บาลีวันละคำ

สังฆหายน (บาลีวันละคำ 4,405)

สังฆหายน

หนึ่งใน 3 สังฆ์

ท่านว่านักบวช-รวมทั้งสมาชิกของหมู่คณะ-มี 3 สังฆ์ คือ –

สังฆโสภณ (สัง-คะ-โส-พน) = บวชเข้ามาทำให้ศาสนางดงาม

สังฆหายน (สัง-คะ-หา-ยน) = บวชเข้ามาทำให้ศาสนาเสื่อมทราม

สังฆปูรณ (สัง-คะ-ปู-รน) = บวชเข้ามาเป็นอาสาเฝ้าอาราม

…………..

สังฆหายน” อ่านโดยประสงค์ว่า สัง-คะ-หา-ยน ประกอบด้วยคำว่า สังฆ + หายน

(๑) “สังฆ

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆ” อ่านว่า สัง-คะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น

: สํ > สงฺ + หนฺ > + = สงฺฆ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ

(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้

สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”

สงฆ์” ในพระพุทธศาสนามีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) “สาวกสงฆ์” หมายถึงหมู่สาวกของพระพุทธเจ้า ที่ได้บรรลุธรรมในภูมิอริยบุคคลคือเป็นพระโสดาบันขึ้นไป ดังคำสวดในสังฆคุณที่ว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ 

(2) “ภิกขุสงฆ์” หมายถึงชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย 

บางทีเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมติสงฆ์

ในที่นี้ “สงฺฆสงฆ์” หมายถึง “หมู่คณะ” โดยตรง และหมายถึง “ศาสนา” โดยนัย

(๒) “หายน

บาลีอ่านว่า หา-ยะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(๑) หา (ธาตุ = เสื่อม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลง อาคมระหว่าง หา + ยุ (หา + + ยุ)

: หา + + ยุ > อน : หา + + อน = หายน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เสื่อมไป” หมายถึง ความหายนะ, ความเสื่อม, ความเสื่อมถอยหรือลดลง (diminution, decay, decrease)

(๒) หา (ธาตุ = ละ, ทิ้ง) + อยฺ (ธาตุ = ไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: หา + อยฺ = หาย + ยุ > อน : หาย + อน = หายน แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่ละไปเรื่อยๆ

(๓) หา (ธาตุ = แบ่งปัน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลง อาคมระหว่าง หา + ยุ (หา + + ยุ)

: หา + + ยุ > อน : หา + + อน = หายน แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่ปันอายุไป

หายน” ที่มาจากข้อ (๑) หมายถึง ความเสื่อม

หายน” ที่มาจากข้อ (๒) และ (๓) หมายถึง ปี (year) ซึ่งคนไทยแทบจะไม่รู้จัก “หายน” ในความหมายนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

หายนะ ๑ : (คำนาม) ความเสื่อม, ความเสียหาย, ความฉิบหาย. (ป.).”

ในที่นี้ “หายน” อ่านโดยประสงค์ว่า หา-ยน (ไม่ใช่ หา-ยะ-นะ) ใช้ในความหมายว่า ความเสื่อม

สงฺฆ + หายน = สงฺฆหายน แปลว่า “ทำสงฆ์ให้เสื่อม” “ทำหมู่คณะให้เสื่อมทราม

สงฺฆหายน” เขียนแบบบาลี อ่านว่า สัง-คะ-หา-ยะ-นะ

เขียนแบบไทยเป็น “สังฆหายน” อ่านโดยประสงค์ว่า สัง-คะ-หา-ยน

ที่ว่า “อ่านโดยประสงค์” หมายความว่า ประสงค์จะให้อ่านอย่างนี้ ไม่ประสงค์จะให้อ่านเป็นอย่างอื่น “-หายน” ถ้าประสงค์จะให้อ่านว่า -หา-ยะ-นะ ก็ต้องใส่สระ อะ ที่ – เป็น “สังฆหายนะ” แต่ไม่ประสงค์จะให้อ่านเช่นนั้น จึงสะกดเป็น “สังฆหายน” อ่านว่า สัง-คะ-หา-ยน

ที่ประสงค์จะให้อ่านเป็น สัง-คะ-หา-ยน ก็เพื่อให้เข้าชุดกับ “สังฆโสภณ” ซึ่งอ่านว่า สัง-คะ-โส-พน และ “สังฆปูรณ” ซึ่งอ่านว่า สัง-คะ-ปู-รน

-โสภณ -หายน -ปูรณ เสียง -อน เข้าชุดกัน

ขยายความ :

สังฆหายน” ผู้ทำหมู่คณะให้เสื่อมทรามมีใครบ้าง ท่านแสดงไว้ดังนี้ –

…………..

จตฺตาโร  ปริสทูสนา  ภิกฺขุ  ทุสฺสีโล  ปาปธมฺโม  ปริสทูสโน  ภิกฺขุนี  ทุสฺสีลา  ปาปธมฺมา  ปริสทูสนา  อุปาสโก  ทุสฺสีโล  ปาปธมฺโม  ปริสทูสโน  อุปาสิกา  ทุสฺสีลา  ปาปธมฺมา  ปริสทูสนา  

ผู้ทำหมู่คณะให้เสื่อมทรามมี 4 คือ ภิกษุผู้ทุศีล มีธรรมทราม เป็นผู้ทำหมู่คณะให้เสื่อมทราม 1 ภิกษุณีผู้ทุศีล มีธรรมทราม เป็นผู้ทำหมู่คณะให้เสื่อมทราม 1 อุบาสกผู้ทุศีล มีธรรมทราม เป็นผู้ทำหมู่คณะให้เสื่อมทราม 1  อุบาสิกาผู้ทุศีล มีธรรมทราม เป็นผู้ทำหมู่คณะให้เสื่อมทราม 1

ที่มา: วินัยปิฎก ปริวาร พระไตรปิฎกเล่ม 8 ข้อ 968 

…………..

คำว่า “ทุสฺสีโล = ผู้ทุศีล” ท่านไขความว่า “นิสฺสีโล” หรือ “อสีโล” แปลว่า “ไม่มีศีล” หมายความว่า ตามสถานะแล้วจะต้องมีศีลหรือรักษาศีลข้อนั้น ๆ แต่ก็รักษาศีลของตนไว้ไม่ได้ ละเมิดศีลหรือศีลขาดเป็นประจำ

คำว่า “ปาปธมฺโม = มีธรรมทราม” ท่านไขความว่า “ลามกธมฺโม” แปลว่า “ประพฤติชั่วช้าเลวทรามเป็นธรรมชาติ” 

บุคคลเช่นนี้ อยู่ในศาสนา ก็ทำให้ศาสนาเสื่อม เป็นสมาชิกของหมู่คณะใด ก็ทำให้หมู่คณะนั้นมัวหมอง

นี่แลคือ “สังฆหายน” ผู้ทำหมู่คณะให้เสื่อมทราม

คำว่า “สังฆหายน” อ่านว่า สัง-คะ-หา-ยน ยังไม่มีใครพูดใครใช้ในภาษาไทย ขอเสนอไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

คนชนิด “สังฆหายน

: ต่อหน้าคนก็ชัง

: ลับหลังคนก็แช่ง

#บาลีวันละคำ (4,405)

4-7-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *