บาลีวันละคำ

อาวาสิก (บาลีวันละคำ 4,379)

อาวาสิก

ไม่ใช่ “เจ้าอาวาส” ไทย

อ่านว่า อา-วา-สิก

แยกศัพท์เป็น อาวาส + ณิก ปัจจัย

(๑) “อาวาส

บาลีอ่านว่า อา-วา-สะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ปัจจัย

ทบทวนหลักการทางไวยากรณ์ของ ปัจจัย :

(1) ปัจจัย หรือปัจจัยที่เนื่องด้วย (เช่น เณ ณฺย) ลงแล้ว “ลบ ณ ทิ้งเสีย” 

(2) มีอำนาจ “ทีฆะต้นธาตุ” คือธาตุที่มี 2 พยางค์ ถ้าพยางค์แรกเสียงสั้นก็ยืดเป็นเสียงยาว (อะ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู) ในที่นี้ วสฺ ธาตุ “” เสียงสั้น จึงยืดเป็น “วา” 

: อา + วสฺ = อาวสฺ + = อาวสณ > อาวส > อาวาส แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาอยู่” = มาถึงตรงนั้นแล้วก็อยู่ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาวาส” หมายถึง การพักแรม, การพักอยู่, การอาศัยอยู่, การอยู่; ที่อยู่, ที่พำนัก (sojourn, stay, dwelling, living; dwelling-place, residence)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อาวาส” ไว้ดังนี้ –

อาวาส : (คำนาม) วัด เช่น เจ้าอาวาส ที่อยู่ เช่น พุทธาวาส (พุทธ + อาวาส) คือ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หมายถึง โบสถ์ วิหาร สังฆาวาส (สังฆ + อาวาส) คือ ที่อยู่ของพระสงฆ์; ผู้ครอบครอง เช่น ฆราวาส (ฆร + อาวาส) คือ ผู้ครอบครองเรือน หรือผู้อยู่ครองเรือน. (ป., ส.).”

ตามหลักเดิมอันถือกันว่าเป็นมาตรฐานกลาง ท่านแบ่งผังอาวาสเป็น 3 เขต ตามแนวแห่งพระรัตนตรัย คือ –

1 เขตที่มีโบสถ์ วิหาร เจดีย์ สถูป พระธาตุ เรียกว่า “พุทธาวาส

2 เขตที่มีศาลาการเปรียญ หอไตร หอสวดมนต์ เรียกว่า “ธัมมาวาส

3 เขตที่เป็นกุฏิที่พระสงฆ์อยู่ เรียกว่า “สังฆาวาส

(๒) อาวาส + ณิก ปัจจัย

อาวาส + ณิก ปัจจัย, ลบ (ณิก > อิก

: อาวาส + ณิก > อิก = อาวาสิก แปลตามศัพท์ว่า “เจ้าอาวาส” “ผู้อยู่ในอาวาส” “ผู้ดำรงอยู่ในถิ่นที่อยู่” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาวาสิก” ว่า living in, residing at home, being in [constant or fixed] residence (พักอยู่ [ประจำ], พักอยู่ที่บ้าน, อยู่ในที่พัก [เป็นประจำหรือประจำที่])

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ยังขยายความต่อไปว่า “อาวาสิก” ตามปกติใช้กับภิกษุ ตรงข้ามกับ “อาคนฺตุก” (usually appld. to bhikkhus opp. āgantuka) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อาวาสิก” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

อาวาสิก : (คำนาม) ผู้ครอบครองอาวาส คือ พระสงฆ์. (ป.).”

ขยายความ :

คำว่า “อาวาสิก” นี้ นักเรียนบาลีเห็นแล้วมักจะแปลว่า “เจ้าอาวาส” 

ในภาษาไทย คำว่า “เจ้าอาวาส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

เจ้าอาวาส : (คำนาม) พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองวัด.” 

โปรดทราบว่า ในภาษาบาลี “อาวาสิก” มีความหมายตรงกันข้ามกับ “อาคนฺตุก

อาวาสิก” หมายถึง ภิกษุที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นเป็นประจำ จะเรียกว่า “พระเจ้าถิ่น” ก็ได้ ไม่ได้หมายถึงภิกษุที่มีตำแหน่งเป็น “เจ้าอาวาส” หรือสมภาร (abbot) ตามความหมายในภาษาไทย

อาคนฺตุก” คือที่ไทยเราใช้ว่า “อาคันตุกะ” หมายถึง ภิกษุที่มาจากต่างถิ่น มาพำนักอยู่ในถิ่นนั้นเป็นการชั่วคราว อยู่ในฐานะเป็นแขก

แถม :

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 กล่าวถึง “เจ้าอาวาส” เท่าที่ควรทราบดังนี้ –

มาตรา 36 วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง และถ้าเป็นการสมควรจะให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วยก็ได้

มาตรา 37 เจ้าอาวาสมีหน้าที่ ดังนี้

(1) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี

(2) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม

(3) เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์

(4) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล

มาตรา 38 เจ้าอาวาสมีอำนาจ ดังนี้

(1) ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด

(2) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด

(3) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัด หรือให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ขอขมาโทษในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาสซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เป็นเจ้าถิ่น ต้องรู้จักเสียสละ

: เป็นอาคันตุกะ ต้องรู้จักเกรงใจ

#บาลีวันละคำ (4,379)

8-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *