บาลีวันละคำ

สุวโจ (บาลีวันละคำ 4,193)

สุวโจ

ผู้อันบุคคลพึงว่ากล่าวได้โดยง่าย

อ่านว่า สุ-วะ-โจ

สุวโจ” รูปคำเดิมเป็น “สุวจ” อ่านว่า สุ-วะ-จะ รากศัพท์มาจาก สุ + วจ 

(๑) “สุ

เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีท่องจำกันว่า “สุ = ดี, งาม, ง่าย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)

(๒) “วจ

บาลีอ่านว่า วะ-จะ รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = กล่าว) + (อะ) ปัจจัย

: วจฺ + = วจ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขากล่าว” หมายถึง คำพูด, การเปล่งเสียง, ถ้อยคำ, การร้องเรียก (speaking, utterance, word, bidding)

สุ + วจ = สุวจ แปลว่า “ผู้อันเขาพึงกล่าวได้โดยง่าย” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึงบุคคลที่ว่าง่าย, นิ่มนวล (compliant, meek)

รูปอื่นของ “สุวจ” :

สุวจ” แปลง เป็น ซ้อน พฺ ได้รูปเป็น “สุพฺพจ” (สุบ-พะ-จะ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุพฺพจ” ว่า having nice speech, compliant (มีคำพูดดี, ยอมตาม)

คำที่ตรงกันข้ามกับ “สุวจ” คือ “ทุวจ” (ทุ-วะ-จะ) แปลง เป็น ซ้อน พฺ ได้รูปเป็น “ทุพฺพจ” (ทุบ-พะ-จะ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทุวจ” และ “ทุพฺพจ” ว่า having bad speech, using bad language, foul-mouthed (มีคำพูดเลว, ใช้ภาษาไม่ดี, ปากร้าย)

สุวจ” ใช้เป็นนามฉายา (ชื่อที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้เป็นภาษาบาลีเมื่ออุปสมบท) ของภิกษุ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สุวโจ

อภิปรายขยายความ :

คำที่มีรากศัพท์มาจาก “สุวจ” คือ “โสวจสฺสตา” (โส-วะ-จัด-สะ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้อันเขาพึงกล่าวได้โดยง่าย” หมายถึง ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย เป็นมงคลข้อหนึ่งในมงคล 38 ประการ

มีข้อที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของ “โสวจสฺสตา” กล่าวคือ ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายในที่นี้เล็งถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย คือผู้แนะนำฝ่ายหนึ่ง และผู้รับคำแนะนำอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์ฉันมิตร เช่น ระหว่างพ่อแม่กับลูก ครูบาอาจารย์กับศิษย์เป็นต้น ไม่ใช่ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง

ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองนั้น มี “อำนาจ” เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว ว่าง่ายหรือว่ายากจึงไม่ใช่ปัญหา ว่ายากก็ใช้อำนาจปราบลงได้

แต่ผู้แนะนำกับผู้รับคำแนะนำไม่มีอำนาจแบบนั้น ผู้แนะนำไม่ได้มีความประสงค์จะให้ผู้รับคำแนะนำมาอยู่ใต้อำนาจ ยอมให้บังคับกดขี่ ไม่ยอมให้แข็งข้อ แบบนั้นไม่ใช่ความประสงค์ในการมีสัมพันธ์กัน ดังนั้น ถ้าผู้รับคำแนะนำไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะฟังคำแนะนำ เช่นอ้างว่า”ข้าพเจ้ารู้จักผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตัวเอง ใครไม่ต้องมาสอน” ผู้แนะนำก็ไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปบังคับได้ การถ่ายทอดความดีความงามความรู้ก็ย่อมทำไม่ได้ ผู้รับคำแนะนำก็เสียประโยชน์ไปเอง 

คุณสมบัติสำคัญของผู้รับคำแนะนำก็คือ “โสวจสฺสตา” ท่านแปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย” ซึ่งไม่ได้แปลว่าให้ยอมอยู่ใต้อำนาจ ยอมให้กดขี่แต่โดยดี แต่หมายถึงให้มีใจกว้างยอมฟังคำแนะนำเพื่อประโยชน์ของผู้ฟังนั่นเอง

ในคัมภีร์ท่านยกลักษณะตรงกันข้าม คือ “ความเป็นผู้ว่ายากสอนยาก” มาแสดงเทียบให้เห็น ดังนี้ – 

…………..

ทุกฺขํ  วโจ  เอตสฺมึ  วิปฺปฏิกูลคฺคาหิมฺหิ  วิปฺปจฺจนีกสาเต  อนาทเร  ปุคฺคเลติ  ทุพฺพโจ.  ตสฺส  กมฺมํ  โทวจสฺสํ.  ตสฺส  ภาโว  โทวจสฺสตา. 

การว่ากล่าวได้ยากในบุคคลผู้ถือรั้น ผู้ยินดีในการขัดคอ ผู้ไม่เอื้อเฟื้อนั้นมีอยู่ เหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ว่ายาก. กรรมของบุคคลผู้ว่ายากนั้นชื่อว่า โทวจสฺสํ. ภาวะแห่งกรรมของบุคคลผู้ว่ายากนั้นชื่อว่า โทวจสฺสตา.

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 435 หน้า 340

…………..

แถม :

ในอดีตกาลไม่นานไกลนัก พระมหาเถระรูปหนึ่งในคณะสงฆ์ไทยมีนามฉายาว่า “สุวโจ” คือ พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) (21 กันยายน พ.ศ. 2437-22 มกราคม พ.ศ. 2504) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (2501-2504)

…………..

ดูก่อนภราดา!

สุวโจ” ไม่ได้แปลว่า “พูดกันดี ๆ”

: พูดกันดี ๆ แต่ก็ยังดื้อ

: คนเช่นนั้นหรือมิใช่ “สุวโจ”

#บาลีวันละคำ (4,193)

5-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *