ฐานะโส (บาลีวันละคำ 4,218)
ฐานะโส
ไม่ใช่ภาษาโหล แต่เป็นคำมีระดับ
อ่านว่า ถา-นะ-โส
“ฐานะโส” เขียนแบบบาลีเป็น “ฐานโส” อ่านว่า ถา-นะ-โส แยกศัพท์เป็น ฐาน +โส
(๑) “ฐาน”
อ่านว่า ถา-นะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฐา + ยุ > อน = ฐาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งผล”
“ฐาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ส่วน [ของสิ่งใดๆ] (place, region, locality, abode, part)
(2) ภาวะ, สถานะ, สภาวะ (state, condition)
(3) ที่ตั้ง (location)
(4) อิริยาบถยืน (standing position)
(5) คุณลักษณะ, คุณภาพ, ตำแหน่ง (attribute, quality, degree)
(6) สิ่ง, ข้อ, จุด; ฐานะ, หนทาง, ประการ, เหตุผล [สำหรับการถือเช่นนั้น] (thing; item, point; grounds, ways, respects, [assumption] reason)
(7) ความคาดคิด, ข้อสมมุติ, หลักการ (supposition, principle)
(8 ) ทันทีทันใด (at once, immediately)
บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ฐาน ๒, ฐาน-, ฐานะ : (คำนาม) ตำแหน่งหน้าที่ เช่น เธอต้องรับผิดชอบในฐานที่เป็นหัวหน้าห้อง; หลักฐาน, ลำดับความเป็นอยู่ในสังคม เช่น ทุกคนยอมรับรู้ฐานะในสังคมของเขา. (ป.).”
“ฐานะ” เป็นคำที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวัน แต่ส่วนมากไม่ได้คิดถึงที่ไปที่มาและมักเข้าใจกันในความหมายแคบ ๆ อย่างเดียว ไม่ได้นึกถึงความหมายอีกหลายอย่างของศัพท์
(๒) “โส”
เป็นปัจจัยในวิภาคตัทธิต (วิ-พา-คะ-ตัด-ทิด) ตัทธิตชนิดนี้มีปัจจัย 2 ตัว คือ “ธา” และ “โส” ลงแทนศัพท์ว่า “วิภาค” จึงเรียกชื่อตัทธิตชนิดนี้ว่า “วิภาคตัทธิต”
“วิภาค” แปลว่า “แจก, จำแนก, ส่วน” เวลาแปลจริง ๆ อาจเลือกใช้คำแปลอื่น ๆ แต่มีความหมายทำนองเดียวกันนี้ เช่น “ทฺวิธา” ที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “ทวีธา” แปลว่า “สองส่วน” หมายถึง 2 เท่า เช่นคำว่า “ทวีธาภิเษก” หมายถึง การสมโภชที่พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันครองราชสมบัติยืนนานมาเป็น 2 เท่าของรัชกาลก่อนหน้านั้น
“ทวีธา” ก็คือ ทฺวิ + ธา ปัจจัยในวิภาคตัทธิตดังกล่าวนี้
ศัพท์ที่ลง “ธา” และ “โส” ปัจจัย เวลาแปลเป็นไทยท่านนิยมใช้คำเชื่อมว่า “โดย” เช่น “ทฺวิธา” แปลว่า “โดยส่วนสอง” (โดย 2 ส่วน)
ฐาน + โส = ฐานโส (ถา-นะ-โส) แปลเท่าที่ตาเห็นว่า “โดยฐานะ”
ขยายความ :
คำว่า “ฐานโส” นักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “โดยฐานะ” เช่นประโยคว่า “ฐานโส อุปกปฺปติ” (คำแสดงความปรารถนาดีหรืออวยพร) ก็แปลว่า “ย่อมสำเร็จโดยฐานะ” แล้วอธิบายกันว่า ใครอยู่ในฐานะใด ๆ ก็ขอให้ความปรารถนาสำเร็จตามควรแก่ฐานะนั้น ๆ
แต่ความหมายจริง ๆ ของ “ฐานโส” ในประโยคว่า “ฐานโส อุปกปฺปติ” นี้ ท่านไม่ได้หมายถึง “ย่อมสำเร็จโดยฐานะ” ตามที่อธิบายเช่นนั้น หากแต่ “ฐานโส” ต้องแปลว่า “โดยพลัน” หรือ “โดยทันทีทันใด” ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า at once, immediately (ดูความหมายข้อที่ (8 ) ข้างต้น)
: ฐานโส อุปกปฺปติ = ย่อมสำเร็จโดยพลัน
ไม่ใช่ “ย่อมสำเร็จโดยฐานะ” อย่างที่แปลกันมา
…………..
แถม :
คำว่า “ฐานโส” ใช้ในภาษาไทย เขียนแบบคำอ่านเป็น “ฐานะโส” ไม่เขียน “ฐานโส” แบบบาลี เพราะถ้าเขียน “ฐานโส” ก็จะมีคนอ่านว่า ถาน-โส ซึ่งเป็นคำอ่านที่ผิด เขียน “ฐานะโส” ปิดทางที่จะอ่านผิดได้
“ฐานะโส” = โดยพลัน ถ้าใช้ในการตอบรับคำขอร้องที่มีผู้ขอให้เราทำอะไรให้สักอย่าง ก็จะมีความหมายว่า “ได้เดี๋ยวนี้เลยครับ” “ได้เดี๋ยวนี้เลยค่ะ” หรือถอดคำแบบภาษาปากว่า “ได้เลย” นั่นเอง
นักเรียนบาลี-หรือแม้แต่คนทั่วไป-ลองหัดพูดคำว่า “ฐานะโส” ให้ติดปากก็น่าจะดี
คำฝรั่งเราพูดติดปากกันเกร่อไปหมด
คำบาลีทำไมจะพูดให้ติดปากบ้างไม่ได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
บาลี —
: ถ้าเรียนเพียงเพื่อให้สอบได้
ได้ประโยชน์เฉพาะตน ชั่วอายุตน
: ถ้าเรียนเพื่อเอาไปใช้งาน
ประโยชน์แผ่ไปถึงปวงชน ชั่วอายุพระศาสนา
#บาลีวันละคำ (4,218)
30-12-66
…………………………….
…………………………….