สัตบุรุษ [2] (บาลีวันละคำ 4,351)
สัตบุรุษ [2]
รู้ไม่ยาก แต่เป็นไม่ง่าย
อ่านว่า สัด-บุ-หฺรุด
“สัตบุรุษ” เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สปฺปุริส” อ่านว่า สับ-ปุ-ริ-สะ) ประกอบขึ้นจากคำว่า สนฺต + ปุริส
(๑) “สนฺต”
อ่านว่า สัน-ตะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สมฺ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + ต ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ
: สมฺ + ต = สมฺต > สนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ระงับราคะเป็นต้นได้”
(2) สุ (แทนศัพท์ว่า “สุนฺทร” = ดี, งาม) + อนฺต (ที่สุด), แปลง อุ ที่ สุ เป็น อะ
: สุ + อนฺต = สุนฺต > สนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีที่สุดอันงดงาม”
“สนฺต” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เงียบ, ราบรื่น, สงบ, บริสุทธิ์ (calmed, tranquil, peaceful, pure)
(๒) “ปุริส”
อ่านว่า ปุ-ริ-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุรฺ (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย
: ปุรฺ + อิส = ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”
(2) ปุ ( = นรก) + ริสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปุ + ริสฺ = ปุริสฺ + อ = ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ”
(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อี ที่ สี (สี > ส)
: ปุริ + สี = ปุริสี + อ = ปุริสี > ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า
(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างบทหน้ากับธาตุ (ปุร + อิ + สี), ลบสระหน้า คือ อี ที่ สี (สี > ส)
: ปุร + อิ + สี = ปุริสี + อ = ปุริสี > ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า
(5) ป ( = ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน) + อ (อะ) ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างบทหน้ากับธาตุ (ป + อุร = ปุร + อิ + สี), ลบสระหน้า คือ อี ที่ สี (สี > ส)
: ป + อุร = ปุร + อิ + สี = ปุริสี + อ = ปุริสี > ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ”
“ปุริส” ในบาลีใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) ผู้ชาย (คือเพศที่ต่างจากผู้หญิง) (man [as representative of the male sex, contrasted to woman])
(2) มนุษย์, คน (คือสิ่งมีชีวิตที่ต่างจากสัตว์และอมนุษย์อื่น ๆ (a man, a human, a human being)
เป็นอันว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้
บาลี “ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปุรุษ” และ “ปุรูษ” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปุรุษ, ปุรูษ : (คำนาม) ‘บุรุษ,’ นร (ทั่วไปหรือเอกชน), ชาย, มนุษยชาติ; อาตมัน; พระเจ้า, พระปรเมศวร; พระวิษณุ; พระพรหม; ชีวิต; อณู; ผู้ศึกษาสานขยตัตววิทยา; สหาย; พระเมรุบรรพต; a man (generally or individually), a male, mankind; the soul; God; the Supreme Being; Vishnu; Brahmâ; life; an atom; a follower of the Śânkhya philosophy; a friend; the mountain Meru.”
“ปุริส” ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บุรุษ, บุรุษ– : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ; (ไว) น. คำสรรพนามบอกผู้พูด เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๑, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดด้วย เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๒, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดถึง เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๓. (ส. ปุรุษ; ป. ปุริส).”
สนฺต + ปุริส มีสูตรที่นักเรียนบาลีท่องจำกันได้ว่า “สนฺโต ปุริโส = สปฺปุริโส”
“สนฺต” ตัดคำเหลือเพียง “ส” ซ้อน ปฺ ระหว่างศัพท์
: สนฺต > ส + ปฺ + ปุริส = สปฺปุริส แปลตามศัพท์ว่า “คนสงบ” หรือ “ผู้บริสุทธิ์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สปฺปุริส” ว่า a good, worthy man (คนดี, คนมีคุณค่า)
“สปฺปุริส” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “สัปปุริส-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) อ่านว่า สับ-ปุ-ริ-สะ- “สัปปุรุษ” อ่านว่า สับ-ปุ-หฺรุด และ “สัตบุรุษ” อ่านว่า สัด-บุ-หฺรุด (ไม่ใช่ สัด-ตะ-บุ-หฺรุด ระวังอย่าอ่านผิด) บอกไว้ดังนี้ –
(1) สัปปุริส-, สัปปุรุษ : (คำนาม) คนที่เป็นสัมมาทิฐิ, คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในพระศาสนา, คนที่มีความเห็นชอบตามทํานองคลองธรรม. (ป. สปฺปุริส; ส. สตฺปุรุษ).
