กัลปนา (บาลีวันละคำ 1,007)
กัลปนา
อ่านว่า กัน-ละ-ปะ-นา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กัลปนา : (คำกริยา) เจาะจงให้. (คำนาม) ที่ดินหรือสิ่งอื่นเช่นอาคารซึ่งเจ้าของอุทิศผลประโยชน์ให้แก่วัดหรือศาสนา; ส่วนบุญที่ผู้ทําอุทิศให้แก่ผู้ตาย. (ส.; ป. กปฺปนา).”
(ส.; ป. กปฺปนา) – ในวงเล็บ หมายความว่า “กัลปนา” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “กปฺปนา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“กลฺปน : (คำนาม) การตัด; การทำ; การผูก, การแต่ง, การรจนา; การประดับหรือตกแต่ง; กรรไกร; อนุมาน; cutting; making; manufacturing; composing, inventing, or making a tale, etc.; decorating or caparisoning (as an elephant); a scissors or shears; inference.”
ในบาลี “กปฺปนา” (กับ-ปะ-นา) รากศัพท์มาจาก กปฺปฺ ธาตุ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กปฺปฺ + ยุ > อน = กปฺปน + อา = กปฺปนา
กปฺปฺ ธาตุ ท่านว่ามีความหมายหลายอย่าง คือ ตัด, พินาศ, กำหนด, วิตก, คิด, สามารถ, จัดการ, จัดแจง, เริ่มต้น, เริ่มงาน, วิธี
ความหมายที่ประสงค์ในที่นี้คือ สามารถ, จัดการ, จัดแจง
“กปฺปนา” ตามรากศัพท์จึงหมายถึง การทำให้สำเร็จผลตามที่ต้องการ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กปฺปนา” (รูปศัพท์ชั้นต้นคือ “กปฺปน”) ไว้ดังนี้ :
(1) the fixing of a horse’s harness, harnessing, saddling (การจัดใส่เครื่องเทียมม้า, การใส่อานม้า)
(2) procuring, making (การจัดหา, การกระทำ)
(3) (คุณศัพท์) trimmed, arranged with (ประดับ, จัดแจง)
ความหมายเหล่านี้ ถ้าตีความให้เข้ากับความหมายในภาษาไทย (ตาม พจน.54 ข้างต้น) ก็น่าจะตรงกับความหมายตามข้อ (2)
คำว่า procure (procuring) พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลว่า –
(1) จัดหา, หาได้, เอา, เอามาได้
(2) นำมาซึ่ง
สรุปความ (แบบลากเข้าความ) ว่า กปฺปน > กลฺปน > กัลปนา คือ “ผลประโยชน์ที่จัดหาเอามาให้” สอดคล้องกับความหมายในภาษาไทยที่ว่า
(1) เจาะจงให้.
(2) ที่ดินหรือสิ่งอื่นเช่นอาคารซึ่งเจ้าของอุทิศผลประโยชน์ให้แก่วัดหรือศาสนา.
(3) ส่วนบุญที่ผู้ทําอุทิศให้แก่ผู้ตาย.
เมื่อเอ่ยถึง “กัลปนา” มักพูดกันว่า “ที่กัลปนา” เนื่องจากเดิมนั้น “กัลปนา” มักได้จากค่าเช่าที่ดินเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกที่ดินนั้นว่า “ที่กัลปนา” ความเป็นจริง “กัลปนา” หมายถึงผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดิน ไม่ใช่หมายถึงตัวที่ดิน
สรุปว่า “กัลปนา” หมายถึง ผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินหรืออาคาร (เช่นค่าเช่า) ซึ่งเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์ยกถวายให้วัด (ถวายให้เฉพาะผลประโยชน์ แต่สิทธิทั้งปวงในที่ดินหรืออาคารนั้นยังคงเป็นของเจ้าของโดยสมบูรณ์) ตามนัยนี้ ผลประโยชน์อันเกิดจากทรัพย์สินหรือการประกอบการอื่นๆ ก็สามารถถวายเป็น “กัลปนา” ได้ เช่น เจ้าของรถแท็กซี่มีรถหลายคันยกค่าเช่ารถแท็กซี่คันหนึ่งถวายเป็นกัลปนา หรือเจ้าของบริษัทอุทิศกำไรสุทธิ 3% จากการประกอบการถวายเป็นกัลปนา เป็นต้น
คำว่า “กัลปนา” หรือ “ที่กัลปนา” มักพูดคู่กับ “ที่ธรณีสงฆ์” (ดู “ธรณีสงฆ์”)
: ดอกเบี้ย ใช้ได้แค่ชีวิตนี้เป็นทุน
: ดอกบุญ ใช้เป็นทุนไปได้ถึงปรโลก
19-2-58