สอบสนามหลวง (บาลีวันละคำ 4,338)
สอบสนามหลวง
คือทำอะไร?
(๑) “สอบ”
เป็นคำไทย เราเข้าใจกันดี แต่เพื่อให้แน่ใจ ควรเปิดพจนานุกรมตรวจสอบความเข้าใจด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สอบ ๑ : (คำกริยา) ตรวจ ทดลอง เปรียบเทียบ หรือไล่เลียง เพื่อหาข้อเท็จจริง หรือวัดให้รู้ว่ามีความรู้หรือความสามารถแค่ไหน เช่น สอบตาชั่งให้ได้มาตรฐาน สอบราคาสินค้า สอบปากคำผู้ต้องหา สอบพิมพ์ดีด.”
(๒) “สนามหลวง”
พอเอ่ยถึง “สนามหลวง” ทุกคนจะนึกถึงสถานที่โล่งกว้างข้างพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ พร้อมกับนึกถึงต้นมะขามซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของสนามหลวงเนื่องจากคนเก่าท่านปลูกไว้รอบสนามหลวง จนถึงกับยกขึ้นเป็นคำถามเล่นกันสนุก ๆ ว่า มะขามรอบสนามหลวงมีกี่ต้น
โปรดทราบว่า “สนามหลวง” ในคำว่า “สอบสนามหลวง” ไม่ได้หมายถึงสถานที่ตรงนั้น
และคำว่า “สอบสนามหลวง” ก็ไม่ได้หมายถึงตรวจสอบให้รู้ว่าสนามหลวงตรงนั้นกว้างยาวเท่าไร มีเนื้อที่กี่ไร่ มีต้นมะขามกี่ต้น ทั้งไม่ได้หมายถึงมีการสอบคัดเลือกหรือสอบไล่และใช้บริเวณสนามหลวงเป็นสนามสอบดังที่อาจจะมีบางคนเข้าใจเช่นนั้น
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สนามหลวง” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“สนามหลวง : (คำนาม) สถานซึ่งกำหนดให้เป็นที่สอบไล่นักธรรมและบาลี ในคำว่า สอบธรรมสนามหลวง สอบบาลีสนามหลวง.”
เชื่อว่าคนส่วนมากคงไม่คิดว่า คำว่า “สนามหลวง” จะมีความหมายแบบนี้
อีกคำหนึ่งที่มักจะพูดพาดพิงเมื่อเอ่ยถึงคำว่า “สนามหลวง” ตามความหมายข้างต้น นั่นคือคำว่า “สนามวัด”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“สนามวัด : (คำนาม) สถานที่ที่สำนักเรียนพระปริยัติธรรมแต่ละสำนักได้กำหนดให้เป็นที่ทดสอบบาลีก่อนที่จะส่งเข้าสอบบาลีสนามหลวง.”
เป็นอันว่า “สอบสนามหลวง” เรียกเป็นคำเต็ม ๆ ว่า “สอบธรรมสนามหลวง” และ “สอบบาลีสนามหลวง” เรียกลัดตัดสั้นเป็น “สอบสนามหลวง”
ส่วนสถานที่สอบจะเป็นที่ไหนคณะสงฆ์จะเป็นผู้กำหนด และตามที่พอจะกำหนดได้เป็นเกณฑ์กว้าง ๆ คือ –
“สอบธรรมสนามหลวง” จัดสนามสอบตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพฯ
“สอบบาลีสนามหลวง” แบ่งสนามสอบเป็นดังนี้ –
(๑) ประโยค 1-2, ป.ธ.3-4 จัดสนามสอบตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพฯ
(๒) ป.ธ.5-6 จัดสนามสอบตามวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เฉพาะ ป.ธ.7-8-9 รวมสอบที่วัดสามพระยาเพียงแห่งเดียว
ขยายความ :
ทำไมจึงเรียก “สอบสนามหลวง”?
คำว่า “สนามหลวง” ตามความหมายเดิม ถอดความจากคำบาลีว่า “ราชงฺคณ” อ่านว่า รา-ชัง-คะ-นะ ประกอบด้วยคำว่า ราช + องฺคณ
(๑) “ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย
: ราชฺ + อ = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา
: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
คำว่า “ราช” นี่เองที่เราเอามาเรียกเป็นคำไทยว่า “หลวง”
(๒) “องฺคณ” อ่าน อัง-คะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: องฺคฺ + ยุ > อน = องฺคน > องฺคณ แปลตามศัพท์ว่า “ที่ไปแห่งผู้คน” หมายถึง สนาม, เนิน, ลาน, ที่ว่าง (an open space, a clearing)
(2) อญฺชฺ (ธาตุ = ทา, ป้าย) + ยุ ปัจจัย, แปลง อญฺชฺ เป็น องฺค, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: อญฺชฺ + ยุ > อน = อญฺชน > องฺคน > องฺคณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้เปื้อน” หมายถึง กิเลส, มลทิน, รอยตกกระ, จุดด่างพร้อย (stain, soil, impurity, fleck, blemish) ความหมายนี้ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านแปลกันว่า “กิเลสเพียงดังเนิน” (เอาความหมายแรกมาเป็นฐานความคิด)
ในที่นี้ “องฺคณ” ใช้ในความหมายตามข้อแรก คือ สนาม, เนิน, ลาน
ราช + องฺคณ = ราชงฺคณ แปลตามศัพท์ว่า “สนามของพระราชา” หมายถึง พระลานหลวง ตรงกับ “สนามหลวง” นั่นเอง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ราชงฺคณ” ว่า the empty space before the king’s palace, the royal square (พระลานหลวง, ที่ว่างหน้าพระราชวัง)
ทำไมจึงต้องมี “ราชงฺคณ = สนามหลวง”
คำว่า “ราชงฺคณ” มีใช้ดกดื่นในคัมภีร์ เป็นสถานที่ที่อยู่ด้านหน้าของพระราชวัง และต้องมีคู่กับพระราชวังด้วยเหตุผลดังนี้ –
(1) เป็นที่แสดงกิจกรรมของทางราชการที่ต้องการให้ราษฎรมาร่วมรับรู้ เช่นชุมนุมกองทหารก่อนที่จะยกออกจากเมือง รวมทั้งเป็นที่จัดงานตามเทศกาลต่าง ๆ
(2) เมื่อมีกรณีที่ทางราชการต้องการฟังความเห็นจากราษฎร ก็จะใช้เป็นที่ประชุมกันเพื่อแสดงความคิดเห็น เช่น ลงความเห็นตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง “เศรษฐี” เป็นต้น
(3) เป็นสถานที่ชุมนุมของราษฎรเพื่อร้องทุกข์ต่อผู้ปกครอง ธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อราษฎรชุมนุมกันร้องทุกข์ ผู้ปกครอง (โดยปกติคือพระราชา) จะสอบสวนถึงสาเหตุของปัญหา และปฏิบัติตามความต้องการของราษฎร ปรากฏบ่อยว่าพระราชาทรงตรวจสอบความประพฤติของพระองค์เองเป็นอันดับแรกแล้วแก้ไขให้เป็นที่พอใจของราษฎร
…………..
สถานที่อันเรียกว่า “สนามหลวง” ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แต่เดิมจะเกิดมีขึ้นด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่เมื่อเรียกกันว่า “สนามหลวง” และใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของทางราชการ ก็ไปสอดคล้องเข้าพอดีกับคติที่ต้องมี “ราชงฺคณ” อันปรากฏในคัมภีร์
ด้วยเหตุที่ “สนามหลวง” เป็นสถานที่ทำกิจอันเป็นกิจของทางราชการ การสอบธรรมและสอบบาลีของคณะสงฆ์ซึ่งได้รับความอุปถัมภ์จากทางราชการจึงอยู่ในฐานะเป็นกิจของทางราชการด้วย เป็นเหตุให้เรียกการสอบนั้นว่า “สอบธรรมสนามหลวง” และ “สอบบาลีสนามหลวง” เรียกลัดตัดสั้นเป็น “สอบสนามหลวง” ด้วยประการฉะนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เอาสถานะเป็นสงฆ์ไปประพฤติเหมือนชาวบ้าน
: ก็เหมือนเอากิจของทางราชการไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว
#บาลีวันละคำ (4,338)
28-4-67
…………………………….
…………………………….