บาลีวันละคำ

เทวะตาอุยโยชะนะคาถา (บาลีวันละคำ 4,378)

เทวะตาอุยโยชะนะคาถา

บทส่งเทวดา

เขียนแบบบาลีเป็น “เทวตาอุยฺโยชนคาถา” 

อ่านว่า เท-วะ-ตา-อุย-โย-ชะ-นะ-คา-ถา

ประกอบด้วยคำว่า เทวตา + อุยฺโยชน + คาถา

(๑) “เทวตา” 

อ่านว่า เท-วะ-ตา รากศัพท์มาจาก เทว + ตา ปัจจัย

(ก) “เทว” (เท-วะ) รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + = ทิว > เทว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ” 

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา 

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังหมายถึงอีกหลายอย่าง คือ พระยม, ความตาย, สมมติเทพ, พระราชา, ท้องฟ้า, ฝน, เมฆฝน, วรุณเทพ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน) 

(ข) เทว + ตา ปัจจัย

: เทว + ตา = เทวตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นเทวดา” (condition or state of a deva) หมายถึง เทพเจ้า; เทพยดา, พระเจ้า, นางฟ้า (divinity; divine being, deity, fairy)

เทวตา” ก็คือที่เรารู้จักกันในภาษาไทยว่า “เทวดา” นั่นเอง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เทวดา : (คำนาม) ชาวสวรรค์มีกายทิพย์ ตาทิพย์ หูทิพย์ และกินอาหารทิพย์ เป็นโอปปาติกะ. (ป., ส. เทวตา).”

(๒) “อุยฺโยชน” 

อ่านว่า อุย-โย-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน ยฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ยฺ + ยุชฺ), แผลง อุ ที่ ยุ-(ชฺ) เป็น โอ (ยุชฺ > โยช)

: อุ + ยฺ + ยุชฺ = อุยฺยุชฺ + ยุ > อน = อุยฺยุชน > อุยฺโยชน แปลตามศัพท์ว่า “การประกอบขึ้น” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุยฺโยชน” ว่า inciting, instigation (การส่งเสริม, การประกอบ)

แถม :

ขอนำรูปศัพท์อื่น ๆ ที่มาจาก อุ + ยุชฺ มาเสนอไว้เป็นความรู้ประกอบดังนี้ –

(๑) อุยฺยุญฺชติ (อุย-ยุน-ชะ-ติ) เป็นรูปคำกิริยาอาขยาต กัตตุวาจก พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า to go away, depart, leave one’s house (หลีกไป, จากไป, ออกจากบ้านของตน) 

(๒) อุยฺโยเชติ (อุย-โย-เช-ติ) เป็นรูปคำกิริยาอาขยาต เหตุกัตตุวาจก พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลไว้ดังนี้ –

(1) to instigate (ส่งเสริม, ประกอบ) 

(2) to dismiss, take leave of (ไล่ออก, นำออก) 

(3) send off, let go (ส่งไป, ปล่อย)

(๓) อุยฺโยชิต (อุย-โย-ชิ-ตะ) เป็นรูปคำประกอบ ต ปัจจัย พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า instigated (ส่งเสริม, ประกอบ)

ในที่นี้ “อุยฺโยชน” ใช้ในความหมายว่า “ส่งกลับ” (send off, see off) ตรงกับที่สำนวนหนังจีนพูดว่า “ส่งแขก

(๓) “คาถา” 

อ่านว่า คา-ถา รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คา + = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” หมายถึง คำกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (a verse, stanza, line of poetry)

ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ 

คาถาบทหนึ่งจะมี 4 บาท หรือ 4 วรรค จำนวนคำแต่ละวรรคและตำแหน่งคำภายในวรรคที่จะต้องใช้เสียงสั้น-ยาว หนัก-เบา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคาถาแต่ละชนิด ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนของไทยที่กำหนดว่าคำไหนต้องสัมผัสกับคำไหน 

คาถา” ในความหมายว่า “ร้อยกรอง” นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์

คาถา” แปลว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” ความประสงค์ของการแต่งถ้อยคำให้เป็นคาถา ก็เพื่อจะได้ขับขานเป็นท่วงทำนองให้ชวนฟังกว่าการพูดธรรมดานั่นเอง

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) คาถา ๑ : (คำนาม) คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองในภาษาบาลี, อัตราของฉันท์ คือ ๔ บาท เรียกว่า คาถาหนึ่ง; ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เป็น ๑ ใน ๙ ส่วนของคัมภีร์นวังคสัตถุศาสน์. (ป.).

(2) คาถา ๒, คาถาอาคม : (คำนาม) คําเสกที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์.

เหตุที่ “คาถา” ในภาษาไทยความหมายเคลื่อนที่ไปจากเดิมน่าจะเป็นเพราะคนไทยนับถือภาษาบาลีว่าเป็นคำพระ เมื่อเห็นคำสอนที่แต่งเป็น “คาถา” มีความหมายในทางดี จึงน้อมมาเป็นกำลังใจ เดิมก็คงเอามาท่องบ่นด้วยความพอใจในความหมายด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่เมื่อนานเข้าก็ทิ้งความเข้าใจในหลักคำสอนที่มีอยู่ในถ้อยคำอันเป็น “คาถา” นั้น ๆ คงยึดถือแต่เพียงถ้อยคำหรือเสียงโดยเชื่อว่าเมื่อท่องบ่นแล้วจะเกิดผลดลบันดาลให้สำเร็จในทางนั้น ๆ คำว่า “คาถา” จึงกลายความหมายเป็นคำขลังศักดิ์สิทธิ์ไปในที่สุด

การประสมคำ :

เทวตา + อุยฺโยชน = เทวตาอุยฺโยชน (เท-วะ-ตา-อุย-โย-ชะ-นะ) แปลว่า “การส่งเทวดากลับ

เทวตาอุยฺโยชน + คาถา = เทวตาอุยฺโยชนคาถา (เท-วะ-ตา-อุย-โย-ชะ-นะ-คาถา) แปลว่า “คาถาส่งเทวดากลับ” หมายถึง บทสวดที่มีเนื้อความเชิญเทวดากลับสู่วิมานหรือภพภูมิของตนหลังจากเสร็จพิธีที่เชิญมาแล้ว

เทวตาอุยฺโยชนคาถา” เขียนแบบคำอ่านเพื่อให้อ่านง่ายเป็น “เทวะตาอุยโยชะนะคาถา

ขยายความ :

เทวะตาอุยโยชะนะคาถา” ที่โบราณาจารย์รจนาไว้ มีข้อความดังนี้ –

…………..

ทุกขัปปัตตา  จะ นิททุกขา

ภะยัปปัตตา  จะ  นิพภะยา

โสกัปปัตตา  จะ  นิสโสกา

โหนตุ  สัพเพปิ  ปาณิโน. 

(ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง

ที่ประสบทุกข์จงพ้นจากทุกข์

ที่ประสบภัยจงพ้นจากภัย

และที่ประสบโศกจงพ้นจากโศกเถิด)

เอตตาวะตา  จะ  อัมเหหิ

สัมภะตัง  ปุญญะสัมปะทัง

สัพเพ  เทวานุโมทันตุ 

สัพพะสัมปัตติสิทธิยา.

(และขอเทวดาทั้งปวงจงได้อนุโมทนา

ซึ่งบุญสมบัติอันข้าพเจ้าทั้งหลาย

ได้สร้างสมไว้แล้วนี้

เพื่อความสำเร็จแห่งสมบัติทั้งปวงเถิด)

ทานัง  ทะทันตุ  สัทธายะ

สีลัง  รักขันตุ  สัพพะทา 

ภาวะนาภิระตา  โหนตุ

คัจฉันตุ  เทวะตาคะตา.

(ขอเทวดาทั้งหลายจงให้ทาน

รักษาศีล และบำเพ็ญภาวนา

ด้วยใจศรัทธาตลอดกาลทุกเมื่อ

ทวยเทพทั้งหลายที่มาแล้วขอเชิญกลับเถิด)

สัพเพ  พุทธา  พะลัปปัตตา

ปัจเจกานัญจะ  ยัง  พะลัง

อะระหันตานัญจะ  เตเชนะ

รักขัง  พันธามิ  สัพพะโส.

(ด้วยเดชแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ถึงพร้อมด้วยพลธรรม

ด้วยเดชแห่งพลธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย

และด้วยเดชแห่งพลธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย

ขอให้ข้าพเจ้าคุ้มครองรักษาความดีไว้ได้โดยประการทั้งปวง เทอญ.)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ต้อนรับด้วยน้ำใจอันดี

เทวดาเอาสิริราศีมามอบให้

: ต้อนรับอย่างแล้งน้ำใจ

เทวดาขนเอาสิริภายในกลับไปด้วย

#บาลีวันละคำ (4,378)

7-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *