บาลีวันละคำ

ปล้นสะดม (บาลีวันละคำ 4,352)

ปล้นสะดม

ไม่ใช่ “ปล้นสดมภ์” 

คำที่ออกเสียงว่า สะ-ดม เมื่อใช้เข้าคู่กับคำว่า “ปล้น” คนมักจะเขียนเป็น “ปล้นสดมภ์” 

คำนี้ ภาษาไทยใช้ว่า “ปล้นสะดม

คำว่า “ปล้นสดมภ์” ไม่มีใช้ ซึ่งก็คือเป็นคำที่เขียนผิด

ถ้าเช่นนั้น คำที่สะกดว่า “สดมภ์” เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร

สดมภ์” อ่านว่า สะ-ดม บาลีเป็น “ถมฺภ” อ่านว่า ถำ-พะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) ถมฺภฺ (ธาตุ = ยึด, ผูกติด) + (อะ) ปัจจัย

: ถมฺภฺ + = ถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ยึดไว้” (2) “สิ่งเป็นเครื่องผูก” (3) “สิ่งที่ผูกติดกัน” (คือเกาะเกี่ยวกันอยู่) 

(2) ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้, ค้ำ) + รมฺภ ปัจจัย, แปลง เป็น (ธรฺ > ถร), ลบ รฺร (คือ รฺ ที่สุดธาตุและ ต้นปัจจัย)

: ธรฺ + รมฺภ = ธรฺรมฺภ > ถรฺรมฺภ > ถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ค้ำไว้” 

(3) ถกฺ (ธาตุ = ป้องกัน) + ปัจจัย, แปลง เป็น มฺ (ถกฺ > ถมฺ), แปลง เป็น

: ถกฺ + = ถกฺพ > ถมฺพ > ถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ป้องกัน” 

ถมฺภ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(ก) ความหมายตรงตัว:

(1) หลัก, เสา (a pillar, a post) 

(2) กองหญ้า (a clump of grass) 

(ข) ความหมายเชิงอุปมา: 

(1) ความเห็นแก่ตัว, ความดื้อดึง, การหลอกลวงหรือหน้าไหว้หลังหลอก และการโกง (selfishness, obduracy, hypocrisy & deceit) 

(2) ความคงที่ (เข็นไม่ไปไขไม่เดิน), ความแข็ง, ความมึนซึมหรือเกียจคร้าน, ความดื้อรั้น (immobility, hardness, stupor, obstinacy)

บาลี “ถมฺภ” สันสกฤตเป็น “สฺตมฺภ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺตมฺภ : (คำนาม) ‘สตัมภะ, สตัมภ์, สดมภ์,’ เสาทั่วไป, คำว่า ‘สถาณุ, สถูณา, ยูป’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; ต้น, ลำหรือลำต้น (แห่งพฤกษ์หรือลดาทั่วไป); ความเขลา; ประโมหะ, ประลัย, หรือความไม่รู้สึกตัว; อินทริยโมหะเพราะความกลัว; ความปรีติ, ความเสียใจ, ฯลฯ; วิราค, สารทหรือความไม่รู้สึกตัว (ดุจองคภังค์); การระงับศักดิ์หรืออินทริยพฤติ์อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยมายามโยบาย; การห้ามหรือขัดขวาง; a post, a pillar, or a column in general; a stalk; a stem; stupidity; insensibility or loss of sensation; stupefaction from fear; joy, grief, &c.; coldness; paralysis or loss of sensation (as paralysis of limbs); the suppression of any faculty by magical means; hindrance or obstruction.”

สันสกฤต “สฺตมฺภ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สดมภ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า – 

สดมภ์ : (คำนาม) เสา, หลัก; (คำที่ใช้ในคณิตศาสตร์) ช่องในแนวตั้งสําหรับกรอกรายการต่าง ๆ เช่น ตัวเลข สัญลักษณ์ สูตร. (ส. สฺตมฺภ; ป. ถมฺภ).”

อภิปรายขยายความ :

จะเห็นได้ว่า “สดมภ์” ไม่ใช่คำธรรมดาที่มักพูดกันในชีวิตประจำวัน แต่เป็นคำศัพท์ มีความหมายเฉพาะ ใช้ในเรื่องราวเฉพาะ ไม่ใช่คำที่เอามาพูดคุยกัน และไม่ใช่คำที่ควรจะคุ้นหูคุ้นตา

แต่ทำไม เวลาเขียนคำว่า “ปล้น-” คนทั้งหลายจึงเป็นต้องสะกดเป็น “ปล้นสดมภ์” – แบบนี้ทุกทีไป ไปเอาความคิดความคุ้นที่ไหนมาอ้างว่า ถ้า “ปล้น-” ละก็ ต้องตามด้วย “สดมภ์” 

ถ้ารู้คำแปล ก็จะยิ่งแปลกประหลาด “ปล้นสดมภ์” ก็ต้องแปลว่า “ปล้นเสา” คือปล้นบ้านไหนก็ถอนเสาเรือนบ้านนั้นไป – ต้องการจะบอกอย่างนี้ใช่ไหม?

ไม่ใช่

ไม่ใช่ แล้วทำไมสะกดเป็น “ปล้นสดมภ์”? ไปได้คำว่า “สดมภ์” มาจากไหน? ถ้าเห็นคำนี้ทุกวัน เขียนอยู่ทุกวัน ก็ว่าไปอีกอย่าง คืออ้างได้ว่าเคยมือ แต่นี่วันคืนเดือนปีก็ไม่เคยเขียนคำนี้ แล้วทำไมเอาคำนี้มาเขียน

คำที่ถูกต้อง และเป็นคำง่าย ๆ สะกดตรงไปตรงมา คือ “สะดม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า – 

สะดม : (คำกริยา) ปล้นโดยใช้วิธีรมยาให้เจ้าของทรัพย์หลับสนิทไม่รู้สึกตัว, ใช้เข้าคู่กับคำ ปล้น เป็น ปล้นสะดม. (ข. สณฺฎํ).”

และพจนานุกรมฯ ก็เก็บคำว่า “ปล้นสะดม” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

ปล้นสะดม : (คำโบราณ) (คำกริยา) ปล้นโดยใช้วิธีรมยาให้เจ้าของทรัพย์หลับสนิทไม่รู้สึกตัว.”

ปล้นสะดม” เขียนง่ายกว่า “ปล้นสดมภ์” และที่สำคัญ เป็นคำที่ถูกต้องด้วย

ปล้นสดมภ์” เขียนก็ยากกว่า ซ้ำยังเป็นคำผิดอีกต่างหาก ไม่จำเป็นจะต้องเขียนผิดเลย

วิธีแก้ไขคือ หมั่นศึกษา สังเกต สำเหนียก 

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอร้องว่า ให้หมั่นเปิดพจนานุกรม

ลดนิสัย “รักง่าย” ให้น้อยลง

เห็นความสำคัญของภาษาให้มากขึ้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: วันนี้ ไทยบอกไทยด้วยกันเองยังมองหน้ากันได้

: วันหน้า ฝรั่งมาบอกไทย จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน?

#บาลีวันละคำ (4,352)

12-5-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *