บาฬี (บาลีวันละคำ 4,392)
บาฬี
ฬ จุฬา มาอย่างไร
คำว่า “บาลี” (-ลี ล ลิง) ปัจจุบันสะกดอย่างนี้ พึงทราบว่าเดิมสะกดเป็น “บาฬี” (-ฬี ฬ จุฬา)
ภาษาไทย “บาลี” หรือ “บาฬี” ภาษาบาลีเป็น “ปาลิ” และ “ปาฬิ”
ภาษาไทย บ ใบไม้, ภาษาบาลี ป ปลา
ภาษาไทย สระ อี, ภาษาบาลี สระ อิ
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีคำว่า “ปาลิ” บอกความหมายว่า “บาลี, พระพุทะพจน์” แต่ไม่แสดงรากศัพท์ไว้ บอกให้ดูที่ “ปาฬิ ๒”
ที่ “ปาฬิ ๒” หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ฯ แสดงรากศัพท์ไว้ดังนี้ –
(1) ปาลฺ (ธาตุ = รักษา) + อิ ปัจจัย, แปลง ล เป็น ฬ
: ปาลฺ + อิ = ปาลิ > ปาฬิ แปลตามศัพท์ว่า “ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ไว้”
(2) ปา (ธาตุ = รักษา) + ฬิ ปัจจัย
: ปา + ฬิ = ปาฬิ แปลตามศัพท์ว่า “ภาษาที่รักษาเนื้อความในศัพท์บาลีที่กล่าวถึงปริยัติธรรมไว้”
(3) ปาฬิ (ขอบ, แนว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: ปาฬิ + ณ = ปาฬิณ > ปาฬิ แปลตามศัพท์ว่า “ภาษาที่เปรียบเหมือนเขื่อนใหญ่ที่มั่นคงของบึงใหญ่เพื่อรักษาน้ำภายในไว้”
(4) ป (แทนศัพท์ว่า “ปกฏฺฐ” = ยิ่งใหญ่, สำคัญ) + อาฬิ (ถ่องแถว)
: ป + อาฬิ = ปาฬิ แปลตามศัพท์ว่า “ถ่องแถวแห่งวจนประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่” (วจนประพันธ์นั้นชื่อว่ายิ่งใหญ่ (1) เพราะให้รู้ความหมายแห่งศีลเป็นต้นที่ยิ่งใหญ่ และ (2) เพราะพระพุทธเจ้าเป็นต้นผู้ยิ่งใหญ่ตรัสไว้)
ขยายความ :
๑ คำว่า “ปาฬิ” (ฬ จุฬา) เป็นคำเดิมในศัพท์บาลี คัมภีร์รุ่นเก่าเขียนเป็น “ปาฬิ” จนมีคำเรียก “ฬ” ว่า ฬ บาฬี แต่ต่อมาได้ชำระแก้ไขเป็น “ปาลิ” (ล ลิง) อย่างไรก็ตาม นักภาษายอมรับว่าคำนี้ใช้ได้ทั้ง “ปาฬิ” และ “ปาลิ” ปัจจุบันนี้สำนักวิชาการบางแห่งยืนยันที่จะใช้ “ปาฬิ” เป็นหลักในเอกสารของสำนัก
ในภาษาไทยนิยมใช้เป็น “บาลี” (บา– บ ใบไม้ –ลี ล ลิง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บาลี : (คำนาม) ภาษาที่ใช้เป็นหลักในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท; คัมภีร์พระไตรปิฎก, พุทธพจน์, เรียกว่า พระบาลี. (ป., ส. ปาลิ).”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “บาฬี” ไว้
๒ “บาลี” ในภาษาไทยมีความหมาย 2 อย่าง ตามที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายไว้ ดังนี้ –
1. “ภาษาอันรักษาไว้ซึ่งพุทธพจน์”, ภาษาที่ใช้ทรงจำและจารึกรักษาพุทธพจน์แต่เดิมมา อันเป็นหลักในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือกันว่าได้แก่ภาษามคธ
2. พระพุทธวจนะ ซึ่งพระสังคีติกาจารย์รวบรวมไว้ คือ พระธรรมวินัยที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ประชุมกันรวบรวมจัดสรรให้เป็นหมวดหมู่ในคราวปฐมสังคายนา และรักษาไว้ด้วยภาษาบาลี สืบต่อกันมาในรูปที่เรียกว่าพระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาต้นเดิม ที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาเถรวาท, พุทธพจน์, ข้อความที่มาในพระไตรปิฎก;
ในการศึกษาพระพุทธศาสนา มีประเพณีที่ปฏิบัติกันมาในเมืองไทย ให้แยกคำว่า “บาลี” ในความหมาย ๒ อย่างนี้ ด้วยการเรียกให้ต่างกัน คือ ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ 1. ให้ใช้คำว่า ภาษาบาลี (หรือ ศัพท์บาลี คำบาลี หรือบาลี) แต่ถ้าหมายถึงบาลีในความหมายที่ 2. ให้ใช้คำว่า พระบาลี.
…………….
สรุปว่า “บาลี” หรือ “บาฬี” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –
1 ภาษาบาลี
2 คัมภีร์พระไตรปิฎก
และสรุปว่า ไปเห็นที่ไหนสะกดคำนี้เป็น “ปาฬิ” หรือ “บาฬี” ฬ จุฬา ก็อย่าแปลกใจ และอย่าเพิ่งไปกล่าวหาสะกดไม่ตรงกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พึงเข้าใจว่าเป็นการสะกดตามหลักการของสำนักนั้น ๆ หรือของบุคคลนั้น ๆ ที่ว่าขอใช้ ฬ จุฬา ตามรูปคำเก่า
แถม :
อักษร ฬ จุฬา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ฬ : พยัญชนะตัวที่ ๔๒ เป็นพวกอักษรตํ่า มักใช้ในคําไทยที่มาจากภาษาบาลี เช่น กีฬา จุฬา นาฬิกา, ตัว ฬ นี้ ในภาษาสันสกฤตไม่มีใช้ ในภาษาบาลีมีใช้แต่ที่เป็นตัวตามหลัง เช่น จุฬา = มวยผม กีฬา = เล่น เขฬะ = นํ้าลาย, ในภาษาไทย แต่เดิมมีที่ใช้บ้าง เช่น ฬา (สัตว์) ฬ่อ (สัตว์) บาฬี บัดนี้ใช้เป็น ลา ล่อ บาลี หมดแล้ว ยังคงอยู่ก็แต่ที่ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กน เช่น ทมิฬ ปลาวาฬ.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่ เป็นดังนี้ –
“ฬ [ลอ] : พยัญชนะตัวที่ ๔๒ เรียกว่า ฬอ จุฬา เป็นอักษรต่ำใช้เป็นพยัญชนะต้น และเป็นตัวสะกดในมาตรากนหรือแม่กน เช่น ว่าวจุฬา ทมิฬ ปลาวาฬ.”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ
: เขียนให้ดีที่สุดเป็นเรื่องจริง
#บาลีวันละคำ (4,392)
21-6-67
…………………………….
…………………………….