สังฆโสภณ (บาลีวันละคำ 4,404)
สังฆโสภณ
หนึ่งใน 3 สังฆ์
ท่านว่านักบวช-รวมทั้งสมาชิกของหมู่คณะ-มี 3 สังฆ์ คือ –
สังฆโสภณ (สัง-คะ-โส-พน) = บวชเข้ามาทำให้ศาสนางดงาม
สังฆหายน (สัง-คะ-หา-ยน) = บวชเข้ามาทำให้ศาสนาเสื่อมทราม
สังฆปูรณ (สัง-คะ-ปู-รน) = บวชเข้ามาเป็นอาสาเฝ้าอาราม
…………..
“สังฆโสภณ” อ่านว่า สัง-คะ-โส-พน ประกอบด้วยคำว่า สังฆ + โสภณ
(๑) “สังฆ”
เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ + อ = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
“สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”
“สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย
บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์”
ในที่นี้ “สงฺฆ – สงฆ์” หมายถึง “หมู่คณะ” โดยตรง และหมายถึง “ศาสนา” โดยนัย
(๒) “โสภณ”
บาลีอ่านว่า โส-พะ-นะ รากศัพท์มาจาก สุภฺ (ธาตุ = งาม) + ยุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ สุ-(ภฺ) เป็น โอ (สุภฺ > โสภ), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: สุภฺ + ยุ > อน = สุภน > โสภน > โสภณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งดงาม”
หมายเหตุ: ในคัมภีร์บาลี ศัพท์นี้พบว่าใช้เป็น “โสภณ” (ณ เณร) ก็มี เป็น “โสภน” (น หนู ก็มี) ก็มี
“โสภณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ความงาม, เครื่องประดับ (beauty, ornament)
(2) ประดับ, ส่องแสง, ทำให้สวยงาม (adorning, shining, embellishing)
(3) ดี (good)
บาลี “โสภณ” ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้สั้นๆ ว่า –
“โสภณ : (คำวิเศษณ์) งาม. (ป.; ส. โศภน).”
บาลี “โสภณ” สันสกฤตเป็น “โศภน” (โศ– ศ ศาลา –ภน น หนู สะกด)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“โศภ, โศภน : (คุณศัพท์) งาม; สุกใส; แต่งตัวหรู; เปนมงคล; handsome; bright; richly dressed; auspicious.”
สันสกฤต “โศภน” ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โศภน, โศภะ : (คำนาม) ความงาม, ความดี. (ส.; ป. โสภณ).”
โปรดสังเกตว่า “โสภณ” บาลี เมื่อใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำวิเศษณ์ แต่ “โศภน” สันสกฤต เมื่อใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำนาม
สงฺฆ + โสภณ = สงฺฆโสภณ แปลว่า “ทำสงฆ์ให้งาม” “ทำหมู่คณะให้งดงาม”
“สงฺฆโสภณ” เขียนแบบบาลี อ่านว่า สัง-คะ-โ-ส-พะ-นะ
เขียนแบบไทยเป็น “สังฆโสภณ” อ่านว่า สัง-คะ-โ-ส-พน
ขยายความ :
คุณสมบัติหรือคุณธรรมที่ทำให้เป็น “สังฆโสภณ” ผู้ทำหมู่คณะให้งดงาม ท่านแสดงไว้ดังนี้ –
…………..
โย โหติ พฺยตฺโต จ วิสารโท จ
พหุสฺสุโต ธมฺมธโร จ โหติ
ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ส ตาทิโส วุจฺจติ สงฺฆโสภโน ฯ
ภิกฺขุ จ สีลสมฺปนฺโน
ภิกฺขุนี จ พหุสฺสุตา
อุปาสโก จ โย สทฺโธ
ยา จ สทฺธา อุปาสิกา
เอเต โข สงฺฆํ โสเภนฺติ
เอเต หิ สงฺฆโสภนาติ ฯ
บุคคลใดเป็นผู้ฉลาดและกล้าหาญ
เป็นผู้สดับมาก และทรงจำธรรม
เป็นผู้ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
บุคคลเช่นนั้นนั่นแลเรียกว่าผู้ยังหมู่ให้งาม
ภิกษุและภิกษุณี
สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นพหูสูต
อุบาสกและอุบาสิกา
เป็นผู้มีศรัทธา
บุคคลเหล่านี้แลยังหมู่ให้งาม
บุคคลเหล่านี้เป็นสังฆโสภณ-ผู้ยังหมู่ให้งามแท้จริง
ที่มา จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 21 ข้อ 7
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าทำหมู่คณะให้งามไม่ได้
: ก็อย่าทำหมู่คณะให้ทราม
#บาลีวันละคำ (4,404)
3-7-67
…………………………….
…………………………….