(2) สัตบุรุษ : (คำนาม) คนที่เป็นสัมมาทิฐิ, คนดีน่านับถือ มีคุณธรรม ประพฤติอยู่ในศีลในธรรม. (ส. สตฺปุรุษ; ป. สปฺปุริส).
ขยายความ :
“สัตบุรุษ” คือคนเช่นไร ขอยกคำขยายความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอเป็นความรู้ดังนี้ –
…………..
(1) สัตบุรุษ : คนสงบ, คนดี, คนมีศีลธรรม, คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม
(2) สัปปุริสธรรม : ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมของคนดี, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ มี ๗ ข้อ คือ ๑. ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้จักเหตุ ๒. อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักผล ๓. อัตตัญญุตา รู้จักตน ๔. มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ ๕. กาลัญญุตา รู้จักกาล ๖. ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน ๗. ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคล; อีกหมวดหนึ่งมี ๘ ข้อ คือ ๑. ประกอบด้วย สัทธรรม ๗ ประการ ๒. ภักดีสัตบุรุษ (คบหาผู้มีสัทธรรม ๗) ๓. คิดอย่างสัตบุรุษ ๔. ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ ๕. พูดอย่างสัตบุรุษ ๖. ทำอย่างสัตบุรุษ (๓, ๔, ๕, ๖ คือ คิด ปรึกษา พูด ทำ มิใช่เพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น) ๗. มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ (คือเห็นชอบว่า ทำดีมีผลดี ทำชั่วมีผลชั่ว เป็นต้น) ๘. ให้ทานอย่างสัตบุรุษ (คือให้โดยเคารพ เอื้อเฟื้อแก่ของและผู้รับทาน เป็นต้น)
(3) สัทธรรม : ธรรมที่ดี, ธรรมที่แท้, ธรรมของคนดี, ธรรมของสัตบุรุษ
สัทธรรม ๓ คือ ๑. ปริยัติสัทธรรม สัทธรรมคือคำสั่งสอนอันจะต้องเล่าเรียน ได้แก่พุทธพจน์ ๒. ปฏิบัติสัทธรรม สัทธรรมคือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ ได้แก่ไตรสิกขา (รวมตลอดบุพภาคปฏิปทา เช่น ธุดงค์) ๓. ปฏิเวธสัทธรรม หรือ อธิคมสัทธรรม สัทธรรมคือผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน (เช่น วินย.อ.๑/๒๖๔)
สัทธรรม ๗ คือ ๑. ศรัทธา ๒. หิริ ๓. โอตตัปปะ ๔. พาหุสัจจะ ๕. วิริยารัมภะ ๖. สติ ๗. ปัญญา (เช่น ที.ปา.๑๑/๓๓๐/๒๖๔; ม.ม.๑๓/๓๑/๒๗)
(4) สัปปุรุษ : เป็นคำเลือนปะปนระหว่าง สัปปุริส ที่เขียนอย่างบาลี กับ สัตบุรุษ ที่เขียนอย่างสันสกฤต มีความหมายอย่างเดียวกัน (ดู สัตบุรุษ) แต่ในภาษาไทยเป็นคำอยู่ข้างโบราณ ใช้กันในความหมายว่า คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในพระศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไปร่วมกิจกรรมทางบุญทางกุศล รักษาศีลฟังธรรมเป็นประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง บางทีเรียกตามความผูกพันกับวัดว่า สัปปุรุษวัดนั้น สัปปุรุษวัดนี้
(5) สัปปุริสบัญญัติ : ข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้, บัญญัติของคนดี มี ๓ คือ ๑. ทาน ปันสละของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ๒. ปัพพัชชา ถือบวช เว้นจากการเบียดเบียนกัน ๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน บำรุงมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรียนธรรมของสัตบุรุษจนรู้ได้จริง ไม่ยาก
: เป็นสัตบุรุษได้จริง ๆ ไม่ง่าย
————————
ตามคำขอของพระเดชพระคุณพระครูวิบูลย์โพธิวัตร ก.สุทฺธสทฺโธ
#บาลีวันละคำ (4,351)
11-5-67
————————
ตามคำขอของพระเดชพระคุณพระครูวิบูลย์โพธิวัตร ก.สุทฺธสทฺโธ
…………………………….
…………………………….