นักบิน – นักบิณฑ์ (บาลีวันละคำ 4,350)
นักบิน – นักบิณฑ์
ถ้าจะเป็นนักบิน ต้องออกบิน
ถ้าจะเป็นนักบิณฑ์ ต้องออกบิณฑ์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “นักบิน” บอกไว้ว่า –
“นักบิน : (คำนาม) ผู้ขับขี่เครื่องบิน.”
แล้วคำว่า “นักบิณฑ์” มาจากไหน?
โปรดทราบว่า คำว่า “นักบิณฑ์” เป็นคำที่ชาววัดเอาคำว่า “นักบิน” มาเรียกล้อตัวเอง
คำว่า “นักบิณฑ์” อ่านว่า นัก-บิน เหมือนคำว่า “นักบิน” แต่สะกดต่างกัน คือ “นักบิณฑ์” ณ เณร สะกด ฑ มณโฑ การันต์
“บิณฑ์” ตัดมาจากคำว่า “บิณฑบาต”
“บิณฑบาต” ภาษาไทยอ่านว่า บิน-ทะ-บาด บาลีเป็น “ปิณฺฑปาต” อ่านว่า ปิน-ดะ-ปา-ตะ ประกอบด้วย ปิณฺฑ + ปาต
(๑) “ปิณฺฑ”
บาลีอ่านวา ปิน-ดะ รากศัพท์มาจาก ปิณฺฑฺ (ธาตุ = รวบรวม, ทำให้เป็นกอง) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปิณฺฑฺ + อ = ปิณฺฑ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขารวมกัน”
“ปิณฺฑ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ก้อน, ก้อนกลม, มวลที่หนาและกลม (a lump, ball, thick & round mass)
(2) ก้อนข้าว โดยเฉพาะที่ถวายพระหรือให้ทาน, ทานที่ให้เป็นอาหาร (a lump of food, esp. of alms, alms given as food)
บาลี “ปิณฺฑ” ภาษาไทยใช้เป็น “บิณฑ-” (มีคำอื่นมาสมมาสข้างท้าย) อ่านว่า บิน-ทะ- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บิณฑ– : (คำแบบ) (คำนาม) ก้อนข้าว. (ป., ส. ปิณฺฑ).”
หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
(๒) “ปาต”
อ่านว่า ปา-ตะ รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตกไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ปตฺ > ปาต)
: ปตฺ + ณ = ปตณ > ปต > ปาต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ตกไป” หมายถึง (1) การตก (fall) (2) การโยน, การขว้าง (throwing, a throw)
ปิณฺฑ + ปาต = ปิณฺฑปาต แปลตามศัพท์ว่า “การตกของก้อนข้าว” “การโยนก้อนข้าว” หมายถึง ทำอาหารให้ตกลงไปในบาตร, อาหารที่บิณฑบาตได้มา (alms-gathering, food received in the alms-bowl)
“ปิณฺฑปาต” ภาษาไทยใช้ว่า “บิณฑบาต” (ป แปลงเป็น บ, บาต ไม่มี ร)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บิณฑบาต : (คำนาม) อาหาร (ใช้แก่พระภิกษุสามเณร) เช่น รับบิณฑบาต. (คำกริยา) กิริยาที่พระภิกษุสามเณรรับของที่เขานํามาใส่บาตร, โดยปริยายหมายถึงกิริยาที่พระภิกษุสามเณรขอหรือขอร้อง เช่น เรื่องนี้ขอบิณฑบาตให้เลิกแล้วต่อกัน. (ป. ปิณฺฑปาต ว่า การตกแห่งก้อนข้าว).”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “บิณฑบาต” นี่เองที่ชาววัดเอามาเรียกตัวเองล้อคำว่า “นักบิน” ที่หมายถึง ผู้ขับขี่เครื่องบิน (และมักเล็งไปที่ ทหารอากาศ) คือเอาคำว่า “บิณฑบาต” มาเรียกลัดตัดคำเป็น “บิณฑ์” เพื่อให้ได้เสียงตรงกับคำว่า “บิน” ในคำว่า “นักบิน” และเอาคำว่า “นัก” มาเติมเข้าข้างหน้าเป็น “นักบิณฑ์” ก็จะได้เสียงตรงกับคำว่า “นักบิน” พอดี
“นักบิน” เป็นคำที่คนทั่วไปรู้จักกันดีอยู่แล้ว
“นักบิณฑ์” เป็นคำที่เขียนล้อ จะว่าล้อคำว่า “นักบิน” ก็ได้ จะว่าล้อตัวเองก็ได้ คือเมื่อเป็นพระภิกษุสามเณรต้องออกบิณฑบาต ก็คือ “นักบิณฑบาต”
ตัดคำ “นักบิณฑบาต” ให้เหลือแค่ “นักบิณฑ์” ก็อ่านว่า นัก-บิน เหมือน “นักบิน” ตัวจริงนั่นเอง
ผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุสามเณร จะลาสิกขาออกไปแล้วก็ตาม ยังดำรงสมณเพศอยู่ก็ตาม ใช้คำเรียกล้อกันว่า “นักบิณฑ์”
นี่คือที่มาที่ไปของคำว่า “นักบิณฑ์” ที่รู้กันอยู่ในหมู่ชาววัด
อย่างไรก็ตาม คำเรียกล้อว่า “นักบิณฑ์” นี้ ย่อมมีข้อคิดสะกิดใจแฝงอยู่
ข้อคิดที่ว่านี้ก็คือ พระภิกษุสามเณรที่ยังดำรงสมณเพศอยู่ต้องออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวัน แม้จะมี “อติเรกลาภ” ที่เป็นข้ออ้างตามพระวินัยให้ไม่ต้องออกบิณฑบาตได้ก็ตาม ท่านที่ยังรักษาวิถีชีวิตสงฆ์อยู่อย่างมั่นคงก็ยังคงออกบิณฑบาตตามปกติ
และถ้าศึกษาวิธีรับอติเรกลาภก็จะเห็นได้ชัดว่า แม้จะมีอติเรกลาภ ท่านก็ไม่ได้อนุญาตให้งดการออกบิณฑบาต แต่ให้ออกบิณฑบาตด้วยวิธีพิเศษ เช่น กิจนิมนต์และนิตยภัต จัดว่าเป็นอติเรกลาภ
– ได้รับกิจนิมนต์ คือ ไปบิณฑบาตเฉพาะบ้านที่นิมนต์บ้านเดียว ไม่ต้องไปที่อื่น
– ได้รับนิตยภัต คือ บ้านไหนปวารณาถวายภัตตาหารเป็นประจำ ก็ไปบิณฑบาตเฉพาะบ้านนั้นบ้านเดียว ไม่ต้องไปที่อื่น
จะเห็นได้ว่า แม้จะมีอติเรกลาภเกิดขึ้นก็ยังต้องออกบิณฑบาตอยู่นั่นเอง
ปัจจุบันนี้มีพระภิกษุประเภทหนึ่งจำนวนหนึ่งไม่ออกบิณฑบาต และการไม่ออกบิณฑบาตนั้นเห็นกันว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่เสียหาย ทั้ง ๆ ที่พระอุปัชฌาย์กล่าวปฐมนิเทศน์ย้ำเตือนตั้งแต่วันแรกที่บวชว่า –
“ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “วิถีชีวิตสงฆ์ดำรงอยู่ได้ด้วยโภชนะคือคำข้าวอันหามาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง”
ต่อไปอาจจะต้องจัดระเบียบ “นักบิณฑ์” เป็น 2 ประเภท คือ –
“นักบิณฑ์ที่ออกบิณฑ์” ประเภทหนึ่ง
และ “นักบิณฑ์ที่ไม่ออกบิณฑ์” อีกประเภทหนึ่ง
เรื่องนี้พูดเล่นสนุก ๆ ได้
แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องสนุก
ถ้ามองกว้าง มองไกลไปให้ตลอดสาย
จะเห็นความเป็นความตายของพระพุทธศาสนาด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเห็นว่าสิ่งที่ตนทำไม่ใช่เรื่องเสียหาย
: ก็ย่อมทำเรื่องเสียหายได้ทุกอย่าง
#บาลีวันละคำ (4,350)
10-5-67
…………………………….
…………………………….