พระมหา (บาลีวันละคำ 4,385)
พระมหา
สมณศักดิ์ที่มักลืม
อ่านว่า พฺระ-มะ-หา
ประกอบด้วยคำว่า พระ + มหา
(๑) “พระ”
มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ดังนี้ –
(๑) น. ( = คำนาม) คำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์ เช่น วัดนี้มีพระกี่รูป พระลงโบสถ์, พระพุทธรูป เช่น ชักพระ ไหว้พระในโบสถ์, พระพุทธเจ้า หรือเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น เมืองพระ คำพระ พระมาตรัส, ชื่อวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า วันพระ
(๒) น. พระเจ้า, พระเยซู, (ตามที่คริสต์ศาสนิกชนในเมืองไทยใช้อนุโลมเรียก) เช่น พระลงโทษ แม่พระ
(๓) น. นักบวช เช่น พระไทย พระแขก พระฝรั่ง พระจีน พระญวน
(๔) น. ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง
๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิรุณ
๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์
๓. สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี
๔. ภิกษุ เช่น พระสมศักดิ์
๕. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ
(๕) น. อิสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา
(๖) น. บรรดาศักดิ์ข้าราชการสูงกว่าหลวง ต่ำกว่าพระยา เช่น พระสารประเสริฐ พระธรรมนิเทศทวยหาญ, ใช้ประกอบหน้านามพระสนม เช่น พระอินทราณี พระสุจริตสุดา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(๗) น. โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีเมตตากรุณาทรงคุณงามความดีเหมือนพระ เช่น ใจพระ พ่อแม่เป็นพระของลูก.
(๘) (คำที่ใช้ในบทกลอน) (สรรพนาม) คำใช้แทนผู้เป็นใหญ่ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น เมียเห็นว่าเงาะนี้มีความรู้ พระอย่าได้ลบหลู่ว่าชั่วช้า (สังข์ทอง), หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ เช่น พระเสด็จโดยแดนชล (กาพย์เห่เรือ).
ในที่นี้คำว่า “พระ” ใช้ตามความหมายในข้อ (๑)
(๒) “มหา”
อ่านว่า มะ-หา รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ “มหันต” เปลี่ยนรูปเป็น “มหา” เพราะเข้าสมาสกับคำอื่น แต่คำนั้นถูกตัดออกไป คงเป็น “มหา” แม้จะไม่ปรากฏคำอื่นต่อท้าย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) มหา ๑ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, ยิ่งใหญ่, มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส บางทีก็ลดรูปเป็น มห เช่น มหรรณพ มหัทธนะ มหัศจรรย์.
(2) มหา ๒ : (คำนาม) สมณศักดิ์ที่ใช้นำหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไป.
ในที่นี้ “มหา” ใช้ในความหมายตามข้อ (2)
“มหา” ที่ใช้นำหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป คำเรียกเป็นทางการว่า “พระมหา” แต่เวลาเรียกขานกันมักเรียกเฉพาะ “มหา” คำเดียว เช่น มหาย้อย
พระ + มหา = พระมหา แปลว่า “พระภิกษุที่เป็นมหา”
ขยายความ :
คำว่า “พระมหา” มีผู้อธิบายว่า คำเต็มคือ “พระมหาชาติ” ขยายความว่า ชาดกที่เป็นเรื่องสำคัญในมหานิบาตชาดกมี 10 เรื่อง คือ (1) เตมิยชาดก (2) มหาชนกชาดก (3) สุวัณณสามชาดก (4) เมนิราชชาดก (5) มโหสถชาดก (6) ภูริทัตตชาดก (7) จันทกุมารชาดก (8 ) นารทชาดก (9) วิธุรชาดก (10) เวสสันดรชาดก
ทั้ง 10 เรื่องนี้เรียกว่า “มหาชาติ” ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเป็นเรื่องที่อยู่ในกลุ่ม “มหานิบาต” ก็ได้ เฉพาะเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องที่มีผู้นิยมสดับตรับฟังกันมาก จึงเป็นเรื่องที่โดดเด่นที่สุด จนถึงเมื่อพูดว่า “มหาชาติ” ก็เข้าใจกันว่าหมายถึงเวสสันดรชาดก การมีเทศน์เรื่องเวสสันดรชาดกก็เรียกว่า มีเทศน์มหาชาติ
พระมหากษัตริย์ในสมัยก่อนทรงมีพระราชศรัทธาสดับเทศน์มหาชาติซึ่งต้นฉบับเป็นภาษาบาลี พระภิกษุที่เรียนบาลีจนมีความรู้แตกฉานสามารถนำเรื่องมหาชาติไปเทศน์ถวายได้ ก็โปรดตั้งสมณศักดิ์ให้เป็น “พระมหาชาติ” มีความหมายว่า พระที่รู้ภาษาบาลีสามารถเทศน์เรื่องมหาชาติได้
ต่อมา จะเป็นเพราะนิยมเรียกกันสั้น ๆ หรือเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่า “ชาติ” หายไป เหลือแต่ “พระมหา” และถือเป็นประเพณีสืบมาว่า พระภิกษุที่เรียนบาลีสอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป จะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระมหา”
ที่ว่ามานี้ว่าตามที่ได้สดับมา ข้อเท็จจริงเป็นประการใดยังไม่พบหลักฐานที่เป็นเอกสารสามารถเชื่อถืออ้างอิงได้ ขอนักเรียนบาลีและผู้สนใจทั้งปวงจงสืบค้นดูเถิด
แถม :
เมื่อพูดถึงสมณศักดิ์ เรามักจะมองไปที่พระราชาคณะตั้งแต่ชั้นสามัญขึ้นไป ที่เรียกกันว่า “เจ้าคุณ” ไม่มีใครนึกถึง “พระมหา” ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ด้วยเช่นกัน
ในหมู่สมณศักดิ์ด้วยกัน “พระมหา” นับเป็นสมณศักดิ์ที่ออกจะอาภัพ เพราะไม่มีใครนึกถึงว่าเป็นสมณศักดิ์
ใครที่คิดจะให้ยกเลิกสมณศักดิ์ คงต้องทบทวนใหม่ เพราะถ้ายกเลิกสมณศักดิ์ ก็ต้องยกเลิก “พระมหา” ด้วย ซึ่งจะต้องกระทบกระเทือนไปถึงค่านิยมเรียนบาลีไม่น้อยทีเดียว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: “พระมหา” พระราชาทรงตั้งทุกปี
: ความรู้พระบาลีต้องเรียนเอาเองทุกวัน
#บาลีวันละคำ (4,385)
14-6-67
…………………………….
…………………………….