อาณาประโยชน์ (บาลีวันละคำ 4,393)
อาณาประโยชน์
แล้วแต่จะโปรดว่าเป็นของใคร
อ่านว่า อา-นา-ปฺระ-โหฺยด
ประกอบด้วยคำว่า อาณา + ประโยชน์
(๑) “อาณา”
เป็นคำบาลี อ่านตรงตัวว่า อา-นา รากศัพท์มาจาก อาณฺ (ธาตุ = ส่งไป) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อาณฺ + อ = อาณ + อา = อาณา แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องส่งไป” ขยายความว่า “ส่งคำสั่งไปประกาศให้รู้และให้ปฏิบัติตาม” หมายถึง คำสั่ง, ข้อบังคับ, การบังคับบัญชา, การสั่ง, อำนาจ (order, command, authority)
“อาณา” สันสกฤตเป็น “อาชฺญา” อ่านว่า อาด-ยา (เสียงที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดคือ อาด-เชีย) เอามาใช้ในภาษาไทยจึงมักออกเสียงตามสะดวกลิ้นไทยว่า อาด-ชะ-ยา
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อาชฺญา : (คำนาม) คำสั่ง, บัญชา; an order, a command.”
นอกจากปรับเสียงแล้วเรายังปรับรูปเป็น “อาญา” อีกรูปหนึ่ง ในภาษาไทยจึงมีใช้ทั้ง “อาณา” “อาชญา” และ “อาญา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายแต่ละคำไว้ดังนี้ –
(1) อาณา : (คำนาม) อำนาจปกครอง เช่น อาณาบริเวณ. (ป.; ส. อาชฺญา).
(2) อาชญา : (คำนาม) อำนาจ; โทษ (มักใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาชญา. (ส.; ป. อาณา).
(3) อาญา : (คำนาม) อำนาจ; โทษ (มักใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาญา. (ป. อาณา; ส. อาชฺญา).
(๒) “ประโยชน์”
บาลีเป็น “ปโยชน” อ่านว่า ปะ-โย-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ยุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ยุ-(ชฺ) เป็น โอ (ยุชฺ > โยช), แปลง ยุ ปัจจัยเป็น อน (อะ-นะ)
: ป + ยุชฺ = ปยุชฺ > ปโยช + ยุ > อน = ปโยชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงประกอบ”
“ปโยชน” ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เข้าใจกันในภาษาไทย คือหมายถึง –
(1) การประกอบการ, ธุรกิจ (undertaking, business)
(2) การแต่งตั้ง, การกำหนด (appointment)
(3) กฎ, คำสั่ง, ข้อห้าม (prescript, injunction)
(4) ความประสงค์, การประยุกต์ใช้, การใช้ให้เป็นประโยชน์ (purpose, application, use)
บาลี “ปโยชน” สันสกฤตเป็น “ปฺรโยชน” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรโยชน : (คำนาม) ‘ประโยชน์’, เหตุ; อวกาศหรือโอกาศ; มูล; การย์; ทรัพย์หรือพัสดุ; ความมุ่งหมาย, จินดาหรืออุบายในใจ cause; occasion; origin; purpose; object; intention; design.”
ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประโยชน์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประโยชน์ : (คำนาม) สิ่งที่มีผลใช้ได้ดีสมกับที่คิดมุ่งหมายไว้, ผลที่ได้ตามต้องการ, สิ่งที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณ, เช่น ประโยชน์ของการศึกษา ประโยชน์ของโรงเรียน. (ส. ปฺรโยชน; ป. ปโยชน).”
อาณา + ประโยชน์ = อาณาประโยชน์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาณาประโยชน์ : (คำนาม) ผลประโยชน์ส่วนตัวจากการที่ตนมีอำนาจปกครอง.”
แถม :
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “อาณาประโยชน์” เป็นอังกฤษว่า (personal, public) benefit
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล benefit เป็นบาลี ดังนี้:
(1) upakāra อุปการ (อุ-ปะ-กา-ระ) = ความช่วยเหลือเกื้อกูล
(2) anuggaha อนุคฺคห (อะ-นุก-คะ-หะ) = เอื้อเฟื้อ, ช่วยเหลือ
(3) attha อตฺถ (อัด-ถะ) = สิ่งที่ต้องการ
(4) hita หิต (หิ-ตะ) = สิ่งที่เกื้อกูล
(5) phala ผล (ผะ-ละ) = สิ่งที่ได้รับ
(6) payojana ปโยชน (ปะ-โย-ชะ-นะ) = ประโยชน์
…………..
ดูก่อนภราดา!
อำนาจ ทำให้เป็นบัณฑิตก็ได้ ทำให้เป็นคนพาลก็ได้ –
: บัณฑิตแสวงหาอำนาจเพื่อประโยชน์ปวงชน
: คนพาลแสวงหาอำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตน
#บาลีวันละคำ (4,393)
22-6-67
…………………………….
…………………………….