วิลาส – พิลาส (บาลีวันละคำ 4,423)
วิลาส – พิลาส
ระวังอย่าให้กลายเป็นวินาศ – พินาศ
อ่านว่า วิ-ลาด พิ-ลาด
(๑) “วิลาส”
บาลีอ่านว่า วิ-ลา-สะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ลสฺ (ธาตุ = ชอบใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” คือ อะ ที่ ล-(สฺ) เป็น อา (ลสฺ > ลาส)
: วิ + ลสฺ = วิลสฺ + ณ = วิลสณ > วิลส >วิลาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่น่าชอบใจโดยพิเศษ”
“วิลาส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เสน่ห์, ความสง่างาม, ความงดงาม (charm, grace, beauty)
(2) การทำเล่น, การเล่นสนุก, การทำสะบัดสะบิ้ง (dalliance, sporting, coquetry)
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วิลาส” ว่า งาม, สวยงาม, การเยื้องกราย, การชมดชม้อย
บาลี “วิลาส” สันสกฤตก็เป็น “วิลาส”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิลาส : (คำนาม) จริตกริยาหรืออาการดีดดิ้นอย่างหนึ่งของสตรี (อันท่านพึงนับว่าออกจากศฤงคารรสหรือรสรัก, เช่นเวลากามุกเข้าหา วางสีหน้าไม่สบาย, ซ่อนตัวเวลากามุกเข้าหา, ฯลฯ.); กรีฑา, การเล่นสนุก; สวิลาสกรีฑา, การเล่นสนุกในเชิงรัก ๆ ใคร่ ๆ ของชายและหญิง, ‘การเล่นสุงสิง’ ก็ใช้ตามมติไท; ศรี, โศภา, , จารุตา, ลาวัณย์, ความงาม; one kind of feminine action (considered as preceding from amorous sentiments, on the approach of the lover, assuming a look of displeasure, hiding at his approach, &c.); sport, pastime; amorous sports; grace, elegance, beauty.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิลาส : (คำวิเศษณ์) พิลาส, งามมีเสน่ห์, งามอย่างสดใส. (ป., ส.).”
(๒) “พิลาส”
บาลีอ่านว่า พิ-ลา-สะ รากศัพท์และความหมายเหมือน “วิลาส” ตามสูตรคือ แปลง ว เป็น พ ดังนั้น “พิลาส” ก็คือ “วิลาส” นั่นเอง
: วิลาส > พิลาส
หลักความรู้ : ในบาลี คำนี้โดยปกติหรือรูปเดิมเป็น “วิลาส” (วิ– ว แหวน) กรณีที่ใช้ตามลำพัง คือไม่สมาสสนธิกับคำอื่น จะคงรูปเป็น “วิลาส” เสมอ แต่เมื่อมีคำอื่นมาลงข้างหน้าหรือไปสมาสข้างท้ายของคำอื่น อาจแปลง ว เป็น พ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการออกเสียง (เท่าที่ตรวจดูเบื้องต้นในคัมภีร์ ยังไม่พบที่แปลง ว เป็น พ)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิลาส : (คำกริยา) กรีดกราย, เยื้องกราย; คะนอง; ฟ้อนรำ. (คำวิเศษณ์) งามอย่างมีเสน่ห์, งามอย่างสดใส; สนุก. (ส. วิลาส).”
ข้อสังเกต :
ที่คำว่า “วิลาส” พจนานุกรมฯ บอกคำนิยามว่า “พิลาส” หมายความว่า “วิลาส” ก็คือ “พิลาส” แต่ที่คำว่า “พิลาส” พจนานุกรมฯ บอกความหมายไปเลย ไม่ได้บอกว่า “พิลาส” คือ “วิลาส” นี่แสดงว่า ตามมติของพจนานุกรมฯ คำที่เป็นหลักคือ “พิลาส” ไม่ใช่ “วิลาส” ซึ่งนับว่าตรงกันข้ามกับบาลีสันสกฤต เพราะในบาลีสันสกฤต คำที่เป็นหลักคือ “วิลาส” ไม่ใช่ “พิลาส”
อนึ่ง ตอนท้ายของคำนิยาม “พิลาส” พจนานุกรมฯ บอกที่มาของคำไว้ในวงเล็บว่า (ส. วิลาส) หมายความว่า “พิลาส” สันสกฤตเป็น “วิลาส”
อันที่จริง พจนานุกรมฯ ควรจะบอกที่มาของคำว่า (ป., ส. วิลาส) เพราะคำว่า “พิลาส” มิใช่เฉพาะสันสกฤตที่เป็น “วิลาส” แม้บาลีเป็น “วิลาส” ด้วยเช่นกัน
แถม :
หน่วยราชการที่สังกัดกระทรวงกลาโหมที่เป็นหน่วยกำลังหลัก คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ มีนายทหารจำพวกหนึ่งเรียกชื่อว่า “อนุศาสนาจารย์” ทำหน้าที่อบรมศีลธรรม เป็นที่ปรึกษาปัญหาด้านขวัญและกำลังใจให้แก่กำลังพลในสังกัด และปฏิบัติหน้าที่ในศาสนพิธีของหน่วย
นายทหารจำพวก “อนุศาสนาจารย์” นี้ รับสมัครจากบุคคลพลเรือนที่มีวุฒิการศึกษาทางพระพุทธศาสนาและเคยอุปสมบทมาก่อน
นายทหารจำพวก “อนุศาสนาจารย์” แม้จะมีสถานะเป็นทหารเต็มตัว แต่จะประพฤติตนเป็นคนเสพสุข เช่น กิน เที่ยว เล่น อย่างที่เห็นทหารทั่วไปมักจะประพฤติกันนั้นมิได้ นายทหารจำพวก “อนุศาสนาจารย์” ต้องมีจรรยาบรรณพื้นฐาน โดยเฉพาะคือรักษาศีล 5 ตลอดเวลา
มีข้อเตือนสติในหมู่อนุศาสนาจารย์ว่า –
“เราเป็นเรา เราพิลาส
เราเป็นเขา เราพินาศ”
หมายความว่า –
ถ้าอนุศาสนาจารย์ดำรงตนอยู่ในจรรยาบรรณอย่างมั่นคง อนุศาสนาจารย์ก็จะเป็นบุคคลที่งามสง่าน่านับถือ นี่คือ พิลาส
ถ้าอนุศาสนาจารย์ประพฤติตนเป็นคนเสพสุข กิน เที่ยว เล่น เหมือนคนทั่วไป อนุศาสนาจารย์ก็จะเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ ไม่ควรแก่การนับถือ นี่คือ พินาศ
จะพิลาสหรือจะพินาศ ขึ้นอยู่กับความประพฤติของตัวเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าพระประพฤติอย่างชาววัด พระศาสนาก็พิลาส
: ถ้าพระประพฤติอย่างชาวบ้าน พระศาสนาก็พินาศ
#บาลีวันละคำ (4,423)
22-7-67
…………………………….
…………………………….