บาลีวันละคำ

โมคคัลลาน์สารีบุตร (บาลีวันละคำ 4,203)

โมคคัลลาน์สารีบุตร

คำที่คุ้นกันสุด ๆ แต่อาจจะรู้ไม่หมด

อ่านว่า โมก-คัน-ลา-สา-รี-บุด

ประกอบด้วยคำว่า  โมคคัลลาน์ + สารีบุตร 

(๑) “โมคคัลลาน์

อ่านว่า โมก-คัน-ลา เขียนแบบบาลีเป็น “โมคฺคลฺลาน” อ่านว่า โมก-คัน-ลา-นะ รากศัพท์มาจาก โมคฺคลฺลี (อสาธารณนาม ชื่อสตรี) + ณาน ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อี ที่ โมคฺคลฺลี (โมคฺคลฺลี > โมคฺคลฺล) และลบ (ณาน > อาน)

: โมคฺคลฺลี + ณาน = โมคฺคลฺลีณาน > โมคฺคลฺลณาน > โมคฺคลฺลาน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของนางโมคคัลลีพราหมณี” 

โมคฺคลฺลาน” มักเรียกเป็นคำไทยว่า “โมคคัลลาน์

(๒) “สารีบุตร

อ่านว่า สา-รี-บุด เขียนแบบบาลีเป็น “สารีปุตฺต” อ่านว่า สา-รี-ปุด-ตะ รากศัพท์มาจาก สารี (อสาธารณนาม ชื่อสตรี) + ปุตฺต 

ปุตฺต” อ่านว่า ปุด-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปู (ธาตุ = สะอาด, ชำระ) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ, รัสสะ อู ที่ ปู เป็น อุ (ปู > ปุ)

: ปู + ตฺ + = ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นเหตุให้บิดามารดาสะอาด” (คือไม่ถูกตำหนิว่าไม่มีผู้สืบสกุล) (2) “ผู้ชำระตระกูลของตนให้สะอาด” (คือทำให้ตระกูลมีผู้สืบต่อ)

(2) ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ,(ปูรฺ > ปูตฺ), รัสสะ อู ที่ ปู-(รฺ) เป็น อุ (ปูร > ปุร)

: ปูรฺ + ตฺ = ปูรต > ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม

(3) ปุสฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ปุสฺ > ปุ), ซ้อน ตฺ 

: ปุสฺ > ปุ + ตฺ + = ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันมารดาบิดาเลี้ยงดู” 

ปุตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ลูกชาย (a son) 

(2) เด็ก, ผู้สืบสกุล (child, descendant)

สารี + ปุตฺต = สารีปุตฺต แปลว่า “ลูกชายของนางสารี

หมายเหตุ: คำว่า “สารีปุตฺต” ในคัมภีร์บาลีของไทยเรา สะกดเป็น “สารีปุตฺต” –รี– สระ อี ก็มี สะกดเป็น “สาริปุตฺต” –ริ– สระ อิ ก็มี เมื่อเรียกเป็นคำไทย เป็น “สารีบุตร” (-รี– สระ อี) ก็มี เป็น “สาริบุตร” (-ริ– สระ อิ) ก็มี แต่ส่วนมากคำไทยจะเรียกว่า “สารีบุตร” (-รี– สระ อี)

โมคคัลลาน์ + สารีบุตร = โมคคัลลาน์สารีบุตร (โมก-คัน-ลา-สา-รี-บุด)

ขยายความ :

โมคคัลลาน์สารีบุตร” เป็นชื่อของพระอรหันต์เถระ 2 องค์ซึ่งเป็นอัครสาวก (สาวกผู้เลิศ, สาวกผู้ยอดเยี่ยม) ของพระพุทธเจ้า หมายถึงพระสารีบุตร เป็นอัครสาวกเบื้องขวา และพระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย 

ชื่อของพระอัครสาวก 2 องค์นี้ที่เป็นคำบาลี ถ้าเอ่ยควบกันทั้ง 2 ชื่อ จะเป็น “สารีปุตฺตโมคฺคลฺลาน” คือชื่อพระสารีบุตรอยู่หน้า แต่ที่เรียกกันเป็นคำไทยมักเอาชื่อพระโมคคัลลานะนำหน้า และเรียกเป็น โมก-คัน-ลา คือสะกดเป็น “โมคคัลลาน์” เรียกควบกันเป็น “โมคคัลลาน์สารีบุตร” 

คำไทยเอาชื่อ “โมคคัลลาน์” ขึ้นก่อน น่าจะเป็นเพราะต้องการให้ “-ลา-” สัมผัสกับ “-สา-” คล้องจองกันเป็น “โมคคัลลาน์สารีบุตร” ถ้าเอา “สารีบุตร” ขึ้นก่อน เป็น “สารีบุตรโมคคัลลาน์” ก็จะไม่มีคำสัมผัส

ที่เราไม่ค่อยรู้และไม่ได้เอ่ยถึงกันก็คือ พระสารีบุตรนั้นชื่อเดิมก่อนบวชคือ “อุปติสสะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อุปติสฺส” อ่านว่า อุ-ปะ-ติด-สะ แปลว่า “ผู้เป็นที่ยินดีของบิดามารดาซึ่งผู้คนนับถือ” 

ส่วนพระโมคคัลลานะ ชื่อเดิมก่อนบวชคือ “โกลิตะ” เขียนแบบบาลีเป็น “โกลิต” อ่านว่า โก-ลิ-ตะ แปลว่า “ผู้เกิดในตระกูล” หรือ “ผู้แผ่ขยายคุณของตน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สรุปประวัติของ “โมคคัลลาน์สารีบุตร” ไว้ดังนี้ –

…………..

มหาโมคคัลลานะ : ชื่อพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรของพราหมณ์นายบ้านแห่งนั้น มารดาชื่อนางโมคคัลลีพราหมณี เดิมเรียกชื่อว่าโกลิตะ ตามชื่อหมู่บ้านซึ่งบิดาของตนเป็นใหญ่ ต่อมาเรียก โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางพราหมณีโมคคัลลีหรือโมคคัลลานีนั้น ได้เป็นสหายกับอุปติสสะ (คือพระสารีบุตร) มาแต่เด็ก ต่อมาทั้งสองได้ออกบวชเป็นปริพาชกอยู่ในสำนักของสญชัยปริพาชกจนกระทั่งอุปติสสะได้พบพระอัสสชิ สหายทั้งสองจึงได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า บวชในพระธรรมวินัย เมื่อบวชแล้วถึงวันที่ ๗ โกลิตะ ซึ่งบัดนี้เรียกว่า มหาโมคคัลลานะ ก็ได้บรรลุอรหัตผล ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก ในตอนปลายพุทธกาล ท่านถูกพวกโจรซึ่งได้รับจ้างจากพวกเดียรถีย์ ลอบสังหารด้วยการทุบตีจนร่างแหลก พระพุทธเจ้าโปรดให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ใกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน ในเขตเมืองราชคฤห์, ชื่อของท่านนิยมเรียกกันง่าย ๆ ว่า พระโมคคัลลาน์ 

…………..

สารีบุตร : อัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ (บางแห่งเรียกนาลันทะ) ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อสารี จึงได้นามว่าสารีบุตร แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ซึ่งต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานะ มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และ เรวตะ น้องหญิง ๓ คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้งสองคนไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปดูแล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสวงหาโมกขธรรม และต่อมาได้ไปบวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชก แต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย จนวันหนึ่งอุปติสสปริพาชก พบพระอัสสชิเถระขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมใสติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอน ได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะ แล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง ๒๕๐ คน ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน เมื่อบวชแล้วได้ ๑๕ วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับการยกย่องเป็น พระธรรมเสนาบดี คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการสังคายนา เป็นต้น ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือน เมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาของท่านซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฐิให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้วปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ หลังจากปลงศพแล้วพระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี (อรรถกถาว่าท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน) 

พระสารีบุตรมีคุณธรรมและจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างหลายประการ เช่น เป็นผู้มีความกตัญญูสูง ดังได้แสดงออกเกี่ยวกับพระอัสสชิ (นอนหันศีรษะไปทางที่พระอัสสชิพำนักอยู่) และราธพราหมณ์ (ระลึกถึงบิณฑบาตหนึ่งทัพพีและรับเป็นอุปัชฌาย์แก่ราธะ) สมบูรณ์ด้วยขันติธรรมต่อคำว่ากล่าว (ยอมรับคำแนะนำแม้ของสามเณร ๗ ขวบ) เป็นผู้เอาใจใส่อนุเคราะห์เด็ก (เช่น ช่วยเอาเด็กยากไร้มาบรรพชา มีสามเณรอยู่ในความปกครองดูแล ซึ่งเก่งกล้าสามารถหลายรูป) และเอาใจใส่คอยดูแลภิกษุอาพาธเป็นต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พูดกับคนพาลต้องใช้ฤทธิ์

: พูดกับบัณฑิตต้องใช้ปัญญา

#บาลีวันละคำ (4,203)

15-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *