บาลีวันละคำ

สุปปะภาตัง (บาลีวันละคำ 4,216)

สุปปะภาตัง

ได้ยินพระสวดดัง ๆ จะร้องอ๋อ

สุปปะภาตัง” เขียนแบบบาลีเป็น “สุปฺปภาตํ” อ่านว่า สุบ-ปะ-พา-ตัง แยกศัพท์เป็น สุ + ปภาตํ

(๑) “สุ

เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ดี, งาม, ง่าย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)

(๒) “ปภาตํ” 

รูปคำเดิมเป็น “ปภาต” อ่านว่า ปะ-พา-ตะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ภา (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + ปัจจัย

: + ภา = ปภา + = ปภาต แปลตามศัพท์ว่า “เวลาเป็นที่สว่างไปทั่วแห่งโลก” = เวลาที่โลกสว่างไปทั่ว

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ปภาต” ว่า ตอนเช้า, รุ่งเช้า, เช้าตรู่ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปภาต” ดังนี้ –

(1) เป็นคำกริยาหรือคำวิเศษณ์: become clear or light, shining, dawning (ชัดเจนหรือสว่าง, ส่องแสงสว่าง, รุ่งอรุณ)

(2) เป็นคำนาม: daybreak, morning (เวลารุ่งแจ้ง, เช้า)

สุ + ปภาต ซ้อน ปฺ ระหว่างอุปสรรคกับศัพท์หลัง (สุ + ปฺ + ปภาต)

: สุ + ปฺ + ปภาต = สุปฺปภาต (สุบ-ปะ-พา-ตะ) แปลว่า “เวลารุ่งสว่างที่ดีงาม” 

สุปฺปภาต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สุปฺปภาตํ” (สุบ-ปะ-พา-ตัง)

สุปฺปภาตํ” เขียนแบบไทยเป็น “สุปปะภาตัง” (สุบ-ปะ-พา-ตัง)

ขยายความ :

ถ้าถามว่า เคยได้ยินบาลีคำนี้ “สุปปะภาตัง” กันบ้างไหม? คนทั่วไปที่ไม่คุ้นกับคำบาลี-โดยเฉพาะไม่คุ้นกับบทสวดมนต์-คงนึกไม่ออก

แต่ถ้าถามว่า เคยฟังพระสวดบท “มะหาการุณิโก” กันบ้างไหม? คราวนี้คงพอมีคนตอบได้บ้าง โดยเฉพาะคนที่ไปทำบุญวันพระจะต้องได้ฟังพระสวดบท “พาหุง” ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นการเฉพาะว่า “ถวายพรพระ” จบพาหุงก็จะต่อด้วย “มะหาการุณิโก”

พอจะนึกออกหรือยังว่า คำว่า “สุปปะภาตัง” อยู่ในบทมะหาการุณิโกนี่เอง

“มหาการุณิโก” เป็นชื่อบทสวดบทหนึ่งมีชื่อว่า “ชยปริตร” แต่ไม่ค่อยมีคนรู้จักชื่อนี้ มักเรียกกันเป็นสามัญว่า “มหากา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ชยปริตร” มีคำอธิบายดังนี้ –

…………..

ชยปริตร : “ปริตรแห่งชัยชนะ”, ปริตรบทหนึ่ง ประกอบด้วยคาถาที่แต่งขึ้นใหม่ในยุคหลัง โดยนำเอาพุทธพจน์ (สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ ฯเปฯ สห สพฺเพหิ ญาติภิ, องฺ.ติก.๒๐/๕๙๕/๓๗๙) มาตั้งเป็นแกน เริ่มต้นว่า “มหาการุณิโก นาโถ” จัดเป็นปริตรบทที่ ๑๒ (บทสุดท้าย) ใน “สิบสองตำนาน”

ชยปริตรนี้ นิยมสวดกันมาก นอกจากใช้สวดรวมในชุดสิบสองตำนาน และพ่วงท้ายเจ็ดตำนานแล้ว ยังตัดเอาบางส่วนไปใช้ต่างหากจากชุด สำหรับสวดในพิธีหรือในโอกาสอื่นด้วย เช่น นำไปสวดต่อจากชยมังคลัฏฐกคาถา (พุทธชัยมงคลคาถา) ในการถวายพรพระ และจัดเป็นบทเฉพาะสำหรับสวดในกำหนดพิธีพิเศษหรือมงคลฤกษ์ต่างๆ เป็นต้นว่า โกนผมไฟ ตัดจุก วางศิลาฤกษ์ เปิดงาน เปิดร้าน รับพระราชทานปริญญาบัตร เททองหล่อพระ เรียกว่า เจริญชัยมงคลคาถา

…………..

แถม :

ขอนำบท “ชยปริตร” พร้อมทั้งคำแปลมาเสนอเป็นอภินันทนาการดังต่อไปนี้ (ในที่นี้เขียนแบบคำอ่าน)

…………..

มะหาการุณิโก  นาโถ

หิตายะ  สัพพะปาณินัง

ปูเรต๎วา  ปาระมี  สัพพา

ปัตโต  สัมโพธิมุตตะมัง.

ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์ ประกอบด้วยพระมหากรุณา ยังบารมีทั้งหลายทั้งปวงให้เต็ม เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ถึงแล้วซึ่งความตรัสรู้อันอุดม 

เอเตนะ  สัจจะวัชเชนะ

โหตุ  เต  ชะยะมังคะลัง.

ด้วยความกล่าวสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

ชะยันโต  โพธิยา  มูเล

สัก๎ยานัง  นันทิวัฑฒะโน

เอวัง  ต๎วัง  วิชะโย  โหหิ

ชะยัสสุ  ชะยะมังคะเล,

อะปะราชิตะปัลลังเก

สีเส  ปะฐะวิโปกขะเร

อะภิเสเก  สัพพะพุทธานัง

อัคคัปปัตโต  ปะโมทะติ.

ขอท่านจงมีชัยชนะในมงคลพิธีเหมือนพระจอมมุนีทรงชนะมารที่โคนโพธิพฤกษ์ ถึงความเป็นผู้เลิศในสรรพพุทธาภิเษก ทรงปราโมทย์อยู่เหนืออปราชิตบัลลังก์อันสูง เป็นจอมมหาปฐพี ทรงเพิ่มพูนความยินดีแก่เหล่าประยูรญาติศากยวงศ์ ฉะนั้นเทอญ.

สุนักขัตตัง  สุมังคะลัง 

เวลาที่ประพฤติชอบ ชื่อว่าฤกษ์ดี มงคลดี

สุปปะภาตัง  สุหุฏฐิตัง

สว่างดี รุ่งดี

สุขะโณ  สุมุหุตโต  จะ

แลขณะดี ครู่ดี

สุยิฏฐัง  พ๎รัห๎มะจาริสุ

บูชาแล้วดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย

ปะทักขิณัง  กายะกัมมัง

กายกรรมเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

วาจากัมมัง  ปะทักขิณัง

วจีกรรมเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

ปะทักขิณัง  มะโนกัมมัง

มโนกรรมเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

ปะณิธี  เต  ปะทักขิณา

ความปรารถนาของท่านเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

ปะทักขิณานิ  กัต๎วานะ

ละภันตัตเถ  ปะทักขิเณ.

สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวาแล้ว ย่อมได้ประโยชน์ทั้งหลายอันเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา.

…………..

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอถวายข้อสังเกตไปยังพระภิกษุสามเณรดังนี้ –

บท “ชยปริตร” หรือ “มหาการุณิโก” ตรงคำว่า “สุปปะภาตัง” นี้ พระภิกษุสามเณรตามวัดต่าง ๆ มักจะออกเสียงเป็น สุ-ปับ-พา-ตัง ซึ่งเป็นการออกเสียงที่คลาดเคลื่อน

โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบ –

เขียนแบบบาลีเป็น “สุปฺปภาตํ” 

เขียนแบบไทยเป็น “สุปปะภาตัง

เขียนแยกพยางค์ให้เห็นชัด ๆ “สุป-ปะ-ภา-ตัง

สุ– มี ปฺ ปลาสะกด เป็น สุปฺ– ต้องออกเสียงว่า สุบ ไม่ใช่ สุ

ปภา– ไม่มีตัวสะกด อ่านว่า ปะ-พา ไม่ใช้ ปับ-พา

ดังนั้น สุปฺปภาตํ > สุปปะภาตัง > สุป-ปะ-ภา-ตัง 

จึงต้องออกเสียงว่า สุบ-ปะ-พา-ตัง 

ไม่ใช่ สุ-ปับ-พา-ตัง

สุบ-ปะ-

ไม่ใช่ สุ-ปับ-

ขอความกรุณา พยายามแก้ไขที่สวดผิดให้ถูก

และขอความกรุณาอย่าพยายามอธิบายผิดให้เป็นถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ามีความสามารถอธิบายผิดให้กลายเป็นถูกได้

: ก็ควรมีความสามารถแก้ไขที่ผิดให้กลับเป็นถูกได้ด้วย

#บาลีวันละคำ (4,216)

28-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *