สุขี ไม่ใช่ สุขขี (บาลีวันละคำ 4,377)
สุขี ไม่ใช่ สุขขี
ข ไข่ตัวเดียว
คำที่ออกเสียงว่า สุก-ขี มักจะมีผู้สะกดเป็น “สุขขี” คือ สุข + ขึ เพราะเข้าใจว่ามีคำว่า “สุข” ที่คุ้นกันดีคำหนึ่ง แล้วตามด้วย “ขี” ซึ่งเหมือนกับเป็นสร้อยคำอีกคำหนึ่ง
โปรดทราบว่า คำนี้สะกดเป็น “สุขี” ข ไข่ตัวเดียว คือ สุข + อี = สุขี ไม่ใช่ สุข + ขี
แต่ธรรมชาติของการเปล่งเสียง “สุข” เราออกเสียงเป็น สุก ข ไข่ เป็นตัวสะกด เมื่อมี -ขี ต่อท้ายอีกพยางค์หนึ่ง จึงออกเสียงเป็น สุก-ขี ทำให้เข้าใจผิดได้ง่ายว่า มาจากคำว่า สุข + ขี ถ้าไม่มีพื้นความรู้ทางภาษาบาลีอยู่บ้างก็จะสะกดเป็น “สุขขี” (ข ไข่ 2 ตัว) ด้วยความมั่นใจ
แต่ภาษาบาลีไม่ได้สะกดอย่างนี้ แม้ที่เอามาใช้ในภาษาไทย ซึ่งมักออกเสียงกันว่า สุก-ขี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็สะกดเป็น “สุขี” ตามบาลี
หาความรู้ในบาลี :
“สุขี” บาลีอ่านว่า สุ-ขี (สุ- ไม่ใช่ สุก-) รูปคำเดิมมาจาก สุข + อี ปัจจัย
(ก) “สุข” บาลีอ่านว่า สุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ม ที่สุดธาตุ
: สุ + ขมฺ = สุขม + กฺวิ = สุขมกฺวิ > สุขม > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทนได้ง่าย”
(2) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ น ที่สุดธาตุ
: สุ + ขนฺ = สุขน + กฺวิ = สุขนกฺวิ > สุขน > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี”
(3) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ท ที่สุดธาตุ, ลดเสียง อา ที่ ขา-(ทฺ) เป็น อะ
: สุ + ขาทฺ = สุขาท + กฺวิ = สุขาทกฺวิ > สุขาท > สุขา > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี”
(4) สุขฺ (ธาตุ = สุขสบาย) + อ (อะ) ปัจจัย
: สุขฺ + อ = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลให้สุขสบาย”
(5) สุ (คำอุปสรรค = ง่าย, สะดวก) + ข (โอกาส)
: สุ + ข = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ให้โอกาสได้ง่าย”
“สุข” เราแปลทับศัพท์กันจนอาจจะไม่เคยคิดว่าหมายถึงอะไร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุข” (นปุงสกลิงค์) ไว้ดังนี้ –
(1) agreeable, pleasant, blest (เป็นที่พอใจ, รื่นรมย์, ได้รับพร)
(2) wellbeing, happiness, ease (ความผาสุก, ความสุข, ความสบาย)
(3) ideal, success (อุดมคติ, ความสำเร็จ)
(ข) สุข + อี = สุขี แปลว่า “ผู้มีความสุข” หมายถึง มีความสุข, มีความสบาย (happy, at ease) สบายดี, ไม่มีอันตราย (being well, unhurt)
“สุขี” ในบาลีเป็นได้ทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ ใช้ “สุขี” เป็นคำขยายได้ได้ทั้งชายและหญิง
เผื่อใครยังไม่เข้าใจ ขอขยายความดังนี้ –
ขอให้ผู้ชายคนเดียวมีความสุข ใช้คำว่า “สุขี”
ขอให้ผู้ชายหลายคนมีความสุข ก็ใช้คำว่า “สุขี” ได้
ขอให้ผู้หญิงคนเดียวมีความสุข ก็ใช้คำว่า “สุขี” ได้
ขอให้ผู้หญิงหลายคนมีความสุข ก็ใช้คำว่า “สุขี” ได้
“สุขี” ที่เราพอจะคุ้นกันอยู่ ก็คือคำแผ่เมตตาท่อนที่ว่า “สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ” (สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ) = จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด
หาความรู้ในภาษาไทย :
คำว่า “สุข” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุข, สุข– : (คำนาม) ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง, มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ. (คำวิเศษณ์) สบายกายสบายใจ เช่น เดี๋ยวนี้เขาอยู่สุขสบายดี. (ป., ส.).”
คำว่า “สุขี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ เก็บเป็น “สุขิน” และ “สุขี” (ข ไข่ตัวเดียว) บอกไว้ดังนี้ –
“สุขิน, สุขี : (คำที่ใช้ในบทกลอน) น. ผู้มีความสุข. (คำวิเศษณ์) สบาย. (ป. สุขี; ส. สุขินฺ).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า ที่เป็น “สุขิน” นั้น เป็นรูปคำสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สุขินฺ” (มีจุดใต้ นฺ) บอกไว้ดังนี้ –
“สุขินฺ : (คำวิเศษณ์) มีความสุขหรือปรีติ, มีความรื่นรมย์หรือมีความสุข; possessing happiness or pleasure, pleasant or happy.”
พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “สุขี” เป็น “สุขี ๆ” อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ –
“สุขี ๆ : (ภาษาปาก) (คำวิเศษณ์) มีความสุข, มีความสบาย, เช่น ขอให้สุขี ๆ ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร.”
นอกจากนี้ พจนานุกรมฯ เก็บคำที่ล้อ “สุขี” ไว้อีกคำหนึ่ง คือคำว่า “สุขา” ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจว่า คำนี้พูดลัดตัดมาจากคำว่า “สุขาภิบาล” ซึ่งในยุคสมัยหนึ่งหน่วยงานนี้มีบริการที่ประชาชนรู้จักกันดีมาก นั่นคือสร้างห้องน้ำห้องส้วมสาธารณะ ถ้าเรียกเต็มคำก็เรียกว่า “ห้องน้ำห้องส้วมของสุขาภิบาล” เรียกตัดลงมาก็เป็น “ห้องสุขาภิบาล” แล้วตัดเป็น “ห้องสุขา” สุดท้ายเหลือแค่ “สุขา” มีรูปคำไปทำนองเดียวกับ “สุขี” แต่ความหมายไปคนละทาง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุขา : (ภาษาปาก) (คำนาม) ห้องน้ำห้องส้วม, เป็นคำที่มักใช้เรียกตามสถานที่บางแห่ง เช่นโรงภาพยนตร์ สถานีรถไฟ, ห้องสุขา ก็เรียก.”
แถม :
อีกคำหนึ่งที่มักสะกดผิดทำนองเดียวกับ “สุขี” คือที่ออกเสียงว่า สุก-โข มักมีผู้สะกดเป็น “สุขโข” คือ สุข + โข
แต่ “สุขโข” จะว่าสะกดผิดก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะภาษาไทยมีคำว่า “โข” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“โข : (ภาษาปาก) (คำวิเศษณ์) มาก. (กร่อนมาจาก อักโข ซึ่งตัดมาจาก อักโขภิณี).”
และเราก็ยังพูดกันอยู่ทั่วไป เช่น ดึกโข เร็วโข โตขึ้นโข มากโข เพราะฉะนั้น “สุขโข” ก็อ้างได้ว่ามาจาก สุข + โข = สุขโข แปลว่า สุขมาก ก็ไม่ผิดกติกาใด ๆ
แต่โปรดทราบว่า ในบาลี คำนี้ไม่ใช่ “สุขโข” (ข ไข่ 2 ตัว) หากแต่เป็น “สุโข” (ข ไข่ตัวเดียว) ก็คือ “สุข” (สุ-ขะ) ใช้เป็นคำวิเศษณ์ แจกวิภัตติไปตามคำนามที่ตนขยาย
คำบาลีที่เราคุ้นกันดีคือ “สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย” (สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย) แปลว่า “ความสั่งสมขึ้นซึ่งบุญ นำสุขมาให้”
“สุข” แจกวิภัตติไปตาม “อุจฺจโย” เปลี่ยนรูปเป็น “สุโข” ข ไข่ตัวเดียว ไม่ใช่ “สุขโข”
เพราะฉะนั้น เวลาจะเขียนคำนี้ ต้องตกลงกันให้ดีว่ากำลังเขียนคำบาลีหรือเขียนคำไทย
เขียนคำไทย สะกดเป็น “สุขโข” (ข ไข่ 2 ตัว) พอกล้อมแกล้มไปได้ว่ามาจาก สุข + โข
แต่ถ้าเขียนคำบาลี ไปสะกดเป็น “สุขโข” (ข ไข่ 2 ตัว) ไม่มีสิทธิ์กล้อมแกล้มใด ๆ ทั้งสิ้น
บาลีไม่มี “สุขโข” มีแต่ “สุโข”
เหมือนกับไม่มี “สุขขี” มีแต่ “สุขี” นั่นแล
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สะกดผิดก็ทำบุญได้
: แต่ทำบุญได้ด้วย สะกดถูกด้วย ดีกว่า
#บาลีวันละคำ (4,377)
6-6-67
…………………………….
…………………………….