บาลีวันละคำ

เอกพีชี (บาลีวันละคำ 4,409)

เอกพีชี

พระโสดาบันประเภทหนึ่ง-เกิดอีกครั้งเดียว

ในคัมภีร์แสดงไว้ว่า พระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน คือผู้ถึงกระแสที่จะนำไปสู่พระนิพพาน มี 3 ประเภทคือ –

1. เอกพีชี เกิดอีกครั้งเดียว 

2. โกลังโกละ เกิดอีก 2-3 ครั้ง 

3. สัตตักขัตตุปรมะ เกิดอีก 7 ครั้งเป็นอย่างมาก

…………..

เอกพีชี” อ่านว่า เอ-กะ-พี-ชี

ประกอบด้วยคำว่า เอก + พีชี

(๑) “เอก

บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก

: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน

เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ :

(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน” 

(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เอก, เอก– : (คำวิเศษณ์) หนึ่ง (จำนวน); ชั้นที่ ๑ (ใช้เกี่ยวกับลำดับชั้น หรือขั้นของยศ ตำแหน่ง คุณภาพ หรือวิทยฐานะ สูงกว่า โท) เช่น ร้อยเอก ข้าราชการชั้นเอก ปริญญาเอก; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้ ‘่’ ว่า ไม้เอก; ดีเลิศ เช่น กวีเอก, สำคัญ เช่น ตัวเอก; (คำโบราณ) (คำนาม) เรียกลูกหญิงคนที่ ๗ ว่า ลูกเอก, คู่กับลูกชายคนที่ ๗ ว่า ลูกเจ็ด. (คำที่ใช้ในกฎหมาย). (ป., ส.).”

ในที่นี้ “เอก” ใช้ในฐานะเป็นสังขยา (คำบอกจำนวน)

(๒) “พีชี

อ่านว่า พี-ชี (-ชี ช ช้าง) รากศัพท์มาจาก พีช + อี ปัจจัย

(ก) “พีช” อ่านว่า พี-ชะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ วิ เป็น อี (วิ > วี), แปลง เป็น , ลบที่สุดธาตุ คือ (ชนฺ > ) และลบ กฺวิ 

: วิ + ชนฺ = วิชนฺ + กฺวิ = วิชนกฺวิ > วีชนกฺวิ > พีชนกฺวิ > พีชน > พีช แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เกิดโดยวิเศษ” (2) “สิ่งที่เป็นเหตุเกิดแห่งสิ่งทั้งหลาย” (3) “อวัยวะที่เกิดโดยปราศจากปัจจัย

พีช” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) เมล็ดพืช (seed) 

(2) เชื้อ (germ) 

(3) น้ำกาม (semen) 

(4) ไข่ (spawn) 

(5) ธาตุ (element)

บาลี “พีช” ในภาษาไทยใช้เป็น “พืช” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พืช : (คำนาม) สิ่งมีชีวิตที่โดยทั่วไปสร้างอาหารเองโดยการสังเคราะห์แสง, เมล็ดพันธุ์ไม้, สิ่งที่จะเป็นพันธุ์ต่อไป, พืชพันธุ์ ก็ใช้. (ป. พีช; ส. วีช); พรรณไม้ที่งอกอยู่ตามที่ต่าง ๆ, พืชพรรณ ก็ใช้.”

ในที่นี้คงรูปเป็น “พีช” ตามบาลี

(ข) พีช + อี ปัจจัย = พืชี แปลว่า “ผู้มีพืช (คือขันธ์)

เอก + พีชี = เอกพืชี แปลว่า “ผู้มีพืช (คือขันธ์) ครั้งเดียว

ขยายความ :

ท่านแสดงบทวิเคราะห์ (การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ของคำว่า “เอกพีชี” ไว้ว่า –

…………..

อตฺตภาวคฺคหณสงฺขาตํ  เอกํเยว  ขนฺธพีชํ  เอตสฺส  อตฺถีติ  เอกพีชี.

พืชคือขันธ์ กล่าวคือร่างกายของท่านผู้นั้น มีครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้น ท่านจึงชื่อว่า “เอกพีชี” = ผู้มีพืชเพียงครั้งเดียว

ที่มา: ปรมัตถมัญชุสา (มหาฎีกาของคัมภีร์วิสุทธิมรรค) ภาค 3 หน้า 654

…………..

มีพระพุทธพจน์แสดงลักณะของพระโสดาบันประเภท “เอกพีชี” ไว้ดังนี้ –

…………..

โส  ติณฺณํ  สญฺโญชนานํ  ปริกฺขยา  เอกพีชี  โหติ  เอกํเยว  มานุสกํ  ภวํ  นิพฺพตฺเตตฺวา  ทุกฺขสฺสนฺตํ  กโรติ  

เพราะสิ้นสังโยชน์ 3 ภิกษุนั้นเป็นเอกพีชี เกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวก็ทำที่สุดทุกข์ได้

ที่มา: ติกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 527

…………..

“สังโยชน์ 3” ตามพระพุทธพจน์นี้ได้แก่ สังโยชน์ข้อ 1-2-3 ในจำนวนสังโยชน์ 10 ข้อ กล่าวคือ –

…………..

1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นตนเป็นต้น (Sakkāyadiṭṭhi: personality-view; false view of individuality)

2. วิจิกิจฉา ความสงสัย, ความลังเล ไม่แน่ใจ (Vicikicchā: doubt; uncertainty)

3. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงายเห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร (Sīlabbataparāmāsa: adherence to rules and rituals)

ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [329]

…………..

สรุปว่า “เอกพีชี” เป็นชื่อของพระโสดาบันประเภทหนึ่ง พระโสดาบันประเภทนี้เมื่อดับขันธ์ในชาตินี้แล้วจะเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เกิด ไม่ยาก

: ไม่เกิด ยาก

#บาลีวันละคำ (4,409)

8-7-67

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *