บาลีวันละคำ

สักกายะ ไม่ใช่ สักกะยะ (บาลีวันละคำ 4,403)

สักกายะ ไม่ใช่ สักกะยะ

ช่วยกันสะกดให้ถูก

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านความคิดเห็นท้ายโพสต์ของท่านผู้หนึ่ง ท่านเขียนคำว่า “สักกายทิฏฐิ” แต่สะกดเป็น “สักกะยะทิฏฐิ” จึงขอถือโอกาสนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำอีกครั้งหนึ่ง (หมายความว่า คำว่า “สักกายทิฏฐิ” นี้ เคยเขียนมาแล้ว)

ขอชี้แจงเบื้องต้นว่า คำว่า “ทิฏฐิ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดเป็น “ทิฐิ” ตามหลักที่ว่า คำบาลีมีตัวสะกดซ้อนให้ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เช่นบาลี “รฏฺฐ” (รัด-ถะ) ภาษาไทยใช้เป็น “รัฐ” (ตัด ปฏัก ออก)

บาลี “ทิฏฺฐิ” ภาษาไทยตัดตัวสะกดออกใช้เป็น “ทิฐิ” แต่คงอ่านว่า ทิด-ถิ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก. (ป. ทิฏฺฐิ; ส. ทฺฤษฺฏิ).”

คำนี้เมื่อใช้ในภาษาธรรม มีผู้นิยมสะกดตามรูปคำเดิม ไม่ตัดตัวสะกด คือเขียนเป็น “ทิฏฐิ” (ไม่มีจุดใต้ ปฏัก) 

บาลีวันละคำที่เคยเขียนคำนี้แล้ว สะกดเป็น “สักกายทิฐิ” (อ่านว่า สัก-กา-ยะ-ทิด-ถิ) (ดู สักกายทิฐิ บาลีวันละคำ 4,286) ที่เขียนวันนี้ขอสะกดแบบไม่ตัดตัวสะกดเป็น “สักกายทิฏฐิ

เหตุที่เอาคำว่า “สักกายทิฏฐิ” มาเขียนอีก เพราะเห็นคนเขียนสะกดเป็น “สักกะยะทิฏฐิ” แล้วก็สงสัยว่า คนสมัยนี้ไม่เคยคิดสงสัยคำที่ตนเขียนกันบ้างเลยหรือว่า-สะกดอย่างนั้นถูกหรือผิด ชอบเขียนแล้วเขียนเลย ไม่ชอบตรวจสอบ

คำที่ถูกต้องท่านสะกดเป็น “สักกาย” ก็ไปสะกดเป็น “สักกะยะ” ไปเอา “สักกะยะ” มาจากไหน?

สันนิษฐานว่า “สักกายทิฏฐิ” อ่านว่า สัก-กา-ยะ-ทิด-ถิ ตรงคำว่า สัก-กา-ยะ- นี่เอง อ่านหรือพูดรัว ๆ เสียงก็จะกลายเป็น สัก-กะ-ยะ คือ -กา- หดลงเป็น -กะ-

แต่ก็ยังไม่หมดพิรุธ คำที่ถูกต้องท่านสะกดเป็น “สักกายทิฏฐิ” -ย- ไม่มีสระ อะ ไปสะกดเป็น “สักกะยะทิฏฐิ” เอาสระ อะ มาจากไหน?

สันนิษฐานว่า เสียง สัก-กา-ยะ- นั่นเอง พูดรัวเป็น สัก-กะ-ยะ มีเสียง อะ อยู่ด้วย เวลาเขียนก็เลยใส่สระ อะ เข้าไป ไม่รับรู้หลักที่ว่า “คำสมาสสนธิ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ”

ต่อไปนี้เป็นการแสดงรากศัพท์เฉพาะคำว่า “สักกาย

ควรทราบด้วยว่า คำนี้ถ้าใช้แค่ “สักกาย” ไม่มีคำอื่นมาต่อท้าย และต้องการให้อ่านว่า สัก-กา-ยะ ต้องสะกดเป็น “สักกายะ” (มีสระ อะ หลัง ย) 

ถ้าต้องการอ่านว่า สัก-กาย ก็สะกดเป็น “สักกาย” แต่พึงทราบว่าไม่มีคำนี้ใช้ในภาษาไทย

อันที่จริง ทั้ง “สักกายะ” และ “สักกาย” ก็ไม่มีใครใช้สั้น ๆ แบบนี้ ที่มีใช้ก็มีคำว่า “ทิฏฐิ” ต่อท้ายเป็น “สักกายทิฏฐิ” (สักกายทิฐิ)

สักกาย” เขียนแบบบาลีเป็น “สกฺกาย” (มีจุดใต้ กฺ ตัวหน้า) อ่านว่า สัก-กา-ยะ รากศัพท์มาจาก สํ หรือ สก + กาย 

(ก) “สํ” อ่านว่า สัง ตัดมาจาก “สนฺต” (สัน-ตะ) = มีอยู่ หรือ “สก” (สะ-กะ) = ของตน

(ข) “กาย” บาลีอ่านว่า กา-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) กุ (สิ่งที่น่ารังเกียจ, สิ่งที่น่าเกลียด) + อาย (ที่มา, ที่เกิดขึ้น), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ กุ (กุ > )

: กุ > + อาย = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นของสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งหลาย

(2) (อวัยวะ) + อายฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป), + (อะ) ปัจจัย

: + อายฺ = กายฺ + = กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งอวัยวะทั้งหลาย

(3) กาย (ร่างกาย) + ปัจจัย, ลบ  

: กาย + = กายณ > กาย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เกิดขึ้นแห่งส่วนย่อยทั้งหลายเหมือนร่างกาย” (คือร่างกายเป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ฉันใด “สิ่งนั้น” ก็เป็นที่รวมอยู่แห่งส่วนย่อยทั้งหลายฉันนั้น)

กาย” (ปุงลิงค์) หมายถึง ร่างกาย; กลุ่ม, กอง, จำนวนที่รวมกัน, การรวมเข้าด้วยกัน, ที่ชุมนุม (body; group, heap, collection, aggregate, assembly)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กาย, กาย– : (คำนาม) ตัว เช่น ไม่มีผ้าพันกาย, มักใช้เข้าคู่กับคำ ร่าง เป็น ร่างกาย, ใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส หมายความว่า หมู่, พวก, เช่น พลกาย = หมู่ทหาร. (ป., ส.).”

(1) สนฺต + กาย ตัด สนฺต เป็น สํ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น กฺ

: สนฺต + กาย = สนฺตกาย > สํกาย > สกฺกาย แปลว่า “กายอันมีอยู่

(2) สก + กาย แผลง ที่ ส เป็นตัวสะกด (หรือจะว่า ลบ ที่ ส แล้วซ้อน กฺ ก็ได้)

: สก + กาย = สกฺกาย แปลว่า “กายของตน” 

สกฺกาย” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “สักกาย” มักมีคำอื่นมาต่อท้าย อ่านว่า สัก-กา-ยะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สักกาย-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) บอกไว้ว่า –

สักกาย– : (คำนาม) กายของตน. (ป.; ส. สฺวกาย).”

สกฺกาย + ทิฏฺฐิ = สกฺกายทิฏฺฐิ (สัก-กา-ยะ-ทิด-ถิ) แปลว่า “ความเห็นว่ากายมีอยู่” หรือ “ความเห็นว่ากายของตน” 

สกฺกายทิฏฺฐิ” ในภาษาไทย “-ทิฏฺฐิ” ตัดตัวสะกดออก เขียนเป็น “สักกายทิฐิ” (สัก-กา-ยะ-ทิด-ถิ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สักกายทิฐิ” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

สักกายทิฐิ : (คำนาม) ความยึดถือว่ากายหรือตัวเป็นของตน. (ป. สกฺกายทิฏฺฐิ;).”

ในที่นี้สะกดเป็น “สักกายทิฏฐิ” (ไม่ตัดตัวสะกด)

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “สักกายทิฏฐิ” ไว้ดังนี้ –

…………..

สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน, ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน เป็นต้น (ข้อ ๑ ในสังโยชน์ ๑๐)

…………..

ขอนำข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [329] ว่าด้วย “สังโยชน์ 10” มาเสนอพอเป็นพื้นฐานแห่งความเข้าใจ ดังนี้ –

…………..

สังโยชน์ 10 กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล (Saṃyojana: fetters; bondage)

ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5: (สังโยชน์เบื้องต่ำ เป็นอย่างหยาบ เป็นไปในภพอันต่ำ (Orambhāgiya~: lower fetters)

1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นตนเป็นต้น (Sakkāyadiṭṭhi: personality-view; false view of individuality)

2. วิจิกิจฉา ความสงสัย, ความลังเล ไม่แน่ใจ (Vicikicchā: doubt; uncertainty)

3. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงายเห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร (Sīlabbataparāmāsa: adherence to rules and rituals)

4. กามราคะ ความกำหนัดในกาม, ความติดใจในกามคุณ (Kāmarāga: sensual lust)

5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง (Paṭigha: repulsion; irritation)

ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5: สังโยชน์เบื้องสูง เป็นอย่างละเอียด เป็นไปแม้ในภพอันสูง (Uddhambhāgiya~: higher fetters)

6. รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ (Rūparāga: greed for fine-material existence; attachment to realms of form)

7. อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ (Arūparāga: greed for immaterial existence; attachment to formless realms)

8. มานะ ความสำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (Māna: conceit; pride)

9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (Uddhacca: restlessness; distraction)

10. อวิชชา ความไม่รู้จริง, ความหลง (Avijjā: ignorance)

…………..

พึงทราบหลักต่อไปด้วยว่า สังโยชน์นี้ท่านยังใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการกำหนดภูมิแห่งพระอริยุคคล กล่าวคือ –

(1) พระโสดาบัน ละสังโยชน์ 3 ข้อต้นได้

(2) พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ 4 และ 5 ให้เบาบางลงด้วย 

(3) พระอนาคามี ละสังโยชน์ 5 ข้อต้นได้หมด 

(4) พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อ 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สะกดผิดก็ไม่เสียสิทธิ์บรรลุธรรม

: แต่มีสิทธิ์บรรลุธรรมด้วย สะกดถูกด้วยดีกว่า

#บาลีวันละคำ (4,403)

2-7-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *