กลัว
—-
ผมไม่เคยศึกษาตำราพิชัยสงคราม
แต่อยู่มาวันหนึ่งมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นที่จังหวัดบ้านผม
ผมก็เกิด insight ขึ้นมาเฉยๆ
————-
insight ของผมก็คือ-
วิธีที่จะชนะศึกได้ มีหลากหลาย
หนึ่งในจำนวนหลากหลายวิธีที่ผมมองทะลุไปเห็นนั้นสรุปลงได้ในคำเดียว คือ
“กลัว”
หมายความว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดอาการ “กลัว” ขึ้นมา
————-
ในการรบกันด้วยอาวุธ การเอาอาวุธออกมาแสดงพลังข่มขู่อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นกลยุทธ์ที่นิยมทำกันทุกสนาม ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน
————-
ตอนเสียกรุงครั้งที่ ๒ มีบันทึกไว้ว่า ข้าศึกมาล้อมกรุง
(ข้าศึกคือชาติไหนก็รู้กันอยู่ แต่ระบุไปตรงๆ ไม่ได้ – กลัว !)
ฝ่ายเราเอาปืนใหญ่ยิงออกไป
นางในทั้งหลายเกิดอาการขวัญอ่อนตกใจกลัว ขึ้นไปเพ็ดทูลผู้มีอำนาจ
ผู้มีอำนาจออกคำสั่งว่าจะยิงปืนใหญ่ต้องขออนุญาตก่อน
ทหารก็เลยหมดกำลังใจสู้
สุดท้ายกรุงก็แตก
————-
ผู้ร้ายปล้น เอาปืนขู่เจ้าทรัพย์
ทั้งๆ ที่ยังไม่ยิงสักโป้ง
บางทีเป็นแค่ปืนพลาสติกด้วยซ้ำ !
เจ้าทรัพย์ก็ยอมให้มันขนทรัพย์ไปแต่โดยดี
นี่ก็เพราะทำให้กลัว
————-
ความจริงแล้ว การทำให้กลัวเป็นวิธีธรรมชาติ
ดูได้จากสัตว์ที่มันขู่กัน เวลาจะสู้กัน หรือเวลาหวงอาหาร หวงถิ่น หรือหวงคู่
สิงโตคำรามอยู่ห่างๆ ยังไม่ได้ไล่ตะปบอะไรเลย สัตว์เล็กสัตว์น้อยก็วิ่งกันป่าราบ
————-
เพราะฉะนั้น อยากได้ชัยชนะ ใช้สูตรง่ายๆ –
จงทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลัว
ทำให้กลัวได้มากเท่าไร ชัยชนะยิ่งมาถึงเราได้แน่นอนเท่านั้น
การทำให้กลัวเป็นวิธีที่เหนื่อยน้อย ไม่ต้องสู้กันจริง แต่ชนะแน่
————-
วิธีทำให้กลัวที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมากและได้ผลแน่นอนก็คือ ทำให้กลัวแบบกระทบชิ่ง
คือทำให้จุดเล็กๆ กลัว แล้วจุดเล็กๆ นั้นจะเอาความกลัวไปขยายผลต่อไปอีก โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย
คู่ต่อสู่ช่วยทำให้เราเอง
เหมือนเหตุการณ์ตอนกรุงแตกครั้งที่ ๒ ที่กล่าวข้างต้น
ยิ่งถ้าอยู่ๆ คู่ต่อสู้เป็นฝ่ายสร้างความกลัวให้พวกเดียวกันเองด้วยแล้ว เรายิ่งสบาย
นั่งกระดิกขาอยู่เฉยๆ เดี๋ยวก็จะมีคนเอาชัยชนะใส่พานมาประเคนให้ถึงมือ
————-
กลยุทธ์ “กลัว” นี้จะมีในตำราพิชัยสงครามหรือเปล่า ผมไม่ทราบเพราะไม่ได้ศึกษาดังที่บอกแล้ว แต่ผมเกิด insight ขึ้นมาจากเหตุการณ์บางอย่าง
เห็นไหมครับ “เหตุการณ์บางอย่าง” คืออะไร ผมยังไม่กล้าพูดตรงๆ เลย
ก็ผมกลัวนี่ครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘
——–