
2. ปริยายทสฺสาวี (ชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดในแต่ละแง่แต่ละประเด็น โดยอธิบายขยายความ ยักเยื้องไปต่างๆ ตามแนวเหตุผล : It has reasoning or refers to causality.)
3. อนุทยตํ ปฏิจฺจ (แสดงธรรมด้วยอาศัยเมตตา คือ สอนเขาด้วยจิตเมตตา มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่เขา : It is inspired by kindness; teaching out of kindliness.)
4. น อามิสนฺตโร (ไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่อามิส คือ สอนเขามิใช่เพราะมุ่งที่ตนจะได้ลาภหรือผลประโยชน์ตอบแทน : It is not for worldly gain.)
5. อตฺตานญฺจ ปรญฺจ อนุปหจฺจ (แสดงธรรมไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหา มุ่งแสดงอรรถ แสดงธรรม ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น : It does not hurt oneself or others; not exalting oneself while contempting others.)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มากเกินไปก็ไม่ดี
: แต่ความดีควรทำให้มาก
#บาลีวันละคำ (4,168)
10-11-66
…………………………….
…………………………….