อัญญาณุเบกขา (บาลีวันละคำ 4,354)
อัญญาณุเบกขา
เฉยโง่
อ่านว่า อัน-ยา-นุ-เบก-ขา
ประกอบด้วยคำว่า อัญญาณ + อุเบกขา
(๑) “อัญญาณ”
เขียนแบบบาลีเป็น “อญฺญาณ” อ่านว่า อัน-ยา-นะ ประกอบขึ้นจาก น + ญาณ
(ก) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
ในที่นี้ “ญาณ” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ญ จึงแปลง น เป็น อ
(ข) “ญาณ” บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: ญา + ยุ > อน = ญาน > ญาณ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องช่วยรู้” “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้” “รู้สิ่งที่พึงรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญา
“ญาณ” ในความหมายพิเศษ หมายถึงปัญญาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างแจ่มชัดจนเกิดความสว่างไสวในดวงจิต หรือความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษถึงเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ญาณ, ญาณ– : (คำนาม) ปรีชาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ที่เกิดจากอํานาจสมาธิ, ความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษ. (ป.; ส. ชฺญาน).”
น + ญาณ ซ้อน ญ ระหว่างศัพท์, แปลง น เป็น อ
: น + ญฺ + ญาณ = นญฺญาณ > อญฺญาณ แปลว่า “ความไม่รู้” หมายถึง ความรู้ที่ผิด, ความคิดผิด, อวิชชา, ความไม่รู้จริง (wrong knowledge, false view, ignorance, untruth)
(๒) “อุเบกขา”
บาลีเป็น “อุเปกฺขา” อ่านว่า อุ-เปก-ขา รากศัพท์มาจาก –
(1) อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้) + อิกฺขา (การเสวยอารมณ์) แผลง อิ เป็น เอ
: อุป + อิกฺขา = อุปิกฺขา > อุเปกฺขา แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่เสวยอารมณ์ที่เป็นไปใกล้เวทนาสองอย่างคือสุขและทุกข์” (2) “กิริยาที่เสวยอารมณ์ที่เข้าไปใกล้สุขและทุกข์” (หมายถึงอยู่ตรงกลางระหว่างสุขและทุกข์ = ไม่สุขไม่ทุกข์)
(2) อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้) + อิกฺขฺ (ธาตุ = ดู, เห็น, กิน, เสวย) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อุป + อิกฺขฺ = อุปิกฺขฺ + อ = อุปิกฺข > อุเปกฺข + อา = อุเปกฺขา แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่เพ่งโดยเป็นกลาง” (2) “กิริยาที่เสวยอารมณ์โดยสมควร” (3) “กิริยาที่ดูโดยอุบัติ คือเห็นเสมอภาคกันไม่ตกเป็นฝ่ายไหน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุเปกฺขา” ว่า –
“looking on”, hedonic neutrality or indifference, zero point between joy & sorrow; disinterestedness, neutral feeling, equanimity; feeling which is neither pain nor pleasure (“มองเฉย”, ความไม่ยินดียินร้าย หรือการวางอารมณ์เป็นกลาง, จุดศูนย์ระหว่างความสุขกับความทุกข์; การวางเฉย, ความรู้สึกเป็นกลาง, ความสงบ; ความรู้สึกมิใช่ทุกข์มิใช่สุข)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “อุเบกขา” เป็นภาษาอังกฤษว่า –
1. equanimity; evenmindedness; neutrality; poise.
2. indifference; neutral feeling; neither pleasurable nor painful feeling.
บาลี “อุเปกฺขา” ในภาษาไทยใช้เป็น “อุเบกขา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุเบกขา : (คำนาม) ความวางใจเฉยอยู่, ความเที่ยงธรรม, ความวางตัวเป็นกลาง, เป็นข้อ ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป. อุเปกฺขา).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อุเบกขา” ไว้ว่า –
…………..
อุเบกขา :
1. ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดูอยู่ เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้าง ไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง (ข้อ ๔ ในพรหมวิหาร ๔, ข้อ ๗ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๑๐ ในบารมี ๑๐, ข้อ ๙ ในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐)
2. ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา ( = อทุกขมสุข); (ข้อ ๓ ในเวทนา ๓)
…………..
อญฺญาณ + อุเปกฺขา = อญฺญาณุเปกฺขา (อัน-ยา-นุ-เปก-ขา) แปลว่า “ความนิ่งเฉยเพราะไม่รู้”
“อญฺญาณุเปกฺขา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อัญญาณุเบกขา” คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
“อุเบกขา” ที่ถูกธรรมคือประคองจิตให้เป็นกลาง ไม่ตกอยู่ในอำนาจอคติ คือไม่แสดงอาการวิปลาสผิดทางผิดธรรม วางเฉยเพราะเห็นประจักษ์ว่าไม่ต้องกระทำเป็นอย่างอื่น ไม่มีกิจที่จะต้องทำเป็นอย่างอื่น กล่าวสั้นว่า เพราะรู้ชัดว่าเฉยไว้ถูกต้องที่สุด จึงเฉย
แต่บางคน นิ่งเฉยเพราะไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี ทำแล้วจะดีหรือเสียก็ไม่แน่ใจ
แต่ที่หนักมากก็คือ เฉยเพราะไม่รู้วิธีทำ หรือทำไม่เป็น พูดไม่ได้เพราะไม่รู้เรื่อง จึงได้แต่นิ่งเฉย คิดอะไรก็คิดไม่เห็น คิดไม่ออก สรุปว่า ทำ พูด คิดอะไรไม่เป็นสักอย่างเดียว ได้แต่นิ่งเฉย อย่างนี้คืออาการของ “อัญญาณุเบกขา” เรียกรู้กันในหมู่นักธรรมว่า “เฉยโง่” คือเฉยทุกอย่างเพราะไม่รู้อะไรสักอย่าง
ในทางธรรม “อัญญาณุเบกขา” หมายถึง นิ่งเฉยเพราะไม่รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนใบ้ นั่งนิ่ง ๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าใบ้
: คนโง่ อยู่เฉย ๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าโง่
#บาลีวันละคำ (4,354)
14-5-67
…………………………….
…………………………….