บาลีวันละคำ

ทานศีล (บาลีวันละคำ 4,173)

ทานศีล

คำที่คนเก่าเข้าใจ

แต่คนใหม่ไม่รับรู้

อ่านว่า ทา-นะ-สีน

ประกอบด้วยคำว่า ทาน + ศีล

(๑) “ทาน” 

บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” มีความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป.”

(๒) “ศีล” 

บาลีเป็น “สีล” อ่านว่า สี-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) สีลฺ (ธาตุ = สงบ, ทรงไว้) + (อะ) ปัจจัย

: สีลฺ + = สีล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย” 

(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ สิ เป็น อี (สิ > สี)

: สิ + = สิล > สีล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกจิตไว้

นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย

สีล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง :

(1) ข้อปฏิบัติทางศีลธรรม, นิสัยที่ดี, จริยธรรมในพุทธศาสนา, หลักศีลธรรม (moral practice, good character, Buddhist ethics, code of morality)

(2) ธรรมชาติ, นิสัย, ความเคยชิน, ความประพฤติ (nature, character, habit, behavior)

บาลี “สีล” ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “ศีล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ศีล : (คำนาม) ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กําหนดการปฏิบัติกายและวาจา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘, การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม; (ดู ทศพิธราชธรรม); พิธีกรรมบางอย่างทางศาสนา เช่น ศีลจุ่ม ศีลมหาสนิท. (ส. ศีล ว่า ความประพฤติที่ดี; ป. สีล).”

ทาน + ศีล = ทานศีล อ่านว่า ทา-นะ-สีน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “ทานศีล” ไว้ บอกไว้ว่า – 

ทานศีล [ทานะสีน]: (คำวิเศษณ์) มีการให้เป็นปรกติ. (ส.; ป. ทานสีล).”

อภิปรายขยายความ :

การให้” แปลจากคำว่า “ทาน

เป็นปรกติ” แปลจากคำว่า “ศีล

ความหมายหนึ่งของคำว่า “สีล” คือ “ความเคยชิน” (habit) (ดูข้างต้น) การทำสิ่งใด ๆ อยู่เป็นปกตินั่นเองคือ “ความเคยชิน” ความหมายเช่นนี้ถ้าพูดตามสำนวน “รูปวิเคราะห์” (การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ก็พูดว่า “การให้เป็นปกติของผู้นั้น เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อ ‘ทานศีล’ = ผู้มีการให้เป็นปกติ” 

ศีล” ที่ใช้ในความหมายนี้ รูปคำบาลีจะเป็น “สีลี” คือ สีล + อี ปัจจัย = สีลี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี–เป็นปกติ” หมายถึง ผู้ทำเช่นนั้นเช่นนี้เป็นปกติ, ผู้มักทำหรือชอบทำเช่นนั้นหรือมีอุปนิสัยแบบนั้น (having a disposition or character) เช่น

นิทฺทาสีลี (นิด-ทา-สี-ลี) = ชอบหลับเป็นนิสัย หรือขี้เซา (drowsy)

สภาสีลี (สะ-พา-สี-ลี) = ชอบสมาคม (fond of society)

อภิวาทนสีลี = ผู้มีการกราบไหว้เป็นปกติ หมายถึง มีปกติไหว้กราบ, มีอุปนิสัยซื่อตรงจงรัก, มีอุปนิสัยเคารพนับถือผู้อื่น (of devout character)

เวลาพระสงฆ์สวดอนุโมทนา เราจะได้ยินข้อความตอนหนึ่งว่า 

อภิวาทนสีลิสฺส

นิจฺจํ  วุฑฺฒาปจายิโน

จตฺตาโร  ธมฺมา  วฑฺฒนฺติ

อายุ  วณฺโณ  สุขํ  พลํ.

ธรรม 4 ประการ 

คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ

มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์

อภิวาทนสีลิสฺส” ก็คือ “อภิวาทนสีลี” นั่นเอง แจกด้วยวิภัตตินามที่ 4 (จตุตถีวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “อภิวาทนสีลิสฺส” แปลว่า (ธรรม 4 ประการย่อมเจริญ) “แก่ผู้มีการไหว้กราบเป็นปกติ

: ทานสีลี = ผู้มีการให้เป็นปกติ 

ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทานศีล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “ทานศีล” ไว้ แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ตัดคำนี้ออกไป

กรณีที่คำอะไรไม่มีในพจนานุกรมฯ ปกติเราจะพูดว่า “คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ” 

แต่เฉพาะคำว่า “ทานศีล” ควรพูดว่า “คำนี้ถูกตัดออกไปจากพจนานุกรมฯ” เนื่องจากพจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2542 เคยเก็บไว้ แต่ต่อมา จะด้วยเหตุผลอันใดไม่แจ้ง เมื่อชำระและพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นพจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2554 คำนี้ไม่ปรากฏในพจนานุกรมฯ ก็คือถูกตัดออกนั่นเอง

ผู้เขียนบาลีวันละคำสันนิษฐานว่า กรรมการผู้ชำระพจนานุกรมฯ คงเห็นว่า คำว่า “ทานศีล” นี้ ชวนให้เข้าใจว่าหมายถึง “ทานและศีล” มากกว่าที่จะเข้าใจว่า “มีการให้เป็นปรกติ” เพื่อตัดปัญหาที่จะมีผู้เข้าใจผิด จึงตัดคำนี้ออกไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พัฒนาความรู้ให้ขึ้นไปหามาตรฐาน

: ดีกว่าลดมาตรฐานลงมาหาความรู้

#บาลีวันละคำ (4,173)

15-11-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *