บาลีวันละคำ

คำบูชาพระวิษณุกรรม (บาลีวันละคำ 4,394)

คำบูชาพระวิษณุกรรม

จะทำอย่างไรกันดีกับคำบาลีที่แปลไม่ได้

ผู้เขียนบาลีวันละคำไปเห็นป้าย “คำบูชาพระวิษณุกรรม” มีถ้อยคำที่เจตนาจะให้เป็นคำบาลี เห็นว่าแปลกดีจึงขอนำมาเสนอเป็นบาลีวันละคำ

คำบูชาพระวิษณุกรรม” (ตามภาพประกอบ) มีข้อความดังนี้ –

…………..

คำบูชาพระวิษณุกรรม

อะหังวะโต

พระวิษณุเดโช

อะโตวะหัง

นิติวะหัง

ลาภังวะโส

…………..

อภิปรายขยายความ :

โปรดสังเกตว่า มีคำไทยแทรกอยู่ด้วย คือ “พระวิษณุเดโช” บอกให้รู้ว่าคำบูชานี้เป็นบาลีแบบไทย ๆ

คำอื่น ๆ รูปร่างเป็นคำบาลี ยกออกมาเท่าที่ตาเห็นและพอจะแปลได้มีดังนี้ –

(๑) “อะหัง” เขียนแบบบาลีเป็น “อหํ” แปลว่า ข้าพเจ้า (I) 

(๒) “นิติ” ตรงกับรูปคำไทย คำนี้บาลีเป็น “นีติ” (นี– สระ อี) แปลว่า การนำไป, การแนะนำ, กฎ, ข้อบังคับ, แบบแผน, การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การกระทำที่เหมาะที่ควร, การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน (guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity)

(๓) “ลาภัง” เขียนแบบบาลีเป็น “ลาภํ” แปลว่า การรับ, การได้, การได้มา, กำไร, สิ่งที่ได้มา, สมบัติ (receiving, getting, acquisition, gain, possession) เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า “ลาภ

(๔) “วะโส” เขียนแบบบาลีเป็น “วโส” แปลว่า กำลัง, อำนาจ, การควบคุม, อิทธิพล (power, authority, control, influence)

ขอย้ำว่า ที่แปลนี้ แปลตามรูปศัพท์ที่ตาเห็น แต่ผู้คิดคำบูชาเจตนาจะให้มีความหมายว่าอย่างไรไม่อาจทราบได้

คำอื่นนอกนั้นแปลไม่ได้ ที่พอเห็นเจตนาก็คือ “อะหังวะโต” กับ “อะโตวะหัง” เจตนาจะสลับคำกัน แต่ “อะหังวะโต” กับ “อะโตวะหัง” เจตนาจะให้มีความหมายว่าอย่างไรไม่อาจทราบได้

รวมความว่า “คำบูชาพระวิษณุกรรม” ไม่อาจทราบได้ว่าเจตนาจะให้มีความหมายว่าอย่างไร แต่ดูแล้วน่าจะไม่มีความหมายเกี่ยวกับพระวิษณุกรรม

ที่พอจะเดาได้ก็คือวรรคสุดท้าย คือ “ลาภังวะโส” หมายถึง ขอให้มีลาภ มีอำนาจ

…………..

ปัญหาคือ จะทำอย่างไรดีกับคำบาลีที่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ซึ่งเท่าที่สังเกตคำบาลีแบบนี้มีทั่วไปหมด ไม่ใช่แห่งเดียว

น่าศึกษาว่า คนที่กำหนดข้อความคำบูชาไปเอาข้อความนั้นมาจากไหน? 

ถ้าตอบว่า ไปเอาจากหนังสือหรือตำราที่นั่นที่โน่น ก็น่าศึกษาต่อไปว่า ข้อความในหนังสือหรือตำรานั้น ๆ ใครเป็นคนคิดขึ้นมา มีเหตุผลอย่างไรจึงคิดประดิษฐ์คำอย่างนั้นอย่างนี้?

หรือว่าเป็นเพียงการลอกตามกันมา จำตามกันมา โดยที่ทั้งผู้ลอกและผู้จำก็ไม่ได้ศึกษาตรวจสอบให้ได้ข้อมูลหลักฐานที่ถูกต้องแท้จริง?

บ้านเรามีการเรียนบาลีกันทั่วไป สนับสนุนการเรียนบาลีกันอย่างเข้มแข็ง เราไม่คิดจะเรียนบาลีเพื่อเอาความรู้มาช่วยกันป้องกันแก้ไขปัญหาภาษาบาลีที่อ่านไม่รู้เรื่องแบบนี้กันบ้างหรือ?

อุปมาเหมือน –

หมอมีเต็มเมือง แต่คนป่วยก็นอนป่วยกันเต็มเมือง

ตำรวจมีเต็มเมือง แต่โจรผู้ร้ายก็มีเต็มเมือง-อยู่ที่ปลายจมูกตำรวจนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าหาต้นเหตุไม่พบ ก็ยังไม่จบปัญหา

: พบเหตุแต่แก้ไม่ได้ ก็ยังไกลที่จะจบการศึกษา

#บาลีวันละคำ (4,394)

23-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *