มหาเถรสมาคม (บาลีวันละคำ 1,009)
มหาเถรสมาคม
อ่านว่า มะ-หา-เถ-ระ-สะ-มา-คม
ประกอบด้วย มหา + เถร + สมาคม
(๑) “มหา”
คำเดิม “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) แปลว่า มาก, ใหญ่, ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, สำคัญ, เป็นที่นับถือ
(๒) “เถร”
บาลีอ่านว่า เถ-ระ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มั่นคง” “ผู้ยังคงอยู่” “ผู้น่าสรรเสริญยกย่อง” หมายถึงพระเถระ, พระผู้ใหญ่, พระภิกษุผู้มีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไป; ผู้เป็นพระเถระ, ผู้แก่, ผู้เฒ่า, ผู้ใหญ่
ในพระไตรปิฎกแสดงคุณสมบัติของภิกษุที่สมควรได้นามว่า “เถร” ไว้ 4 ประการ คือ :
(1) มีศีลาจารวัตรอันงาม
(2) เป็นพหูสูต รอบรู้พระธรรมวินัย
(3) ทรงสมาธิ (ตามหลักว่าถึงขั้นได้ฌาน)
(4) เป็นอิสระจากกิเลส
ภิกษุผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้แม้อายุน้อย ก็ได้นามว่า “ธรรมเถร” (ผู้เป็นเถระโดยธรรม) ภิกษุที่อายุพรรษามาก แต่พร่องคุณสมบัติเช่นนี้ ท่านเรียกว่า “สมมุติเถร” (ผู้เป็นเถระโดยสมมุติ)
มหา + เถร = มหาเถร แปลว่า พระเถระผู้ใหญ่
ในภาษาไทย ถ้าไม่มีคำอื่นต่อท้าย และต้องการให้อ่านว่า มะ-หา-เถ-ระ ก็เขียนว่า “มหาเถระ” (ประวิสรรชนีย์ที่ ร)
(๓) “สมาคม”
บาลีอ่านว่า สะ-มา-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก สํ > สม ( = พร้อมกัน, รวมกัน) + อา ( = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + คม (ธาตุ = ไป, ถึง)
: สํ > สม + อา + คม = สมาคม แปลตามศัพท์ว่า “มาพร้อมกัน” “มารวมกัน” (คม” แปลว่า “ไป” อา + (คำอุปสรรค “กลับความ”) จาก “ไป” กลายเป็น “มา”)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “สมาคม” ไว้ดังนี้ :
(1) การประชุม, การเข้าร่วมพวกร่วมคณะ, การคบค้า.
(2) แหล่งหรือที่ประชุมของบุคคลหลายคนมาร่วมกันด้วยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์บางประการ เช่น เข้าสมาคม สมาคมศิษย์เก่า.
(3) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) นิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อกระทําการใด ๆ อันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกันและมิใช่เป็นการหาผลกําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน สมาคมต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. (ป., ส.).
(4) คบค้า, คบหา, เช่น อย่าสมาคมกับคนพาล ให้สมาคมกับนักปราชญ์.
ในที่นี้คำว่า “สมาคม” มีความหมายตามนัยแห่งข้อ (2)
มหาเถร + สมาคม = มหาเถรสมาคม แปลตามศัพท์ว่า “ที่ประชุมแห่งพระมหาเถระ”
คำว่า “มหาเถรสมาคม” เป็นถ้อยคำที่ใช้ครั้งแรกในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 อันตราขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
“มหาเถรสมาคม” ในปัจจุบันเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย ทำหน้าที่คล้ายๆ คณะรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ไทยตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
พุทธภาษิต :
คุนฺนญฺเจ ตรมานานํ
ชิมฺหํ คจฺฉติ ปุงฺคโว
สพฺพา ตา ชิมฺหํ คจฺฉนฺติ
เนตฺเต ชิมฺหํ คเต สติ.
เอวเมว มนุสฺเสสุ
โย โหติ เสฏฺฐสมฺมโต
โส เจ อธมฺมํ จรติ
ปเคว อิตรา ปชา.
เมื่อฝูงโคข้ามไปอยู่
ถ้าโคผู้นำฝูงไปคด
โคเหล่านั้นย่อมไปคดทั้งหมด
ในเมื่อโคผู้นำไปคด (ก็ย่อมเป็นเช่นนั้นเอง)
ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ
ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรม
คนนอกนี้ก็จะประพฤติอธรรมเหมือนกัน.
(อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๗๐ หน้า ๙๘)
: นำตรง ตามตรง
: นำคด ตามคด
21-2-58