บาลีวันละคำ

นะโม ตัสสะ (บาลีวันละคำ 4,175)

นะโม ตัสสะ

เข้าใจอรรถะกันแล้วหรือยัง

คำเต็มเขียนแบบบาลีว่า –

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

เขียนแบบไทยว่า –

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

แต่ละคำมีอธิบายดังนี้ –

(๑) “นะโม

เขียนแบบบาลีเป็น “นโม” อ่านว่า นะ-โม รูปคำเดิมเป็น “นม” อ่านว่า นะ-มะ รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = นอบน้อม) + (อะ) ปัจจัย

: นมฺ + = นม แปลว่า การนอบไหว้, ความนอบน้อม, ความเคารพ (homage, veneration)

หลักความรู้ทางไวยากรณ์ :

คำว่า “นโม” ในทางไวยากรณ์จัดว่าเป็นคำพิเศษ ตำราบางเล่ม (เช่น อภิธานปฺปทีปิกาฏีกา คาถาที่ 426 หน้า 298) บอกว่า เป็น อะ-การันต์ คือรูปคำเดิมเป็น “นม” (นะ-มะ) แจกด้วยวิภัตตินาม เปลี่ยนรูปเป็น “นโม” แต่ก็เป็น โอ-การันต์ด้วย คือรูปคำเดิมเป็น “นโม” อยู่แล้ว จะแจกด้วยวิภัตติหรือไม่แจกก็เป็น “นโม” อยู่นั่นเอง 

รูปคำ “นโม” ปกติแปลกันว่า “อันว่าความนอบน้อม” แปลอย่างนี้บ่งว่า “นโม” เป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ 

แต่ในที่บางแห่ง (เช่น คัมภีร์มโนรถปูรณี [อรรถกถาอังคุตรนิกาย] ภาค 2 หน้า 158) มีคำว่า “นโม กเรยฺย” แปลว่า “พึงทำซึ่งความนอบน้อม” กรณีเช่นนี้“นโม” ใช้เป็นทุติยาวิภัตติ 

ที่ว่ามานี้เป็นหลักไวยากรณ์ ผู้ไม่มีพื้นมาก่อนฟังไว้พอเป็นแนว

(๒) “ตัสสะ

เขียนแบบบาลีเป็น “ตสฺส” อ่านว่า ตัด-สะ รูปคำเดิมเป็น “” อ่านว่า ตะ เรียกกันในหมู่นักเรียนบาลีว่า “ตะ-ศัพท์” แปลว่า “นั้น” (คนนั้น เรื่องนั้น สิ่งนั้น ฯลฯ)

” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ตสฺส” เป็นคำขยายคำว่า “ภควโต” พูดควบกันเป็น “ตสฺส ภควโต” แปลว่า (ขอความนอบน้อมจงมีแก่พระผู้มีพระภาค) พระองค์นั้น

(๓) “ภะคะวะโต” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ภควโต” อ่านว่า พะ-คะ-วะ-โต รูปคำเดิมเป็น “ภควนฺตุ” อ่านว่า พะ-คะ-วัน-ตุ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง ขอนำมาแสดงพอเป็นตัวอย่างทางหนึ่ง คือรากศัพท์มาจาก ภาค (ธรรมที่ควรจำแนกแก่เวไนยสัตว์) + วนฺ (ธาตุ = เสพ) + นฺตุ ปัจจัย ลบ อา ที่ ภาค (ภาค > ภค) และลบ นฺ ที่สุดธาตุ (วนฺ > )

: ภาค + วนฺ = ภาควนฺ + นฺตุ = ภาควนนฺตุ > ภควนฺนฺตุ > ภควนฺตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงเสพภาคธรรม” 

ภควา” แปลตามศัพท์ได้หลายนัย ดังนี้ –

(1) ภคฺคราโค ภคฺคโทโส ภคฺคโมโห ภคฺคมาโนติ ภควา = พระผู้ทรงทำลายราคะ โทสะ โมหะ มานะได้แล้ว

(2) ภาเค ทานสีลาทิปารมิธมฺเม ฌานวิโมกฺขาทิอุตฺตริมนุสฺสธมฺเม จ วนิ ภชิ เสวิ พหุลมกาสีติ ภควา = ผู้ทรงเสพภาคธรรม คือบารมีธรรมมีทานและศีลเป็นต้น และธรรมอันยิ่งของมนุษย์คือฌานและวิโมกข์เป็นต้น

(3) ภาเค วนิ อภิปตฺถยีติ ภควา = ผู้ทรงขวนขวายภาคธรรมแก่เวไนยสัตว์

(4) ภคสงฺขาตํ อิสฺสริยํ ยสญฺจ วมิ อุคฺคิริ เขฬปิณฺฑํ วิย อนเปกฺโข ฉฑฺฑยีติ ภควา = ผู้ทรงคายภคธรรมคืออิสริยะและยศได้แล้ว ทรงถ่มทิ้งไปดุจก้อนเขฬะ

(5) ทานสีลาทิปารปตฺตํ ภาคฺยมสฺส อตฺถีติ ภควา = ผู้ทรงมีโชค คือบรรลุความสำเร็จอันเกิดแต่บารมีคือทานและศีลเป็นต้น

(6) ปญฺจ มาเร อภญฺชีติ ภควา = ผู้ทรงทำลายมารทั้งห้าได้แล้ว

(7) ภคฺคสฺส ปาปกา ธมฺมาติ ภควา = ผู้ทรงทำลายบาปธรรมทั้งหลายได้แล้ว

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ภควนฺตุ” ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภควนฺตุ” ว่า fortunate, illustrious, sublime (มีโชค, มีชื่อเสียง, สูงส่ง) ขยายความไว้ว่า as Ep. and title “Lord” (ถ้าใช้เป็นคำแสดงคุณลักษณะและชื่อ ก็หมายถึง “ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่”) และบอกว่าในภาษาอังกฤษมักแปลกันว่า Blessed One, Exalted One

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้เป็น “ภควัต” “ภควันต์” “ภควา” “ภควาน” บอกไว้ว่า –

ภควัต, ภควันต์, ภควา, ภควาน : (คำนาม) นามพระเป็นเจ้า, นามพระพุทธเจ้า, พระผู้เป็นเจ้า, พระผู้มีพระภาค. (ป., ส.).”

ภควนฺตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ภควโต” แปลว่า (ขอความนอบน้อมจงมี)แก่พระผู้มีพระภาค

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 269 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “ภควา” ไว้ ดังนี้ –

…………..

ภคี ภชี ภาคี วิภตฺตวา อิติ  

อกาสิ ภคฺคนฺติ ครูติ ภาคฺยวา 

พหูหิ ญาเยหิ สุภาวิตตฺตโน 

ภวนฺตโค โส ภควาติ วุจฺจติ ฯ 

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น –

(1) ทรงเป็น “ภคี” = ผู้มีภคะคือโชค 

(2) ทรงเป็น “ภชี” = ผู้เสพที่สงัด 

(3) ทรงเป็น “ภาคี” = ผู้มีภาคะคือมีส่วนควรได้รับจตุปัจจัยหรือมีส่วนแห่งธรรม

(5) ทรงเป็น “วิภัตตวา” = ผู้จำแนกธรรม

(6) ได้ทรงทำ “ภัคคะ” = การหักกิเลสบาปธรรม 

(7) ทรงเป็น “ครุ” = เป็นครู 

(8 ) ทรงเป็น “ภาคยะ” = ผู้มีบุญบารมี

(9) ทรงเป็น “สุภาวิตัตตะ” = ผู้อบรมพระองค์ดีแล้วด้วยเญยธรรมเป็นอันมาก

(10) ทรงเป็น “ภวันตคะ” = ผู้ถึงที่สุดแห่งภพ (ไม่ต้องไปเกิดในภพภูมิไหนๆ อีก)

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ บัณฑิตจึงถวายพระนามว่า “ภควา” 

…………..

(๔) “อะระหะโต” 

เขียนแบบบาลีเป็น “อรหโต” อ่านว่า อะ-ระ-หะ-โต รูปคำเดิมเป็น “อรหนฺต” อ่านว่า อะ-ระ-หัน-ตะ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :

(1) อรห (ธาตุ = สมควร) + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

(2) ( = ไม่, ไม่ใช่) > + รห (ธาตุ = สละ, ทอดทิ้ง) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้อันคนดีไม่ควรทอดทิ้ง

(3) อริ ( = ข้าศึก) > อร + หนฺ (ธาตุ = กำจัด) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสได้แล้ว

(4) อร ( = ดุม กำ กง อันประกอบเข้าเป็นวงล้อ) + หนฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้หักซึ่งวงล้อแห่งสังสารวัฏได้แล้ว

(5) ( = ไม่ใช่, ไม่มี) > + รห ( = การไปมา) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีการไปมา” คือไม่ไปเกิดในภพภูมิไหนๆ อีก

(6) ( = ไม่ใช่, ไม่มี) > + รห ( = ความลับ, ที่ลับ, ความชั่ว) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีความลับ” (ไม่มีความไม่ดีไม่งามที่จะต้องปิดบังใครๆ) “ผู้ไม่มีที่ลับ” (สำหรับที่จะแอบไปทำความไม่ดีไม่งาม) “ผู้ไม่มีความชั่ว

อรหนฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อรหโต” แปลว่า (ขอความนอบน้อมจงมี)แก่ (พระผู้มีพระภาค) ผู้เป็นพระอรหันต์

(๕) “สัมมาสัมพุทธัสสะ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” อ่านว่า สัม-มา-สัม-พุด-ทัด-สะ รูปคำเดิมเป็น “สมฺมาสมฺพุทฺธ” อ่านว่า สัม-มา-สัม-พุด-ทะ แยกศัพท์เป็น สมฺมา + สมฺพุทฺธ 

(ก) “สมฺมา” อ่านว่า สำ-มา รากศัพท์มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ) + (อะ) ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, ซ้อน มฺ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สมุ > สม + = สมฺม + = สมฺม + อา = สมฺมา แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องสงบ

หมายเหตุ :

สมฺมา” ตามรากศัพท์นี้ หมายถึง สลักของแอก (a pin of the yoke)

สมฺมา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้น่าจะมีรากศัพท์เดียวกัน

——-

สมฺมา” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อัพยยศัพท์” คือคำที่คงรูป ไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิธีแจกวิภัตติ แต่อาจเปลี่ยนตามวิธีสนธิได้บ้าง และทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ ขยายคำอื่น ไม่ใช้ตามลำพัง

สมฺมา > สัมมา” แปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ในทางดี, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)

คำที่ตรงกันข้ามกับ “สัมมา” ก็คือ “มิจฉา” (มิด-ฉา) แปลว่า ผิด, อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong–, false)

(ข) “สมฺพุทฺธ” อ่านว่า สำ-พุด-ทะ ประกอบด้วย สมฺ + พุทฺธ 

(1) “สมฺ” รูปเดิมคือ “” (สะ) ตัดมาจาก – 

สามํ (สา-มัง) ตนเอง, ของตนเอง (self, of oneself)

สยํ (สะ-ยัง) เอง, โดยตนเอง (self, by oneself)

สามํ” หรือ “สยํ” ตัดมาเฉพาะ “” แล้วลงนิคหิตเป็น “สํ” (สัง) แล้วแปลงนิคหิตเป็น มฺ (สํ > สมฺ

(2) “พุทฺธ” อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

one who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

> สํ > สมฺ + พุทฺธ = สมฺพุทฺธ แปลว่า “ผู้รู้ด้วยตนเอง” 

ในภาษาไทย ใช้เป็น “สัมพุทธ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สัมพุทธะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สัมพุทธ-, สัมพุทธะ : (คำนาม) ผู้รู้พร้อม, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้สว่างแล้ว; พระนามพระพุทธเจ้า. (ป., ส.).”

สมฺมา + สมฺพุทฺธ = สมฺมาสมฺพุทฺธ แปลว่า “ผู้รู้อย่างถูกต้องด้วยตนเอง” คำแปลที่คุ้นหูกันทั่วไปคือ “ผู้ตรัสรู้ดีตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

ข้อสังเกต :

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในคำว่า “สมฺมาสมฺพุทฺธ” มี 2 ส่วนประกอบกัน คือ –

1 สิ่งที่ตรัสรู้นั้นเป็นการรู้อย่างถูกต้อง (สมฺมา) ไม่ใช่รู้ผิดๆ 

2 เป็นการตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง (สามํ) คือคิดค้นขึ้นได้ด้วยพระองค์เอง ไม่ใช่รู้ตามคำสอนของคนอื่น 

รู้เอง แต่รู้ผิดๆ ก็ใช้ไม่ได้ 

รู้ถูกต้อง แต่รู้ตามที่คนอื่นสอนไว้ ก็ยังไม่เลิศล้ำจริง

รู้ถูกต้องด้วย รู้ด้วยตนเองด้วย ดังนี้จึงชื่อว่า “สมฺมาสมฺพุทฺธ” = ผู้รู้อย่างถูกต้องด้วยตนเอง 

สมฺมาสมฺพุทฺธ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” (สำ-มา-สำ-พุด-ทัด-สะ) แปลว่า (ขอความนอบน้อมจงมี)แก่ (พระผู้มีพระภาค) ผู้ตรัสรู้ดีตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

สรุป :

บทนะโมนี้ ท่านว่าเป็นบทแสดงพุทธคุณทั้ง 3 คือ

(1) “ภควโต” ผู้จำแนกธรรม แสดงพระมหากรุณาคุณ คือเพราะทรงมีพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงทรงแสดงธรรม

(2) “อรหโต” ผู้ไกลจากกิเลส แสดงพระวิสุทธิคุณ คือเพราะไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองใด ๆ อยู่ในพระทัย จึงทรงเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจด

(3) “สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แสดงพระปัญญาคุณ คือเพราะทรงมีพระปัญญาญาณล้ำเลิศ จึงทรงสามารถตรัสรู้ดีตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

เป็นอันว่า พระพุทธคุณทั้ง 3 ประการ คือ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ประมวลลงไว้ได้ครบถ้วนในบทนะโม ด้วยประการฉะนี้

แปลยกศัพท์: –

นโม = อันว่าความนอบน้อม

(อตฺถุ = จงมี)

ภควโต = แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า

อรหโต = ผู้เป็นพระอรหันต์

สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส = ผู้ตรัสรู้โดยชอบได้ด้วยพระองค์เอง

ตสฺส = พระองค์นั้น

แปลโดยพยัญชนะ: 

อันว่าความนอบน้อม (จงมี) แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้โดยชอบได้ด้วยพระองค์เอง พระองค์นั้น

แปลโดยอรรถ (แปลเอาความ):

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

แถม :

(1) ในหมู่ชาวพุทธ เมื่อจะเริ่มปฏิบัติกิจอันเป็นศาสนพิธี ย่อมนิยมกล่าวคำนมัสการ “นะโม” ก่อนเสมอ คำเก่าเรียกว่า “ตั้งนะโม” และการตั้งนะโมนั้นมีกำหนดว่าต้องตั้ง 3 จบ คือว่าทวน 3 เที่ยวเสมอ เรียกรู้กันว่า “นะโม 3 จบ” ถ้าเขียนบอกก็เขียนต่อท้ายไว้ในวงเล็บว่า (3 จบ) เป็นอันรู้กัน

(2) ในหมู่ผู้ศึกษานะโม มีเรื่องที่บันทึกไว้และบอกเล่าสืบ ๆ กันมาว่า คำในนะโมแต่ละคำมีผู้กล่าวขึ้นก่อนเป็นปฐมดังนี้

(๑) คำว่า “นะโม” ยักษ์ชื่อสาตาคิระเป็นคนแรกที่กล่าว

(๒) คำว่า “ตัสสะ” อสุรินทราหูเป็นคนแรกที่กล่าว

(๓) คำว่า “ภะคะวะโต” ท้าวจาตุมหาราชเป็นคนแรกที่กล่าว

(๔) คำว่า “อะระหะโต” ท้าวสักกะเป็นคนแรกที่กล่าว

(๕) คำว่า “สัมมาสัมพุทธัสสะ” พกาพรหมเป็นคนแรกที่กล่าว

มีผู้ผูกเป็นคาถาบาลีว่าดังนี้ 

นะโม  สาตาคิรายักโข

ตัสสะ  จะ  อะสุรินทะโก

ภะคะวะโต  มหาราชา

สักโก  อะระหะโต  ตะถา

สัมมาสัมพุทธัสสะ  พ๎รัห๎มา  จะ

เอเต  ปัญจะ  ปะติฏฐิตา  ฯ

หมายเหตุ 1: คาถาผู้กล่าวนะโมเป็นคนแรกนี้ แต่ละฉบับมียักเยื้องผิดเพี้ยนกันไปบ้าง ถ้าจะมีนักเรียนบาลีมีอุตสาหะตรวจสอบปรับแก้ให้ถูกต้องตรงกัน ก็จะเป็นการดีนักหนา (งานบาลีมีให้ทำเสมอ-ถ้ามีใจรักที่จะทำ)

อนึ่ง พึงเข้าใจว่า ที่บอกกล่าวกันว่า คำในนะโม ใครเป็นผู้กล่าวเป็นคนแรกนั้น เป็นเพียงตำนานที่มีผู้เล่าไว้ เราผู้ศึกษาในภายหลังไม่จำเป็นต้องเชื่อตาม แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปหักล้างความเชื่อของใคร ในฐานะนักศึกษาเราทำหน้าที่ศึกษา รู้เท่าทันให้ตรงกับความเป็นจริง และเสนอแนวคิดเพื่อให้สังคมพิจารณาด้วยสติปัญญาเท่าที่จะสามารถทำได้เท่านั้น

หมายเหตุ 2: มีญาติมิตรปรารภว่า เด็กสมัยใหม่ไม่รู้ไม่เข้าใจความหมายของนะโม บอกให้ว่าก็ว่าไป ว่าได้ แต่ถ้อยคำในบทนะโมมีความหมายว่าอย่างไรไม่รู้ จึงขอให้ผู้เขียนบาลีวันละคำช่วยแปลและอธิบายบทนะโมให้เด็กสมัยใหม่เข้าใจสักหน่อย ผู้เขียนบาลีวันละคำจึงขอนำบทนะโมมาเขียนเป็นบาลีวันละคำไว้ทีหนึ่งก่อน 

งานเช่นนี้ ถ้าพระภิกษุสามเณรของเรา-โดยเฉพาะท่านที่เรียนบาลี-จะมีอุตสาหะช่วยกันอธิบายบทนะโมให้คนสมัยใหม่เข้าใจ ก็จะเป็นการช่วยกันเผยแผ่พระศาสนาให้เป็นที่เข้าใจถูกต้องกว้างขวางยิ่งขึ้น จึงขอกราบอาราธนามา ณ ที่นี้ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บางคนไม่มีงานทำ

: บางงานไม่มีคนทำ

ท่านคิดว่าเป็นกรรมของใคร?

#บาลีวันละคำ (4,175)

17-11-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *