กาพย์เห่เรือ (บาลีวันละคำ 4,340)
กาพย์เห่เรือ
ไม่ใช่กาพย์แห่เรือ
เห่ ไม่ใช่ แห่
“เห่เรือ” ไม่ใช่ “แห่เรือ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“เห่เรือ : (คำนาม) ทำนองที่ขับร้องเมื่อเวลาพายเรือพระที่นั่งในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค.”
ดูตามคำนิยามในพจนานุกรมฯ หากจะแปลงคำว่า “กาพย์เห่เรือ” เป็นคำบาลีก็น่าจะเป็นคำว่า “ราชนาวากาพฺย” อ่านว่า รา-ชะ-นา-วา-กาบ-เพียะ หรือจะอ่านเอาสัมผัสว่า รา-ชะ-นา-วา-กา-พ๎ยะ ก็ได้ แปลตามศัพท์ว่า “คำของกวีที่ขับขานในขบวนเรือของพระราชา”
พึงทราบว่า นี่เป็นคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำคิดขึ้นเองเท่านั้น นักเรียนบาลีท่านอื่น ๆ สามารถคิดเป็นคำอื่นได้อีกตามแต่จะเห็นสมควร
“ราชนาวากาพฺย” แยกศัพท์เป็น ราช + นาวา + กาพฺย
(๑) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย
: ราชฺ + อ = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา
: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คำนี้มักใช้ประกอบกับคำอื่น, ถ้าคำเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(๒) “นาวา”
อ่านตรงตัวว่า นา-วา รากศัพท์มาจาก –
(1) นุ (ธาตุ = ชมเชย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ นุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (นุ > โน > นาว) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นุ + ณ = นุณ > นุ > โน > นาว + อา = นาวา แปลตามศัพท์ว่า “พาหนะอันผู้คนชมเชย”
(2) นี (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อาว (นี > เน > นาว) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นี + ณ = นีณ > นี > เน > นาว + อา = นาวา แปลตามศัพท์ว่า “พาหนะที่นำจากฝั่งไปสู่ฝั่ง”
“นาวา” หมายถึง เรือ, นาวา (a boat, ship)
(๓) “กาพฺย”
อ่านว่า กาบ-เพียะ หรือ กา-พ๎ยะ รากศัพท์มาจาก กวิ + ณฺย ปัจจัย
(ก) “กวิ” (-วิ สระ อิ) รากศัพท์มาจาก กุ (ธาตุ = สรรเสริญ; ผูกถ้อยคำ, ประพันธ์; กล่าว, ส่งเสียง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (กุ > โก > กว)
: กุ > โก > กว + อิ = กวิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สรรเสริญ” (คือแต่งบทสรรเสริญเทพเจ้า) (2) “ผู้ผูกทั่ว” (คือเอาถ้อยคำมาผูกเข้าเป็นบทกลอน) (3) “ผู้กล่าวถ้อยคำที่น่ารักเป็นปกติ” “ผู้กล่าวถ้อยคำดื่มด่ำ”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรูปศัพท์คำนี้ไว้ 2 รูป คือมีทั้งที่เป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) และ “กวี” (-วี สระ อี)
ที่ได้รูปเป็น “กวี” (-วี สระ อี) เพราะลง อี ปัจจัย หรือ ณี ปัจจัยแล้วลบ ณ > อี
: กุ > โก > กว + อี = กวี
: กุ > โก > กว + ณี > อี = กวี
ในคัมภีร์ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา พบรูปคำที่เป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) ทั้งนั้น
คำนี้เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “กวี” (-วี สระ อี) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กวี : (คำนาม) ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน จำแนกเป็น ๔ คือ ๑. จินตกวี แต่งโดยความนึกคิด ๒. สุตกวี แต่งโดยได้ฟังมา ๓. อรรถกวี แต่งตามความเป็นจริง ๔. ปฏิภาณกวี แต่งโดยฉับพลันทันที. (ป.).”
(ข) กวิ + ณฺย ปัจจัย, ลบ อิ ที่ กวิ (กวิ > กว), ลบ ณฺ (ณฺย > ย), ทีฆะต้นศัพท์ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ ก-(วิ) เป็น อา (กวิ > กาวิ), แปลง วฺ เป็น พฺ
: กวิ + ณฺย = กวิณฺย > กวณฺย > กวฺย > กาวฺย > กาพฺย แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่มีในกวี” (2) “เรื่องของกวี” (3) “คำอันกวีกล่าวไว้”
อนึ่ง รูปคำ “กาพฺย” นี้ ไม่ทีฆะต้นศัพท์ ได้รูปเป็น “กพฺย” และมีรูปเป็น “กพฺพ” ก็มี
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่คำว่า “กพฺพ” แปลไว้ว่า a poem, poetical composition, song, ballad (คำประพันธ์ชนิดร้อยกรอง, เพลง, โคลง, กลอน, กาพย์, เนื้อเพลง)
บาลี “กาพฺย” ในภาษาไทยใช้เป็น “กาพย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาพย์ : (คำนาม) คําร้อยกรองประเภทหนึ่ง มีหลายชนิด เช่น กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ กาพย์ยานี กาพย์ขับไม้. (ส. กาวฺย).”
การประสมคำ :
๑ ราช + นาวา = ราชนาวา เรือของพระราชา, เรือหลวง, เรือพระที่นั่ง
๒ ราชนาวา + กาพฺย = ราชนาวากาพฺย แปลว่า “คำของกวีที่ขับขานในขบวนเรือของพระราชา” = กาพย์เห่เรือ
ขยายความ :
ตำนานการเห่เรือ
ประเภทของการเห่เรือ สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ การเห่เรือหลวง (การเห่เรือในงานพระราชพิธี) และ การเห่เรือเล่น (การเห่เรือเล่นของชาวบ้านในงานต่าง ๆ) ในปัจจุบันการเห่เรือ ยังคงอยู่เฉพาะ การเห่เรือหลวง ที่ใช้ใน กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
หลายคนให้คำจำกัดความของ “การเห่เรือ” ไว้ว่า คือการร้องเพลงเพื่อเป็นจังหวะในการพาย และช่วยสร้างความเพลิดเพลินในการพายเรือ
แท้จริงแล้ว การเห่เรือของไทย เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไร และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึง “ตำนานการเห่เรือ” ว่ามีมูลเหตุมาแต่การใช้เรือเป็นพาหนะ โดยมีฝีพายจำนวนมาก จึงต้องอาศัยเสียงเห่เรือเป็นสัญญาณในการพายให้เกิดความพร้อมเพรียงกันการเห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค หรือที่เรียกว่า การเห่เรือหลวง
ทรงสันนิษฐานว่า … มีต้นกำเนิดขึ้นโดยพวกพราหมณ์จากอินเดีย และบทเห่ที่ใช้ในกระบวนเรือหลวงก็สันนิษฐานว่า เป็นคำสวดของพราหมณ์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงนำบทเห่เรือเล่นมาใช้ในการเห่เรือหลวง ซึ่งมีลักษณะบทประพันธ์เป็นบทร้อยกรอง ที่ประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพ 1 บทนำ กับมีบทร้อยกรอง เป็นกาพย์ยานี และเป็นบทพรรณนาตามอีกหลายบท
สำหรับ “การเห่เรือเล่น” เป็นการเล่นอย่างหนึ่งในฤดูน้ำหลาก เช่นเดียวกับ เพลงเรือและดอกสร้อยสักวา ซึ่งมีบทเห่เป็นกลอนสดที่มีเนื้อความสนุกสนาน ส่วน “บทเห่เรือ” หรือ “กาพย์เห่เรือ” ที่ใช้สำหรับการเห่ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้น ถือกันว่าเป็นศาสตร์แห่งภูมิปัญญาทางภาษาของไทยอย่างหนึ่ง และเป็นองค์ประกอบสำคัญ ของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่ได้รับสืบทอดเป็นมรดกอันสำคัญควบคู่กันมาแต่โบราณ
ทั้งนี้ “กาพย์เห่เรือ” ที่ไพเราะซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และได้รับการยกย่องให้เป็นเอกแห่งกาพย์เห่เรือ คือ กาพย์เห่เรือ ชมกระบวนพยุหยาตราชลมารค พระนิพนธ์ใน เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือ “เจ้าฟ้ากุ้ง” พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีกาพย์เห่เรือซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในทั่วไป คือ กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นต้น
ทำนองที่ใช้ในการเห่เรือ มี 3 ทำนอง
1.ช้าละวะเห่
2.มูลเห่
3.สวะเห่
ที่มา: ตอนหนึ่งจาก “ตำนานการเห่เรือ” กองทัพเรือรวบรวม
คำแนะนำ: ศึกษาเพิ่มเติมจาก “อธิบายตำนานเห่เรือ” พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แถม :
“เห่” กับ “แห่” มีความหมายต่างกัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) เห่ : (คำนาม) ทำนองที่ขับร้องในบางพระราชพิธี, ถ้าใช้เมื่อเวลาพายเรือพระที่นั่งในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เรียกว่า เห่เรือ, ถ้าใช้ในพระราชพิธีขึ้นพระอู่พระเจ้าลูกเธอ เรียกว่า เห่กล่อม; คำสั่งที่เขียนไว้ในวงเล็บท้ายบทเพลงเพื่อให้นักดนตรี นักร้อง และนักแสดงปฏิบัติตาม. (คำกริยา) กล่อม เช่น เห่ลูก. (คำวิเศษณ์) เสียงอย่างกล่อมลูก.
(2) แห่ (คำนาม) ขบวนที่ไปพร้อมกันด้วยวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง อาจมีการตกแต่งหรือมีดนตรีประกอบเป็นต้น เช่น แห่นาค แห่ขันหมาก แห่ศพ. (คำกริยา) ไปกันเป็นพวกเป็นหมู่มาก ๆ.
เรือ ต้อง “เห่”
นาค ต้อง “แห่”
ในขบวนเห่เรือมีการขับร้อง
ในขบวนแห่นาคมีการฟ้อนรำ
เห่คือร้อง
แห่คือรำ
“เห่เรือ” มี
แต่ “แห่เรือ” ไม่มี
“แห่นาค” มี
แต่ “เห่นาค” ไม่มี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใช้คำให้ถูกกับงาน
: ใช้คนให้ถูกกับงาน
#บาลีวันละคำ (4,340)
30-4-67
…………………………….
…………………………….