จันทิมา (บาลีวันละคำ 4,384)
จันทิมา
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
อ่านตรงตัวว่า จัน-ทิ-มา
“จันทิมา” เขียนแบบบาลีเป็น “จนฺทิมา” รูปคำเดิมเป็น จนฺท + มนฺตุ ปัจจัย
(๑) “จนฺท”
อ่านว่า จัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) จทิ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ, รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ, แปลงนิคหิตเป็น นฺ, ลบสระที่สุดธาตุ
: จทิ > จํทิ > จนฺทิ > จนฺท + อ = จนฺท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ยังสัตว์โลกให้พอใจ” (คือเมื่อเห็นแล้วผู้คนก็ชื่นใจ พอใจ) (2) “ผู้รุ่งเรืองด้วยสิริ” (คือมีแสงสว่างผ่องใส)
(2) ฉนฺท (ความพอใจ) + ก ปัจจัย, ลบ ก, แปลง ฉ เป็น จ
: ฉนฺท + ก = ฉนฺทก > ฉนฺท > จนฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังความพอใจให้เกิด”
“จนฺท” หมายถึง ดวงจันทร์ (the moon) คำไทยเรียก “เดือน”
บาลี “จนฺท” สันสกฤตเป็น “จนฺทฺร” (จัน-ทฺระ)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“จนฺทฺร : (คำนาม) ‘จันทร์,’ ศศิธร (อันนับเปนดาวพระเคราะห์และเทพดา); การบูร; น้ำ; ทองคำ; แววหางมยูรปักษิน; ภาคทวีปหนึ่งในจำนวนสิบแปด; มุกด์ไฟ, มุกดาอันมีรุ้งหรือสีแดง; ของชอบใจทั่วไป; เพดาน, ปิธาน; กระวานอย่างเล็ก; the moon (considered as a planet and a deity); camphor; water; gold; the eye in the peacock’s tail; one of the eighteen divisions of the continent; a pearl with a red tinge; anything giving pleasure; an awning, a canopy; small cardamoms.”
ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “จันทร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “จันทร์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “จันท์” ตามบาลี และ “จันทร” ตามสันสกฤต บอกไว้ดังนี้ –
(1) จันท์ : (คำแบบ) (คำนาม) จันทร์, ดวงเดือน. (ป.; ส. จนฺทฺร).
(2) จันทร-, จันทร์ : (คำนาม) ดวงเดือน, เรียกเทวดาองค์หนึ่งในนิยายว่า พระจันทร์, ในตำราโหราศาสตร์เป็นชื่อดาวพระเคราะห์ที่ ๒; ชื่อวันที่ ๒ ของสัปดาห์. (ส.).
(๒) “มนฺตุ” ปัจจัย
อ่านว่า มัน-ตุ เป็นปัจจัยในศัพท์จำพวก “ตัทธิต” (ตัด-ทิด) ซึ่งมีหลายประเภทด้วยกัน ตัทธิตประเภทนี้มีชื่อว่า “ตทัสสัตถิตัทธิต” (ตะ-ทัด-สัด-ถิ-ตัด-ทิด) มีปัจจัย 9 ตัว นักเรียนบาลีท่องจำกันมาว่า “วี, ส, สี, อิก, อี, ร, วนฺต, มนฺตุ, ณ” (วี-สะ-สี-อิกะ-อี-ระ-วันตุ-มันตุ-ณะ) ปัจจัยในตัทธิตประเภทนี้มีความหมายว่า “มี” (บาลีว่า “อตฺถิ” ย่อมมี) ศัพท์ที่ลงปัจจัยในตัทธิตนี้จึงแปลว่า “มี-” (มีอะไร ก็แปลไปตามศัพท์นั้น ๆ)
: จนฺท + มนฺตุ = จนฺทมนฺตุ (จัน-ทะ-มัน-ตุ) แปลตามศัพท์ว่า “มีดวงจันทร์”
“จนฺทมนฺตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) คือ “สิ” วิภัตติ, แปล อะ ที่ (จนฺ)-ท เป็น อิ (จนฺท > จนฺทิ), แปลง นฺตุ กับ สิ เป็น อา
: จนฺทมนฺตุ + สิ = จนฺทมนฺตุสิ > จนฺทิมนฺตุสิ > จนฺทิมา แปลตามความหมายเดิมว่า “ผู้นำความเย็นมาให้เหมือนการบูร” หมายถึง ดวงจันทร์
ขยายความ :
“จนฺท” คือ ดวงจันทร์
ลงปัจจัยเปลี่ยนรูปเป็น “จนฺทิมา” ก็ยังคงหมายถึงดวงจันทร์นั่นเอง
“จนฺทิมา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “จันทิมา”
น่าประหลาดที่คำว่า “จันทิมา” มีใช้ มีพูด มีเขียนในภาษาไทยมานาน แต่ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำที่เราต้องการ แต่ยังไม่มี
ช่วยกันสร้างให้มีได้ไม่ยาก
: คนที่เราต้องการ แต่ยังไม่มี
ยากที่จะช่วยกันสร้างให้มีขึ้นมาได้
#บาลีวันละคำ (4,384)
13-6-67
…………………………….
…………………………….