ฉันท์-ฉัน (บาลีวันละคำ 488)
ฉันท์-ฉัน
อ่านว่า ฉัน
บาลีเป็น “ฉนฺท” อ่านว่า ฉัน-ทะ
“ฉนฺท” มีความหมาย 3 อย่าง คือ –
1. ความพอใจ, ความรักใคร่, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความปรารถนา, ความอยาก, ความประสงค์, สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความมีใจรักในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
2. ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้น ๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ”
3. เป็นชื่อเรียกข้อความที่แต่งเป็นร้อยกรอง (ที่ภาษาไทยพูดว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” บาลีไม่ได้เรียกแยกชนิดเหมือนไทย คงเรียกรวมทุกอย่างว่า “ฉนฺท–ฉันท์” แต่มีชื่อเฉพาะสำหรับฉันท์แต่ละชนิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถา”)
“ฉนฺท” ถ้าต้องการให้ออกเสียง “-ทะ” ก็เขียนว่า “ฉันทะ” ถ้าต้องการให้ออกเสียงว่า “ฉัน” ก็เขียนว่า “ฉันท์” (การันต์ที่ ท) ซึ่งเสียงพ้องกับคำไทยว่า “ฉัน”
“ฉัน” คำไทยมีความหมาย 4 อย่าง คือ –
1. เป็นสรรพนามใช้แทนตัวผู้พูด พูดกับผู้ที่เสมอกันหรือผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย (ฉัน–กู)
2. กิน (ใช้แก่ภิกษุสามเณร) เช่น หอฉัน, ฉันภัตตาหาร (ฉัน–กิน)
3. เสมอเหมือน, เช่น, อย่าง เช่น อยู่ร่วมกันฉันมิตร (ฉัน–เหมือน)
4. มีแสงกล้า, มีแสงพุ่งออกไป เช่น พระสุริฉัน = ตะวันส่องแสงแรงกล้า (ฉัน–ส่องแสง)
: ฉันใดใช้ดีดี
ฉันท์บาลีฤๅฉันไทย
ใช้ชอบควรชอบใจ
ใช่ชอบใช้ตามใจฉัน
——————
(รูปภาพของ หนุ่มสุรินทร์ ธรรมไม่มีวันตาย-12 กันยายน 56 ได้รับแชร์จาก Zamar Sib Oon)
15-9-56