บาลีวันละคำ

อังคาส (บาลีวันละคำ 4,407)

อังคาส

มาจากภาษาอะไร

อ่านว่า อัง-คาด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อังคาส : (คำกริยา) ถวายอาหารพระ, เลี้ยงพระ. (ข.).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อังคาส” เป็นภาษาเขมร

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นคำว่า “คาส” นึกถึงคำบาลี ตรวจดูในพจนานุกรมบาลี ไม่พบคำว่า “คาส” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คาส” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า – 

คาส : (คำแบบ) (คำกริยา) กิน, กัด, เช่น ริ้นร่านห่านยุง ยงงคาสคุงใจ. (ม. คําหลวง สักบรรพ).”

คำที่ออกเสียงว่า คาด หมายถึง “กิน” ตรงกับคำบาลีว่า “ฆาส” (ฆ ระฆัง) อ่านแบบไทยเอา ส เป็นตัวสะกด ออกเสียงว่า คาด เหมือนกัน

ฆาส” บาลีอ่านว่า คา-สะ รากศัพท์มาจาก ฆสฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ ฆ-(สฺ) ต้นธาตุเป็น อา (ฆสฺ > ฆาส)

: ฆสฺ + = ฆสณ > ฆส > ฆาส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากิน” 

ฆาส” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) หญ้าสำหรับเป็นอาหารสัตว์, การกินหญ้าที่ท้องทุ่ง (grass for fodder, pasturing)

(2) อาหาร (food)

บาลี “ฆาส” สันสกฤตก็เป็น “ฆาส” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ฆาส : (คำนาม) ปศุโภชน์, หญ้า; pasture-grass, grass.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ฆาส” ไว้

ได้ความว่า “คาส” (ค ควาย) ที่พจนานุกรมฯ บอกความหมายว่า กิน นั้น ความหมายตรงกับ “ฆาส” (ฆ ระฆัง) ในบาลี

ขยายความ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำเชื่อว่า “อังคาส” หรือ “คาส” ที่หมายถึง กิน นั้น มาจาก “ฆาส” ในบาลีนั่นเอง ออกเสียงแบบไทยเหมือนกัน แต่ถูกเปลี่ยนอักขรวิธี จาก “ฆาส” ฆ ระฆัง เป็น “คาส” ค ควาย จะด้วยเหตุใดนั้นต้องศึกษาสืบทราบกันต่อไป

คาส” แปลว่า กิน 

อังคาส” ถ้ามาจากภาษาเขมร “อัง” ก็ต้องหมายถึง เชิญชวน หรือขอร้อง หรือบังคับให้ทำ

อังคาส” ก็คือ เชิญชวนให้กิน ขอร้องให้กิน หรือบังคับให้กิน ใช้กับพระ ก็คือ นิมนต์ให้พระฉัน นั่นก็คือที่พจนานุกรมฯ บอกนิยามความหมายว่า “อังคาส” คือ “ถวายอาหารพระ, เลี้ยงพระ”

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีความรู้ภาษาเขมร เปิดพจนานุกรมเขมร-ไทย เท่าที่มีอยู่ในมือ พยายามคลำหาคำว่า “อัง” ก็ไม่พบ แต่ไปพบคำหนึ่ง เขียนเป็นอักษรไทยว่า “อัม” (ดูภาพประกอบ) บอกความหมายว่า “คำบอกให้เด็กกินข้าว” 

เห็นคำนี้แล้วก็เกิดอาการที่คำฝรั่งเรียกว่า insight คือทะลุโพล่งขึ้นมา

นั่นคือ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี บ้านของผู้เขียนบาลีวันละคำ มีคนไทยเชื้อสายเขมรอยู่มาก ภาษาไทยที่ปากท่อจึงมีคำเขมรปนอยู่ไม่น้อย คำหนึ่งที่ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยินผู้ใหญ่พูดเมื่อป้อนข้าวเด็ก (ตัวผู้เขียนบาลีวันละคำเองก็เคยพูด) คือคำว่า “อ้ำ” หรือ “อั้ม” เวลาเอาช้อนข้าวจ่อที่ปากเด็กก็จะพูดว่า อ้ำซะลูก พอเด็กอ้าปากรับข้าว ผู้ใหญ่ก็จะพูดเสียงยาน ๆ หน่อยว่า อั้มมมม เป็นการให้กำลังใจหรือชมเด็กว่ากินข้าวเก่ง

และ “อ้ำ” หรือ “อั้ม” คำนี้เองที่กลายเสียงเป็น “หม่ำ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

หม่ำ : (ภาษาปาก) (คำกริยา) กิน (มักใช้แก่เด็กทารก).”

อัม + คาส = อัมคาส แปลว่า เชิญชวนให้กิน ขอร้องให้กิน แล้วเพี้ยนเป็น “อังคาส” ใช้กับพระก็แปลว่า “เชิญชวนพระให้ฉัน” คือ ถวายอาหารพระหรือเลี้ยงพระดังที่เราเข้าใจกันนั่นเอง

ที่ว่ามานี้เป็นความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ ท่านทั้งปวงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย และที่มาของคำว่า “อังคาส” ก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้เขียนบาลีวันละคำว่าไว้นี่เลยก็ได้ ผู้รักภาษาพึงช่วยกันสืบหาต่อไปเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: โยมใช้อาหารเลี้ยงกายพระ

: พระใช้การประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามวิสัยสมณะเลี้ยงใจโยม

#บาลีวันละคำ (4,407)

6-7-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *