จีวรุปฺปาโท (บาลีวันละคำ 4,172)
จีวรุปฺปาโท
อานิสงส์กฐินที่ไม่มีใครนึกถึง
…………..
ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ (คือข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระวินัย) 5 ประการ (เหมือนอานิสงส์การจำพรรษา) คือ
(1) จาริกไปไม่ต้องบอกลา
(2) จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ
(3) ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
(4) เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา
(5) จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ
อานิสงส์กฐินทั้ง 5 ข้อนี้ควรแก่การศึกษาให้เข้าใจ
คำหนึ่งที่น่ารู้คือ “จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ” หมายความว่าอย่างไร?
“จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ” แปลมาจากคำบาลีว่า –
“โย จ ตตฺถ จีวรุปฺปาโท โส เนสํ ภวิสฺสติ”
(โย จะ ตัตถะ จีวะรุปปาโท โส เนสัง ภะวิสสะติ)
แปลยกศัพท์ (แปลโดยพยัญชนะ) ดังนี้ –
…………..
จ = อีกประการหนึ่ง
จีวรุปฺปาโท = อันว่าการเกิดขึ้นแห่งจีวร (อันว่าจีวรที่เกิดขึ้น)
ตตฺถ = ในที่นั้น
โย = ใด
โส (จีวรุปฺปาโท) = อันว่าการเกิดขึ้นแห่งจีวรนั้น (อันว่าจีวรที่เกิดขึ้นนั้น)
ภวิสฺสติ = จักมี
เนสํ (ภิกฺขูนํ) = แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น
…………..
แปลโดยอรรถหรือแปลเอาความว่า –
“จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ”
…………..
คำบาลีที่เป็นหลัก คือ “จีวรุปฺปาโท” อ่านว่า จี-วะ-รุบ-ปา-โท แยกศัพท์เป็น“จีวร + อุปฺปาโท
(๑) “จีวร”
บาลีอ่านว่า จี-วะ-ระ รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + อีวร ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ จิ (จิ > จ)
: จิ > จ + อีวร = จีวร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าอันท่านก่อขึ้นจากท่อนผ้า” หมายความว่า “ผ้าที่เย็บต่อกันเป็นชิ้นๆ”
จีวรพระจึงไม่ใช่เนื้อเดียวกันทั้งผืน แต่เป็นผ้าที่เป็นชิ้นๆ เอามาเย็บต่อกันเป็นผืน
ภาษาบาลี “จีวร” หมายถึงผ้าทุกผืนที่พระใช้นุ่งห่ม (the yellow robe of a Buddhist monk or novice) แต่เรียกแยกออกไปแต่ละชนิด กล่าวคือ –
(1) ผ้านุ่ง เรียก “อันตรวาสก” (อัน-ตะ-ระ-วา-สก) คือที่เราเรียกกันว่า “สบง”
(2) ผ้าห่ม เรียก “อุตตราสงค์” (อุด-ตะ-รา-สง) นี่คือที่เราเรียกกันว่า “จีวร”
(3) ผ้าห่มซ้อน (ผ้าห่มผืนที่สอง) เรียกว่า “สังฆาฏิ” (สัง-คา-ติ)
รวมผ้าทั้ง 3 ผืนเข้าด้วยกันเรียกว่า “ไตรจีวร”
(๒) “อุปฺปาโท”
รูปคำเดิมเป็น “อุปฺปาท” อ่านว่า อุบ-ปา-ทะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ซ้อน ปฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ปฺ + ปทฺ), ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ปทฺ > ปาท)
: อุ + ปฺ + ปทฺ = อุปฺปทฺ + ณ = อุปฺปทณ > อุปฺปท > อุปฺปาท แปลตามศัพท์ว่า “การขึ้นไป” หมายถึง การอุบัติ, การปรากฏขึ้น, การเกิด (coming into existence, appearance, birth)
“อุปฺปาท” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุบาท” (อุ-บาด) และ “อุปบาท” (อุบ-บาด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุบาท, อุปบาท : (คำนาม) การบังเกิด, กําเนิด, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น พุทธุบาท (พุทธ + อุบาท), พุทธุปบาท (พุทธ + อุปบาท). (ป. อุปฺปาท; ส. อุตฺปาท).”
จีวร + อุปฺปาท = จีวรุปฺปาท (จี-วะ-รุบ-ปา-ทะ) แปลว่า (1) “การเกิดขึ้นของจีวร” (2) “จีวรที่เกิดขึ้น”
“จีวรุปฺปาท” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “จีวรุปฺปาโท”
ขยายความ :
หนังสือ วินัยมุขเล่ม 3 พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อธิบายอานิสงส์ข้อนี้ไว้ ขอยกข้อความตามต้นฉบับมาให้ดูเพื่อศึกษาสำนวนเก่า ดังนี้ –
…………..
ภิกษุผู้อยู่ในสงฆ์ย่อมมีสิทธิในอันจะได้รับลาภอันสงฆ์แจกเสมอหน้ากัน ถ้าไม่ได้อานิสงส์กฐิน มีจีวรเกิดขึ้น จำจะแจกทั่วถึงแก่ภิกษุอาคันตุกะผู้มาอยู่เมื่ออกพรรษาแล้ว ของน้อยไม่พอแจก จะต้องแจกตามลำดับ อาคันตุกะผู้แก่พรรษากว่าอาจได้ก่อนพวกเจ้าอาวาส เมื่อมีพระพุทธานุญาตอานิสงส์กฐินประการนี้ เป็นอันจำกัดจีวรลาภให้ได้เป็นพิเศษแก่พวกเจ้าอาวาสผู้ได้กรานกฐิน ถ้าของน้อยไม่ทั่วกัน เจ้าอาวาสจะได้รับแจก ถ้าของมากพอกัน อาคันตุกะจะพลอยได้ด้วยก็เพราะความเผื่อแผ่ของเจ้าอาวาสผู้อปโลกน์กันให้ ไม่ได้ด้วยอำนาจสิทธิ. ส่วนของอื่นเป็นต้นว่าอาหาร ไม่ได้จำกัดไว้ อาคันตุกะควรได้รับแจกด้วย. ทรงพระอนุญาตอานิสงส์นี้ไม่ใช่เพื่อหวงลาภ เพื่อประทานอำนาจแก่เจ้าอาวาส ควรปฏิบัติให้ถูกพระพุทธาธิบาย ใช้อำนาจนั้นเป็นเครื่องผูกไมตรีกับอาคันตุกะ.
ที่มา: วินัยมุขเล่ม 3 หน้า 82
…………..
หมายเหตุ: มีคำหนึ่งที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง คือคำว่า “เจ้าอาวาส” คำนี้ไม่ได้หมายถึง “สมภาร” หรือตำแหน่ง “เจ้าอาวาส” (the abbot) ดังที่เข้าใจกันในบัดนี้ แต่หมายถึง ภิกษุเจ้าถิ่น คือพระที่อยู่ประจำในวัดนั้น ๆ คำบาลีว่า “อาวาสิก” ท่านแปลตรงตัวว่า “เจ้าอาวาส” เทียบกับ “อาคันตุกะ” ก็คือ “เจ้าของบ้าน” นั่นเอง
…………..
ตามหลักพระวินัย เมื่อมีผู้ถวายปัจจัยสี่แด่สงฆ์ในวัดใด ๆ ต้องแจกสิ่งของนั้นตามลำดับอาวุโส ถ้าประจวบกับมีพระอาคันตุกะมาถึงวัดนั้นในเวลานั้น พระอาคันตุกะย่อมมีสิทธิ์ได้รับแจกด้วย ถ้าพระอาคันตุกะมีพรรษามากกว่า ย่อมได้รับแจกก่อน ถ้าของมีน้อย พระที่อยู่ประจำวัดนั้น ๆ อาจไม่ได้รับ นี่คือหลักทั่วไป
แต่ถ้าภิกษุในวัดนั้นได้กรานกฐิน (ที่เราเรียกกันว่าได้รับกฐิน) จะได้รับสิทธิพิเศษ คือ ได้รับแจกสิ่งของก่อนพระอาคันตุกะ อานิสงส์ข้อนี้จึงเป็นหลักประกันว่า อย่างไรเสียพระประจำวัดก็มีโอกาสได้รับก่อน ถ้าของมีพอดี ๆ พระประจำวัดย่อมได้รับแจกครบ ถ้าของมีมากพอจึงจะไปถึงพระอาคันตุกะ
คำว่า “จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ” มีความหมายดังแสดงมานี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
ถ้าเป็นห่วงกันและกัน
ก็เชื่อมั่นว่าจะไม่มีใครอด
: เมื่อเป็นเจ้าของบ้าน
อย่าลืมเป็นห่วงว่าแขกจะอด
: เมื่อเป็นแขก
ก็อย่าลืมเป็นห่วงว่าเจ้าของบ้านจะอด
#บาลีวันละคำ (4,172)
14-11-66
…………………………….
…………………………….