บาลีวันละคำ

วิเทโศบาย (บาลีวันละคำ 4,202)

วิเทโศบาย

คำไม่ยาว แต่ความหมายยาวไกล

อ่านว่า วิ-เท-โส-บาย

แยกศัพท์เป็น วิเทศ + อุบาย

(๑) “วิเทศ

อ่านว่า วิ-เทด บาลีเป็น “วิเทส” (-เทส เสือ) อ่านว่า วิ-เท-สะ ประกอบด้วย วิ + เทส

(ก) “วิ” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” หมายถึง คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง เช่น – 

วัฒน์ = เจริญ 

อภิวัฒน์ = เจริญยิ่ง 

ปักษ์ = ฝ่าย

ปฏิปักษ์ = ฝ่ายตรงข้าม, ข้าศึก, ศัตรู.

ตามตัวอย่างนี้ “อภิ” และ “ปฏิ” คือคำอุปสรรค

วิ” มีคำแปลตามที่นักเรียนบาลีท่องจำกันได้ว่า “วิ = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง

วิเศษ” และ “ต่าง” ในที่นี้หมายถึง แปลกไปจากปกติ, ไม่ใช่สิ่งที่มีที่เป็นอยู่ตามปกติ, ไม่เหมือนพวกที่เป็น ที่เห็น ที่มีกันอยู่ตามปกติ

(ข) “เทส” บาลีอ่านว่า เท-สะ รากศัพท์มาจาก ทิส (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง, ประกาศ) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส)

: ทิสฺ + = ทิสณ > ทิส > เทส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่แสดงให้รู้” “ที่ประกาศให้ปรากฏ” หมายถึง จุด, หัวข้อ, ส่วน, สถานที่, ภาค, ถิ่น, ประเทศ (point, part, place, region, spot, country) 

เทส” ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “เทศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เทศ, เทศ-, เทศะ : (คำวิเศษณ์) ต่างประเทศ เช่น เครื่องเทศ ม้าเทศ. (คำนาม) ถิ่นที่, ท้องถิ่น, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”

วิ + เทส = วิเทส แปลตามศัพท์ว่า “ท้องถิ่นต่าง” หมายถึง ต่างถิ่น ต่างแดน ต่างเมือง ต่างประเทศ (foreign country) 

บาลี “วิเทส” สันสกฤตเป็น “วิเทศ” (-เทศ ศาลา)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

วิเทศ : (คำนาม) ต่างประเทศ; ที่ทั่วไปอันไกลจากบ้าน; a foreign country; any place away from home.”

ภาษาไทยใช้เป็น “วิเทศ” ตามสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วิเทศ : (คำนาม) ต่างประเทศ. (ป., ส.).”

คำว่า “วิเทศ” ถ้าไปเป็นส่วนประกอบนามสมณศักดิ์ เช่น –

พระเทพมงคลวิเทศ

พระราชธรรมวิเทศ

พระครูรัชมงคลวิเทศ

พระครูศรีภัทรวิเทศ

พระครูภาวนานันทวิเทศ

พึงลงสันนิษฐานได้ว่า เป็นพระเถระที่ปฏิบัติศาสนกิจประจำอยู่ในต่างประเทศ

(๒) “อุบาย

อ่านว่า อุ-บาย บาลีเป็น “อุปาย” อ่านว่า อุ-ปา-ยะ รากศัพท์คือ อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อาย (อิ > เอ > อาย

: อุป + อิ > เอ > อาย = อุปาย + = อุปาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กลวิธีเป็นเหตุให้ถึงความชนะศัตรู” “วิธีเป็นเหตุให้เข้าถึง” “การเข้าใกล้” หมายถึง หนทาง, วิธี, กลวิธี, เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม (way, means, expedient, stratagem)

บาลี “อุปาย” สันสกฤตก็เป็น “อุปาย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อุปาย : (คำนาม) ‘อุบาย,’ เล่ห์กล, ทาง; เครื่องอาศรัยเอาชัยชนะแก่ฆ่าสึก การเข้าหา; a means, an expedient, a way; a means of success against an enemy; approach.”

อุปาย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุบาย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อุบาย : (คำนาม) วิธีการอันแยบคาย; เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม. (ป., ส. อุปาย).”

วิเทส + อุปาย แผลง อุ เป็น โอ 

: วิเทส + อุปาย = วิเทสุปาย > วิเทโสปาย อ่านว่า วิ-เท-โส-ปา-ยะ แปลว่า “อุบายเกี่ยวกับต่างประเทศ” 

วิเทโสปาย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิเทโศบาย” (วิ-เท-โส-บาย) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วิเทโศบาย : (คำนาม) นโยบายการต่างประเทศ.”

ขยายความ :

ในคัมภีร์บาลีมีคำว่า “วิเทส” หมายถึง ต่างประเทศ แต่ที่เป็น “วิเทโสปาย” ยังไม่พบ “วิเทโศบาย” จึงเป็นคำที่บัญญัติใช้ในภาษาไทย 

วิเทโศบาย” คำไม่ยาว แต่ความหมายยาวไกล 

แปลไม่ยาก แต่ทำจริงไม่ง่าย 

ทำถูกทำดี รักษาบานเมืองไว้ได้ 

ทำไม่ถูกไม่ดี เสียบ้านเสียเมือง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะยกย่องต่างประเทศก็ไม่ว่า

: แต่อย่าเหยียบย่ำประเทศตัวเอง

#บาลีวันละคำ (4,202)

14-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *