บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ (บาลีวันละคำ 4,355)
บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์
แท่นประกาศความรับผิดชอบต่อหน้าที่
อ่านว่า บัน-ดุ-กำ-พน-สิ-ลา-อาด
แยกศัพท์เป็น บัณฑุ + กัมพล + ศิลา + อาสน์
(๑) “บัณฑุ”
บาลีเป็น “ปณฺฑุ” (ปัน-ดุ) รากศัพท์มาจาก ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อุ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ (ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ), ลบสระหน้า คือ อิ ที่ (ป)-ฑิ (ปฑิ > ปฑ)
: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ > ปณฺฑ + อุ = ปณฺฑุ แปลตามศัพท์ว่า “สีที่ถึงการนับว่าเป็นสีเดียวกัน” (คือเป็นแม่สี มิใช่สีผสม)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑุ” ว่า pale-red or yellow, reddish, light yellow, grey (แดงซีด หรือเหลือง, ค่อนข้างแดง, เหลืองอ่อน, เทา)
บาลี “ปณฺฑุ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บัณฑุ” (บัน-ดุ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บัณฑุ : (คำวิเศษณ์) เหลืองอ่อน, ขาวเหลือง, ซีด. (คำนาม) ช้างเผือก. (ป. ปณฺฑุ; ส. ปาณฺฑุ).”
(๒) “กัมพล”
เขียนแบบบาลีเป็น “กมฺพล” อ่านว่า กำ-พะ-ละ รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ชอบ, ติดใจ) + อล ปัจจัย, ลง ว อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (กมฺ + ว + อล) แปลง ว เป็น พ
: กมฺ + ว + อล = กมฺวล > กมฺพล แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าอันผู้คนชอบ”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “กมฺพล” ว่า ผ้ากัมพล, ผ้าขนสัตว์, ผ้าสักหลาด, ผ้ากำมะหยี่
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กมฺพล” ดังนี้ –
(1) woollen stuff, woollen blanket or garment (ผ้ากัมพล, ผ้าห่มหรือผ้าที่ทอด้วยขนสัตว์)
(2) a garment (เครื่องนุ่งห่ม)
(3) woollen (ด้ายขนสัตว์)
(4) a tribe of Nāgas (นาคจำพวกหนึ่ง)
บาลี “กมฺพล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “กัมพล” (กำ-พน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กัมพล : (คำแบบ) (คำนาม) ผ้าทอด้วยขนสัตว์. (ป.).”
(๓) “ศิลา”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สิลา” (บาลี ส เสือ, สันสกฤต ศ ศาลา) รากศัพท์มาจาก –
(1) สิลฺ (ธาตุ = สูง) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิลฺ + อ = สิล + อา = สิลา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่อยู่สูง” (หมายถึงหินที่ก่อตัวเป็นภูเขา)
(2) สิ (ธาตุ = เสพ) + ล ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ + ล = สิล + อา = สิลา แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันสัตวโลกใช้สอย” (2) “สิ่งอันผู้มีความสามารถใช้สอย”
ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศิลา” แปลว่า หิน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิลา” ว่า –
(1) a stone, rock (ศิลา, หิน)
(2) a precious stone, quartz (หินมีค่า, หินควอตซ์)
ศิลา < สิลา ในบาลียังมีอีกรูปหนึ่งเป็น “เสล” (เส-ละ)
“เสล” รากศัพท์มาจาก สิล (หิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ-(ล) เป็น เอ (สิ > เส)
: สิล + ณ = สิลณ > สิล > เสล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กองหิน” “ภูมิภาคที่มีหินอยู่มาก”
“เสล” สันสกฤตเป็น “ไศล” อ่านว่า ไส-ละ แต่ในภาษาไทยอ่านผิดจนกลายเป็นถูกว่า สะ-ไหล
สรุปว่า สิลา ศิลา เสล ไศล = หิน มาจากรากเดียวกัน
(๑) “อาสน์”
เขียนแบบบาลีเป็น “อาสน” อ่านว่า อา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง”
(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > ส, ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน) หมายถึง (1) การนั่ง, การนั่งลง (sitting, sitting down) (2) ที่นั่ง, บัลลังก์ (a seat, throne)
หมายเหตุ: “อาสน” ที่แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” เป็นการแปลตามรูปวิเคราะห์ แต่หมายถึง “ที่นั่ง” เพราะโดยปกติแม้จะนอนก็ต้องนั่งก่อน
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาสน– ๒, อาสน์, อาสนะ : (คำนาม) ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”
การประสมคำ :
๑ ปณฺฑุ + กมฺพล = ปณฺฑุกมฺพล (ปัน-ดุ-กำ-พะ-ละ) แปลว่า “ผ้ากัมพลเหลือง” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บัณฑุกัมพล” (บัน-ดุ-กำ-พน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บัณฑุกัมพล : (คำนาม) ผ้าขนสัตว์สีเหลือง. (ป. ปณฺฑุกมฺพล).”
๒ สิลา + อาสน = สิลาสน (สิ-ลา-สะ-นะ) แปลว่า “ที่นั่งอันเป็นหิน” หรือ “หินอันเป็นที่นั่ง” หรือ “แท่นหิน”
“สิลาสน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ศิลาอาสน์” (สิ-ลา-อาด)
โปรดสังเกตว่า บาลีสนธิศัพท์เป็น “สิลาสน” ไม่ใช่ “สิลาอาสน” แต่ในภาษาไทยไม่สนธิ ใช้เป็น “ศิลาอาสน์” ไม่ใช่ “ศิลาสน์”
เฉพาะคำ “ศิลาอาสน์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
๓ ปณฺฑุกมฺพล + สิลาสน = ปณฺฑุกมฺพลสิลาสน (ปัน-ดุ-กำ-พะ-ละ-สิ-ลา-สะ-นะ) แปลว่า “ที่นั่งอันเป็นหินมีสีดุจผ้ากัมพลเหลือง” หรือ “แท่นหินอันปูลาดด้วยผ้ากัมพลเหลือง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑุกมฺพลสิลาสน” ว่า a stone-seat, covered with a white Kambala blanket, forming the throne of Sakka (แท่นหินที่ปูลาดด้วยผ้ากัมพลสีขาว ใช้เป็นบัลลังก์ของท้าวสักกะ)
โปรดสังเกตว่า คำว่า “ปณฺฑุ” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า pale-red or yellow, reddish, light yellow, grey (แดงซีด หรือเหลือง, ค่อนข้างแดง, เหลืองอ่อน, เทา) แต่ที่คำว่า “ปณฺฑุกมฺพลสิลาสน” แปล “ปณฺฑุ” ว่า white (ขาว) เหตุผลมีเป็นประการใด ผู้สนใจพึงศึกษาตรวจสอบดูเทอญ
บาลี “ปณฺฑุกมฺพลสิลาสน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ : (คำนาม) แท่นหินมีสีดุจผ้ากัมพลเหลือง เป็นที่สถิตของพระอินทร์.”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์” มีคำบรรยายไว้ดังนี้ –
…………..
บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ : แท่นหินมีสีดุจผ้ากัมพลเหลือง (มีอรรถกถาว่า เหมือนผ้ารัตตกัมพลคือสีแดง, เช่น นิท.อ.๑/๔๔๔) บางทีเรียกสั้น ๆ ว่าบัณฑุกัมพลศิลา ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตั้งอยู่ที่โคนต้นปาริฉัตตก์ ซึ่งสูงร้อยโยชน์ และมีร่มเงาแผ่เป็นปริมณฑลร้อยโยชน์ เป็นทิพอาสน์ที่ประทับนั่งของพระอินทร์ ยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ สูง ๑๕ โยชน์ ตามปกติอ่อนนุ่ม เมื่อพระอินทร์ประทับนั่งจะยุบจมลงไปครึ่งองค์ เมื่อใดมีคนดีถูกข่มเหงรังแก หรือผู้ทรงศีลทรงธรรมควรได้รับความเอื้อเฟื้อ พระแท่นนี้จะแสดงอาการร้อน ทำให้พระอินทร์ทรงสอดส่อง เมื่อทรงทราบเหตุแล้ว ก็จะทรงดำเนินการช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหา แต่บางครั้ง เมื่ออาสน์ร้อนด้วยเดชแห่งศีลหรือความดีของบางบุคคล พระอินทร์อาจระแวงว่าเขาจะแข่งอำนาจจะทำให้ตนหลุดหล่นพ้นฐานะ พระอินทร์ก็อาจคิดที่จะไปข่มไปปราบเขา.
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ายังนั่งอยู่บนตำแหน่งหน้าที่
: จงอย่าปล่อยให้คนดีเดือดร้อน
#บาลีวันละคำ (4,355)
15-5-67
…………………………….
…………………………….