บาลีวันละคำ

สนธิเฉท (บาลีวันละคำ 4,217)

สนธิเฉท

บาลีก็มีสำนวน

อ่านว่า สน-ทิ-เฉด

แยกศัพท์เป็น สนธิ + เฉท

(๑) “สนธิ” บาลีเขียน “สนฺธิ” (มีจุดใต้ ) อ่านว่า สัน-ทิ รากศัพท์มาจาก สํ + ธา 

สํ” (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, รวมกัน, ดี) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ), “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ธา (ธา > )

: สํ > สนฺ + ธา = สนฺธา > สนฺธ + อิ = สนฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาอันเขาทรงไว้ร่วมกัน” > “กิริยาอันเขาเชื่อมต่อ

สนฺธิ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า – 

(1) การรวมกัน, การต่อกันเข้า (union, junction)

(2) รอยแยก, รอยแตก, ช่องโหว่, ช่องว่าง (breach, break, hole, chasm)

(3) ข้อต่อ, ชิ้น, เครื่องเกี่ยวโยง (joint, piece, link)

(4) การต่อเนื่องกัน, การรวมกัน (connection, combination

(5) การต่อที่ทำให้เสียงดีขึ้น, “สนฺธิ” (euphonic junction, euphony, “sandhi”)

(6) การลงรอยหรือตกลงกัน (agreement)

บาลี “สนฺธิ” สันสกฤตก็เป็น “สนฺธิ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สนฺธิ : (คำนาม) ‘สันธิ, สนธิ,’ สมาคม, การต่อหรือรวม; ศานติสุข; รู, โพรงหรือชะวาก; อุโมง; การแบ่ง; โยนี; ภาคแห่งนาฏก; มัธยกาล; ข้ออวัยวะหรือศรีระ; อักษรสันธิ, การสนธิอักษรหรือต่อคำ (เข้าข้างน่าและหลังคำต่าง ๆ, หรือต่อกลางคำสมาสก็ตาม); เวลาสิ้นสุด; union, junction or combination; peace; a hole, a chasm; a mine; dividing; the vulva; a division of a drama; an interval; a joint of the body; a Sandhi, the union of letters (either at the beginning and end, or in the middle of compound terms); the period at the end of a Yuga.”

ในภาษาไทย เมื่อพูดว่า “สนธิ” มักนึกถึงในความหมายที่ว่า-เอาศัพท์ตั้งแต่ 2 ศัพท์ขึ้นไปมาเชื่อมกัน ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สนธิ : (คำนาม) ที่ต่อ, การติดต่อ; การเปลี่ยนแปลงเสียงซึ่งเกิดจากการเชื่อมเสียง ๒ เสียง ที่อยู่ชิดกันให้กลมกลืนกัน ในภาษาบาลีและสันสกฤตมีพยัญชนะสนธิ เช่น ทุส + ชน เป็น ทุรชน สระสนธิ เช่น พจน + อนุกรม เป็น พจนานุกรม และนิคหิตฺสนธิ เช่น เอวํ + เม เป็น เอวมฺเม ในภาษาอื่น ๆ ที่มีวรรณยุกต์เช่นภาษาจีนมีวรรณยุกต์สนธิ เช่น เกี่ยม + ฉ่าย เป็น เกี่ยมฉ่าย. (ป., ส.).”

(๒) “เฉท

บาลีอ่านว่า เฉ-ทะ รากศัพท์มาจาก ฉิทฺ (ธาตุ = ตัด, แบ่ง) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ฉิ-(ทฺ) เป็น เอ ( ฉิทฺ > เฉท)

: ฉิทฺ + = ฉิท > เฉท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การตัด” หมายถึง การตัด, การทำลาย, การสูญเสีย (cutting, destruction, loss)

บาลี “เฉท” สันสกฤตก็เป็น “เฉท

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

เฉท : (คำนาม) การตัด, การแบ่ง; ภาค, ส่วน; การแก้; ส่วนหรือตัวหารของเลขเศษส่วน; cutting, dividing; a part, a portion; solving; the denominator or divisor of a fraction.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

เฉท : (คำแบบ) (คำนาม) การตัด, การฟัน, การฉีก, การเด็ด, การขาด, เช่น เฉทเฌอ. (ม. คําหลวง ทานกัณฑ์). (ป., ส.).”

สนฺธิ + เฉท ซ้อน จฺ ระหว่างศัพท์เพราะศัพท์หลังขึ้นต้นด้วย เป็นพยัญชนะวรรค และกำหนดให้ ซ้อนหน้า

: สนฺธิ + จฺ + เฉท = สนฺธิจฺเฉท (สัน-ทิด-เฉ-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “การตัดซึ่งที่ต่อ” 

ขยายความ :

สนฺธิจฺเฉท” ในบาลีเป็น “คำสองความ” คือคำเดียวแต่มีความหมาย 2 อย่าง ดังนี้ –

(1) ความหมายที่หนึ่ง: การงัดแงะเข้าไปในบ้านผู้อื่น (housebreaking) ตรงกับคำไทยว่า “ตัดช่องย่องเบา” คำว่า “ตัดช่อง” มาจากคำว่า “สนฺธิจฺเฉท” ตรงตัว (สนฺธิ = ช่อง เฉท = ตัด)

ในบาลีในที่ทั่วไป “สนฺธิจฺเฉท” ใช้ในความหมายตัดช่องย่องเบา เป็นคำที่กล่าวถึงมิจฉาชีพ

(2) ความหมายที่สอง: ผู้ไม่ถือกำเนิด [ = ไม่ถือปฏิสนธิ] (one who has brought rebirths [=paṭisandhi] to an end) หมายถึง ผู้ตัดสนธิ คือวงจรการเวียนตายเวียนเกิดได้แล้ว ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป

ความหมายนี้เป็นความหมายโดยนัย หรือเป็น “สำนวน” ใช้เรียกพระอรหันต์

แถม:

สนฺธิจฺเฉท” บาลีอ่านว่า สัน-ทิด-เฉ-ทะ ใช้ในภาษาไทยเป็น “สนธิเฉท” อ่านว่า สน-ทิ-เฉด

ถามว่า “สนธิเฉท” (สน-ทิ-เฉด) เป็นคำบาลีสันสกฤตหรือเป็นคำไทย?

ตอบว่า “สนธิเฉท” เป็นคำไทยที่มาจากบาลีสันสกฤต

คำว่า “สนธิเฉท” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขอฝาก “สนธิเฉท” ไว้ในวงวรรณ เป็นสมบัติวัฒนธรรมทางภาษาของไทยอีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ช่วยกันสร้างคำไทยใส่ไว้ในคลัง

: อย่าหลงคำฝรั่งจนลืมคำไทย

#บาลีวันละคำ (4,217)

29-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *