บาลีวันละคำ

อยู่ป่าเป็นวัตร (บาลีวันละคำ 4,339)

อยู่ป่าเป็นวัตร

ไม่ใช่อยู่ป่าเป็นวัด

ถ้าฟังแต่เสียงพูดว่า “อยู่ป่าเป็นวัตร” คนที่ไม่คุ้นกับภาษาวัดจะต้องเข้าใจไปว่า คำสุดท้ายที่ได้ยินว่า “วัด” นั้น ก็คือ “วัด” ที่หมายถึงที่อยู่ของพระสงฆ์

โปรดทราบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น

วัตร” คำนี้ คือ วั-ต-ร (วัด-ตะ-ระ) ไม่ใช่ “วัด” ด เด็ก

วัด” ด เด็ก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วัด ๑ : (คำนาม) สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติมีโบสถ์ วิหาร และที่อยู่ของสงฆ์หรือนักบวชเป็นต้น.”

ส่วน “วัตร” (วัด-ตะ-ระ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วัตร, วัตร– : (คำนาม) กิจพึงกระทํา เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).”

วัด” ด เด็ก หมายถึง ที่อยู่ของพระ (monastery)

วัตร” (วัด-ตะ-ระ) หมายถึง การปฏิบัติกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นประจำ (practice)

ขยายความ :

อยู่ป่าเป็นวัตร” หมายถึง การที่ภิกษุพักอาศัยอยู่ในป่าเป็นปกติ ไม่เข้ามาอยู่ในเขตบ้าน แต่ไม่ควรเข้าใจแบบ “แถ” ไปว่า ตามปกติพระต้องอยู่ในวัด การที่พระอยู่ในป่าเป็นปกตินั่นแหละเท่ากับว่าพระเอาป่าเป็นวัด เหมือนคนทั่วไปอยู่บ้าน แต่บางคนไม่มีบ้านจะอยู่ อาศัยอยู่ในเรือ ก็เรียกว่า เอาเรือเป็นบ้าน นี่ก็เหมือนกัน พระไม่ได้อยู่วัด แต่อยู่ป่า จึงเรียกได้ว่า “อยู่ป่าเป็นวัด”

ถ้าเข้าใจแบบนี้ก็เป็นอย่างที่ว่า-เข้ารกเข้าพง ถ้าไม่ใช่เพาะแกล้งแถ ก็เป็นเพราะไม่มีความรู้ 

ต้องเรียนรู้จึงจะเข้าใจได้ถูกต้อง

ในพระพุทธศาสนา มีกิจบางอย่างที่พระท่านทำ “เป็นวัตร” คือทำเช่นนั้นเป็นประจำเพื่อขัดเกลาตนเอง ท่านรวมเข้าไว้เป็นชุด เรียกว่า “ธุดงค์” มี 13 ข้อ 

ขอประมวลความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ [342] ธุดงค์ 13 ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอเป็นความรู้ดังต่อไปนี้ –

…………..

ธุดงค์ หมายถึง องค์คุณเครื่องสลัดหรือกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมความมักน้อยและสันโดษเป็นต้น (Dhutaŋga: means of shaking off or removing defilements; austere practices; ascetic practices) มี 13 ข้อ คือ: 

1. ปังสุกูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร – refuse-rag-wearer’s practice)

2. เตจีวริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร – triple-robe-wearer’s practice)

3. ปิณฑปาติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร – alms-food-eater’s practice)

4. สปทานจาริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร – house-to-house-seeker’s practice)

5. เอกาสนิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก – one-sessioner’s practice)

6. ปัตตปิณฑิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน 1 อย่างคือบาตร – bowl-food-eater’s practice)

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อได้ปลงใจกำหนดอาหารที่เป็นส่วนของตน ซึ่งเรียกว่าห้ามภัต ด้วยการลงมือฉันเป็นต้นแล้ว ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายอีก แม้จะเป็นของประณีต – later-food-refuser’s practice)

8. อารัญญิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย 500 ชั่วธนู คือ 25 เส้น – forest-dweller’s practice)

9. รุกขมูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร – tree-rootdweller’s practice)

10. อัพโภกาสิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร – open-air-dweller’s practice)

11. โสสานิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร – charnel-ground-dweller’s practice)

12. ยถาสันถติกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ – any-bed-user’s practice)

13. เนสัชชิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง 3 อิริยาบถ – sitter’s practice)

…………..

ขอให้สังเกตว่า ทุกข้อลงท้ายว่า “-เป็นวัตร” เพราะเป็นการปฏิบัติเป็นประจำ

มีบางข้อที่ชวนให้เข้าใจแบบเดียวกับ “อยู่ป่าเป็นวัด” เช่น –

อยู่โคนไม้เป็นวัตร = อยู่โคนไม้เป็นวัด

อยู่ที่แจ้งเป็นวัตร = อยู่ที่แจ้งเป็นวัด

อยู่ป่าช้าเป็นวัตร = อยู่ป่าช้าเป็นวัด

คือเอาโคนไม้ ที่แจ้ง ป่าช้า เป็น monastery 

แต่ข้อปฏิบัติอย่างอื่นจะว่าอย่างไร เช่น –

ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร = ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัด

เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร = เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัด

ฉันในบาตรเป็นวัตร = ฉันในบาตรเป็นวัด

การนั่งเป็นวัตร = การนั่งเป็นวัด

ถามว่า จะเอาผ้าบังสุกุล การเที่ยวบิณฑบาต การฉันในบาตร การนั่ง มาทำให้เป็น monastery ได้อย่างไร?

ข้อสำคัญต้องจับหลักให้ได้ว่า คำสอนเรื่องธุดงค์ที่ลงท้ายว่า “เป็นวัตร” นั้น ท่านมุ่งสอนให้ปฏิบัติเช่นนั้น ๆ เป็นประจำ หรือท่านสอนให้เอาสิ่งนั้น ๆ มาทำให้เป็น monastery?

จะเห็นได้ว่า เอาเสียง “วัตร-วัด” มาคิดเล่นสนุก ๆ ได้ แต่ถ้าเข้าใจเอาเป็นจริงเป็นจังก็นับว่าเพี้ยน

หาความรู้คำบาลี :

คำว่า “วัด” (monastery) ใช้คำบาลีได้หลายคำ คือ –

อาวาส” บาลีอ่านว่า อา-วา-สะ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาอยู่” = มาถึงตรงนั้นแล้วก็อยู่ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาวาส”

อาราม” บาลีอ่านว่า อา-รา-มะ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มายินดี” = มาถึงตรงนั้นแล้วก็ยิน จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาราม”

วิหาร” บาลีอ่านว่า วิ-หา-ระ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่นำอิริยาบถไปเป็นพิเศษ” หมายความว่า ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ หรือยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในที่นั้น 

ยตินิวาส” บาลีอ่านว่า ยะ-ติ-นิ-วา-สะ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่อยูของผู้เพียรเพื่อหลุดพ้น” (2) “ที่อยูของผู้มีความสำรวมอินทรีย์อยู่เป็นนิจ” 

อสฺสม” บาลีอ่านว่า อัด-สะ-มะ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สถานที่มีความสงบรอบด้าน” (2) “ที่เป็นที่ระงับความโกรธ” (3) “ที่ซึ่งกิเลสสงบได้อย่างดียิ่ง” (4) “ที่เป็นที่ระงับลงได้รอบด้านแห่งอันตรายที่บีบคั้นกายและจิต

…………..

คำว่า “วัตร

(1) บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = ถือเอา, ประพฤติ) + (อะ) ปัจจัย

: วตฺต + = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ควรถือประพฤติ

(2) บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(ก) วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: วตฺ + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การที่เป็นไปตามปกติ

(ข) วชฺ (ธาตุ = ปรุงแต่ง, กระทำ) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เป็น

: วชฺ > วต + = วต แปลตามศัพท์ว่า “การอันเขาปรุงแต่ง

วตฺต” หรือ “วต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัตร” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน (observance, vow, virtue, that which is done, which goes on or is customary, duty, service, custom, function)

แถม :

ปวิวิตฺโต อสํสฏฺโฐ

ปนฺตเสนาสเน รโต 

อาราธยนฺโต นาถสฺส

วนวาเสน มานสํ 

นักพรตผู้สงัดไม่คลุกคลีกับใคร

ยินดีในเสนาสนะอันสงัด

ยังพระมานัสของพระนาถเจ้า

ให้ทรงยินดีเพราะการอยู่ป่า

เอโก อรญฺเญ นิวสํ

ยํ สุขํ ลภเต ยติ 

รสํ ตสฺส น วินฺทนฺติ

อปิ เทวา สอินฺทกา ฯ 

นักพรตอาศัยอยู่ในป่าผู้เดียว

ย่อมได้ความสุขอันใด

แม้เทวดากับทั้งพระอินทร์

ก็ไม่ได้รสแห่งความสุขอันนั้น

ปํสุกูลญฺจ เอโสว

กวจํ วิย ธารยํ 

อรญฺญสงฺคามคโต

อวเสสธุตายุโธ 

และเธอผู้นี้แลทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล

อันเป็นดุจเกราะ

เข้าสู่สงครามคือป่า

มีธุดงค์ที่เหลือเป็นอาวุธ

สมตฺโถ นจิรสฺเสว

เชตุํ มารํ สพาหนํ 

ตสฺมา อรญฺญวาสมฺหิ

รตึ กยิราถ ปณฺฑิโตติ ฯ 

ไม่นานเลยก็สามารถ –

จะชำนะมารพร้อมทั้งไพล่พลได้

เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต –

พึงทำความยินดีในการอยู่ป่าเถิด

ที่มา: อารัญญิกังคธุดงค์ วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 92 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำบ้านให้เป็นวัด ดี

: ทำวัดให้เป็นบ้าน เลว

#บาลีวันละคำ (4,339)

29-4-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *