โพธิปักขิยธรรม (บาลีวันละคำ 4,408)
โพธิปักขิยธรรม
หลักธรรมที่นำไปสู่มรรคผล
อ่านว่า โพ-ทิ-ปัก-ขิ-ยะ-ทำ
ประกอบด้วยคำว่า โพธิ + ปักขิย + ธรรม
(๑) “โพธิ”
บาลีอ่านว่า โพ-ทิ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)
: พุธฺ + อิ = พุธิ > โพธิ แปลตามศัพทว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “สิ่งเป็นเหตุรู้” (3) “ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้”
ความหมายของ “โพธิ” ในบาลี –
(1) ความรู้อันยอดเยี่ยม, การตรัสรู้, ความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงมี (supreme knowledge, enlightenment, the knowledge possessed by a Buddha)
(2) ต้นไม้ตรัสรู้, ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์, ต้นไม้จำพวกไทร (อสฺสตฺถ, ต้นอสัตถพฤกษ์) ซึ่งพระโคดมพุทธเจ้าบรรลุพระโพธิญาณ (the tree of wisdom, the sacred Bo tree, the fig tree (Assattha, Ficus religiosa) under which Gotama Buddha arrived at perfect knowledge)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“โพธิ-, โพธิ์ : (คำนาม) ความตรัสรู้; ชื่อต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, บัดนี้หมายถึงต้นไม้จําพวกโพ. (ป., ส.).”
(๒) “ปักขิย”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปกฺขิย” อ่านว่า ปัก-ขิ-ยะ รากศัพท์มาจาก ปกฺข + อิย ปัจจัย
(ก) “ปกฺข” อ่านว่า ปัก-ขะ รากศัพท์มาจาก ปจฺ (ธาตุ = สุก) + ข ปัจจัย, แปลง จฺ ที่ ปจฺ เป็น ก (ปจฺ > ปกฺ)
: ปจฺ + ข = ปจฺข > ปกฺข (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กาลเป็นเหตุสุกแห่งสิ่งที่เป็นอยู่” = ระยะเวลาครึ่งเดือน
“ปกฺข” ยังมีรากศัพท์มาจากธาตุตัวอื่นอีกหลายนัย เพื่อเป็นการเสริมความรู้ ขอนำความหมายของ “ปกฺข” ตามนัยต่าง ๆ มาแสดงไว้ ดังนี้ –
(1) ด้านข้างของร่างกาย, สีข้าง, ปีก, ขนนก (side of the body, flank, wing, feathers)
(2) ปีกข้างหนึ่งของบ้าน (wing of a house)
(3) ปีกนก (wing of a bird)
(4) ด้านข้าง, ส่วน (side, party, faction)
(5) ครึ่งเดือนทางจันทรคติ, หนึ่งปักษ์ (one half of the lunar month, a fortnight)
(6) ทางเลือก, คำแถลงของฝ่ายหนึ่งที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง (alternative, statement)
(7) (คุณศัพท์) ร่วมกับ, ผู้เข้าร่วมเป็นพวก, ลูกศิษย์หรือลูกน้อง (associated with, a partisan, adherent)
(8 ) (ในคำว่า “หตปกฺข”) ผู้ถูกบาดเจ็บ ฯลฯ เข้าที่ข้างหนึ่ง, เป็นอัมพาตไปข้างหนึ่ง, คนพิการ (one who is struck on one side, paralysed on one side, a cripple)
บาลี “ปกฺข” สันสกฤตเป็น “ปกฺษ” เราใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ปักษ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
“ปักษ-, ปักษ์ : (คำนาม) ฝ่าย, ข้าง, เช่น ปักษ์ใต้, กึ่งของเดือนจันทรคติ คือ เดือนหนึ่งมี ๒ ปักษ์ ข้างขึ้นเรียก ศุกลปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายขาว หมายเอาแสงเดือนสว่าง) ข้างแรมเรียก กาฬปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายดํา หมายเอาเดือนมืด), ครึ่งเดือน เช่น หนังสือรายปักษ์. (ส.; ป. ปกฺข).”
(ข) ปกฺข + อิย = ปกฺขิย (ปัก-ขิ-ยะ) แปลว่า “ประกอบอยู่ในฝ่าย” หรือ “ประกอบอยู่กับฝ่าย” เช่น มีฝ่ายดี ก็ไปประกอบอยู่ในฝ่ายดี คือชักนำให้เป็นฝ่ายดี มีฝ่ายชั่ว ก็ไปประกอบอยู่ในฝ่ายชั่ว คือชักนำให้เป็นฝ่ายชั่ว ทั้งนี้แล้วแต่จะไปประกอบอยู่กับฝ่ายไหน ก็เรียกว่าเป็น “ปกฺขิย” ของฝ่ายนั้น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปกฺขิย” ว่า
(1) (เป็นคุณศัพท์) siding with, associating with (เข้าข้าง, ร่วมกับ)
(2) (เป็นคำนาม) part, side (ส่วน, ข้าง)
(๓) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –
สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ธรรม” ความหมายเน้นหนักตามข้อ (2)
การประสมคำ :
๑ โพธิ + ปกฺขิย = โพธิปกฺขิย (โพ-ทิ-ปัก-ขิ-ยะ) แปลว่า “ประกอบในฝ่ายตรัสรู้” หมายถึง ชักนำหรือเป็นหนทางให้บรรลุมรรคผล (the parts of enlightenment)
๒ โพธิปกฺขิย + ธมฺม = โพธิปกฺขิยธมฺม (โพ-ทิ-ปัก-ขิ-ยะ-ทำ-มะ) แปลว่า “ธรรมะประกอบในฝ่ายตรัสรู้” หมายถึง ธรรมะส่วนที่เป็นหนทางให้บรรลุมรรคผล
“โพธิปกฺขิยธมฺม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “โพธิปักขิยธรรม” อ่านว่า โพ-ทิ-ปัก-ขิ-ยะ-ทำ
คำว่า “โพธิปักขิยธรรม” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความ “โพธิปักขิยธรรม” ไว้ดังนี้ –
…………..
โพธิปักขิยธรรม : ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้, ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค มี ๓๗ ประการคือ สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗, มรรคมีองค์ ๘; ในจำนวน ๓๗ นี้ ถ้านับตัวสภาวธรรมแท้ ๆ ตัดจำนวนที่ซ้ำออกไป มี ๑๔ คือ สติ วิริยะ ฉันทะ จิตตะ ปัญญา สัทธา สมาธิ ปีติ ปัสสัทธิ อุเบกขา สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ.
…………..
ขอนำหัวข้อธรรมในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ส่วนที่เป็น “โพธิปักขิยธรรม” 37 ประการ มาแสดงไว้ในที่นี้ ดังนี้ –
…………..
สติปัฏฐาน 4 [182]
1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
…………..
สัมมัปปธาน 4 [156]
1. สังวรปธาน เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
2. ปหานปธาน เพียรละหรือเพียรกำจัด คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
3. ภาวนาปธาน เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น
4. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์
…………..
อิทธิบาท 4 [213]
1. ฉันทะ ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป
2. วิริยะ ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย
3. จิตตะ ความคิดมุ่งไป คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป อุทิศตัวอุทิศใจให้แก่สิ่งที่ทำ
4. วิมังสา ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงเป็นต้น
…………..
อินทรีย์ 5 [258]
พละ 5 [228]
1. สัทธา ความเชื่อ
2. วิริยะ ความเพียร
3. สติ ความระลึกได้
4. สมาธิ ความตั้งจิตมั่น
5. ปัญญา ความรู้ทั่วชัด
หมวดธรรมนี้เรียกชื่อ 2 ชื่อ แต่หัวข้อธรรมเดียวกัน
เรียกว่า อินทรีย์ เพราะความหมายว่า เป็นใหญ่ในการกระทำหน้าที่แต่ละอย่าง ๆ ของตน คือเป็นเจ้าการในการครอบงำเสียซึ่งความไร้ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่าน และความหลงตามลำดับ
เรียกว่า พละ เพราะความหมายว่า เป็นพลัง ทำให้เกิดความมั่นคง ซึ่งความไร้ศรัทธาเป็นต้น แต่ละอย่างจะเข้าครอบงำไม่ได้
…………..
โพชฌงค์ 7 [281]
1. สติ ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง
2. ธัมมวิจยะ ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่องสืบค้นธรรม
3. วิริยะ ความเพียร
4. ปีติ ความอิ่มใจ
5. ปัสสัทธิ ความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจ
6. สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่ในอารมณ์
7. อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง
ชื่อธรรมในหัวข้อนี้ เรียกเต็มว่า สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
…………..
มรรคมีองค์ 8 [293]
1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจ 4 หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท
2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปปะ อพยาบาทสังกัปปะ อวิหิงสาสังกัปปะ
3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต 4
4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต 3
5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ
6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน 4
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4
8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน 4
…………..
แถม :
พึงทราบว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่มีเฉพาะ “โพธิปักขิยธรรม” 37 ประการเท่านั้น ยังมีอีกเป็นอเนกอนันต์ กล่าวตามสำนวนเก่าก็ว่ามีถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
ใครปรารถนาจะบรรลุมรรคผล ก็ปฏิบัติตาม “โพธิปักขิยธรรม” 37 ประการนี้
ใครปรารถนาเป็นเพียงสาธุชนกัลยาณชน ก็ปฏิบัติตามธรรมะข้ออื่น ๆ เท่าที่สามารถจะปฏิบัติได้
แต่ทั้ง “โพธิปักขิยธรรม” และธรรมะข้ออื่น ๆ ก็ล้วนแต่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้จักยา รู้สรรพคุณยา – ดี
: ใช้ยารักษาโรคที่ตนเจ็บป่วยได้ด้วย – ยิ่งดี
#บาลีวันละคำ (4,408)
7-7-67
…………………………….
…………………………….