บาลีวันละคำ

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ (บาลีวันละคำ 4,176)

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ไตรสรณคมน์ที่หนึ่ง

ไตรสรณคมน์เต็ม ๆ เขียนแบบไทยเป็นดังนี้ –

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ” แต่ละคำมีอธิบายดังนี้ –

(๑) “พุทธัง” 

เขียนแบบบาลีเป็น “พุทธํ” อ่านว่า พุด-ทัง รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้หลายนัย ดังนี้ –

(1) สพฺพํ พุทฺธวาติ พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้ทุกอย่างที่ควรรู้

(2) ปารมิตาปริภาวิตาย ปญญาย สพฺพมฺปิ เญยฺยํ อพุชฺฌีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้เญยธรรมทั้งปวงด้วยพระปัญญาที่ทรงสั่งสมอบรมมาแล้วเต็มเปี่ยม 

(3) พุชฺฌิตา สจุจานีติ พุทฺโธ = ผู้ตรัสรู้สัจธรรม 

(4) โพเธตา ปชายาติ พุทฺโธ = ผู้ทรงยังหมู่สัตว์ให้รู้ตาม 

(5) สพฺพญฺญุตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้ธรรมทุกอย่าง

(6) สพฺพทสฺสาวิตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงเห็นแจ้งธรรมทุกอย่าง

(7) อภิญฺเญยฺยตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้ยิ่ง

(8 ) วิสวิตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงทำพระนิพพานให้แจ้ง

(9) ขีณาสวสงฺขาเตน พุทฺโธ = ผู้ทรงสิ้นอาสวกิเลส

(10) นิรุปกฺกิเลสสงฺขาเตน พุทฺโธ = ผู้ทรงปราศจากอุปกิเลส

(11) เอกนฺตวีตราคโทสโมโหติ พุทฺโธ = ผู้ทรงปราศจากราคะ โทสะ โมหะโดยส่วนเดียว

(12) เอกนฺตนิกฺกิเลโสติ พุทฺโธ = ผู้ทรงสิ้นกิเลสแล้วโดยส่วนเดียว

(13) เอโก อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโรติ พุทฺโธ = ผู้ตรัสรูพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณลำพังพระองค์เดียว 

(14) อพุทฺธิวหตฺตา พุทฺธิปฏิลาภตฺตา พุทฺโธ = ผู้ทรงกำจัดอวิชชาและทรงได้วิชชา

(15) สวาสนสมฺโมหนิทฺทาย พุชฺฌติ ปพุชฺฌติ ปพุชฺฌนํ กโรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงตื่น ทรงปลุก ทรงทำให้ตื่นตัวจากความหลับไหลด้วยอำนาจสัมโมหะพร้อมทั้งวาสนา 

(16) พุชฺฌติ วิกสติ พุชฺฌนํ วิกสนํ กโรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงเบิกบาน แจ่มใส ทรงทำความเบิกบานแจ่มใส 

(17) เทฺว วฏฺฏมูลานิ ขนฺธสนฺตานโต สยเมว อุทฺธรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงเพิกถอนรากเหง้าแห่งวัฏฏะทั้งสองจากขันธสันดานได้ด้วยพระองค์เอง 

(18) เทว อตฺเถ อุทฺธริตฺวา ธาเรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงยกประโยชน์สองประการขึ้นไว้ 

(19) พาลสงขาเต ปุถุชฺชเน วฏฺฏทุกฺขโต อุทฺธรติ อุทฺธรณํ กโรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงยกปุถุชนคนพาลขึ้นจากวัฏทุกข์ 

ความหมายของ “พุทฺธ” ตามที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”

พุทฺธ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “พุทฺธํ” (พุด-ทัง) เขียนแบบไทยเป็น “พุทธัง” (ไม่มีจุดใต้ ) แปลว่า (ข้าพเจ้าขอถึง)ซึ่งพระพุทธเจ้า

(๒) “สะระณัง

เขียนแบบบาลีเป็น “สรณํ” อ่านว่า สะ-ระ-นัง รูปคำเดิมเป็น “สรณ” อ่านว่า สะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน; คิดถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: สรฺ + ยุ > อน = สรน > สรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยเฉพาะแห่งมรรคสี่” (2) “การเบียดเบียน” (3) “ที่เป็นที่นึกถึงการกระทำที่ดีและไม่ดี” 

สรณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า – 

(1) ที่กำบัง, บ้าน (shelter, house) 

(2) ที่พึ่ง, สรณะ (refuge, protection) 

(3) การระลึกถึง (remembrance; remembering)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรณ-, สรณะ : (คำนาม) ที่พึ่ง, ที่ระลึก; ความระลึก. (ป.; ส. ศรณ).”

สรณ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สรณํ” (สะ-ระ-นัง) เขียนแบบไทยเป็น “สะระณัง” แปลว่า (ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า) ว่าเป็นที่พึง

(๓) “คัจฉามิ

เขียนแบบบาลีเป็น “คจฺฉามิ” อ่านว่า คัด-ฉา-มิ เป็นคำกริยาที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “กิริยาอาขยาต” กัตตุวาจก อุตตมบุรุษ (ตัวผู้พูดเองเป็นประธานในประโยค) เอกวจนะ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + (อะ) ปัจจัยประจำหมวด ภู ธาตุ + มิ วิภัตติอาขยาตหมวดวัตตมานา (อหํ = ข้าพเจ้า เป็นประธาน), แปลง คมฺ เป็น คจฺฉฺ 

: คมฺ > คจฺฉฺ + + มิ = คจฺฉมิ > คจฺฉามิ (คัด-ฉา-มิ) แปลว่า (ข้าพเจ้า)ย่อมถึง” 

รวมทั้ง 3 คำเป็นประโยคว่า “พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ” 

เขียนแบบไทยเป็น “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ” 

แปลยกศัพท์: –

(อหํ = อันว่าข้าพเจ้า)

คจฺฉามิ = ย่อมถึง 

พุทฺธํ = ซึ่งพระพุทธเจ้า

สรณํ = ว่าเป็นสรณะ (ที่พึ่งที่ระลึก)

แปลโดยพยัญชนะ: 

อันว่าข้าพเจ้า ย่อมถึง ซึ่งพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสรณะ (ที่พึ่งที่ระลึก)

แปลโดยอรรถ (แปลเอาความ):

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

(ยังไม่สิ้นกระแสความ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระพุทธเจ้าไม่โดดลงจากหิ้งมาช่วยใคร

: แต่ถ้ามีพระอยู่ในหัวใจจะเกิดกำลังใจช่วยตัวเอง

#บาลีวันละคำ (4,176)

18-11-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *