มุทิตา กับ สักการะ (บาลีวันละคำ 932)
มุทิตา กับ สักการะ
ในโอกาสที่พระสงฆ์ได้รับแต่งตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์ก็ดี ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางคณะสงฆ์ก็ดี เรามักจะได้ยินคำว่า “มุทิตาสักการะ” เช่นในคำว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้ไปถวายมุทิตาสักการะพระเถระรูปนั้นรูปนี้
มุทิตาสักการะ มีความหมายว่าอย่างไร ?
(๑) มุทิตา
มุทิตา บาลีเขียน “มุทิตา” (มุ-ทิ-ตา) เหมือนกัน มีความหมาย 2 นัย คือ –
(1) มาจาก มุทฺ (มุ-ทะ, ธาตุ = ยินดี, เบิกบาน) + อิ + ต ปัจจัย = มุทิต > มุทิตา หมายถึง ชื่นชม, ยินดี, พอใจ (pleased, glad, satisfied)
มุทิตา ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีใจชื่นชม, มีใจปราโมทย์, ดีใจ (with gladdened heart, pleased in mind)
(2) มาจาก มุทุ (อ่อนโยน) + ตา ปัจจัย = มุทุตา > มุทิตา หมายถึง ความมีใจอ่อน, ความกรุณา, ความเห็นอกเห็นใจ (soft-heartedness, kindliness, sympathy)
ความหมายตามนัยนี้ ในทางปฏิบัติก็คือ ใครจะสุขหรือจะทุกข์ ก็รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ถ้าสุขก็พลอยยินดี ถ้าทุกข์ก็พลอยเดือดร้อนใจไปด้วย
(๒) สักการะ
บาลีเขียน “สกฺการ” (สัก-กา-ระ) รากศัพท์มาจาก ส (> สกฺกจฺจํ = เคารพ) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ซ้อน ก, ยืดเสียง อ ที่ ก– เป็น อา
: ส + ก + กรฺ = สกฺกร + ณ = สกฺกร > สกฺการ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ทำด้วยความเคารพ” ใช้ในความหมายว่า การต้อนรับ, การให้เกียรติ, การเคารพสักการะ (hospitality, honour, worship)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) มุทิตา : (คำนาม) ความมีจิตพลอยยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น เป็นข้อ ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป.).
(2) สักการ-, สักการะ : (คำกริยา) บูชาด้วยสิ่งหรือเครื่องอันพึงบูชา เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ บูชา เป็น สักการบูชา. (ป.; ส. สตฺการ).
……
คำที่พูดว่า “ไปถวายมุทิตาสักการะ” ความหมายตามภาษาธรรมดาก็คือ ไปแสดงความยินดี นั่นเอง
ในการไปแสดงความยินดีแก่พระสงฆ์ในโอกาสดังกล่าวข้างต้นนั้น มีผู้วางหลักในการใช้คำว่า “มุทิตา” กับ “สักการะ” ไว้ดังนี้ –
(1) “มุทิตา” ใช้กับกรณีที่ผู้ไปแสดงความยินดีมีอาวุโสกว่าคือเป็นผู้ใหญ่กว่าผู้รับการแสดงความยินดี (สอดคล้องกับมุทิตาในพรหมวิหารธรรมซึ่งนิยมว่าเป็นหลักธรรมที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติต่อผู้น้อย)
(2) “สักการะ” ใช้กับกรณีที่ผู้รับการแสดงความยินดีมีอาวุโสกว่าผู้ไปแสดงความยินดี
สรุปว่า:
– ผู้ใหญ่แสดงมุทิตาต่อผู้น้อยได้ แต่จะเรียกว่า “สักการะ” ไม่ได้
– ผู้น้อยสักการะผู้ใหญ่ได้ แต่จะเรียกว่า “แสดงมุทิตา” ไม่เหมาะ
หลักการนี้ท่านผู้ใดจะกำหนดมาตั้งแต่เมื่อไรก็ตาม นับว่าเป็นหลักที่มีเหตุผลควรแก่การพิจารณา
มุทิตาสักการะที่มีศักดิ์ศรี :
ไม่ใช่ทำตามหน้าที่ แต่ออกมาจากหัวใจ
—————
(เนื่องมาจากข้อมูลและคำถามของ ThanBall Krobmook)
#บาลีวันละคำ (932)
6-12-57