บาลีวันละคำ

มโหทร – จุโฬทร (บาลีวันละคำ 4,219)

มโหทรจุโฬทร

ไม่ใช่- มโหธร – จุโฬธร

เมื่อเขียนคำที่ออกเสียงว่า มะ-โห-ทอน คนส่วนมากหรือแทบทั้งหมดจะสะกดเป็น “มโหธร” คือคำว่า -ทอน- ใช้ ธ ธง

เช่นชื่อนางสงกรานต์นางหนึ่ง ออกเสียงว่า มะ-โห-ทอน-เท-วี ในคำประกาศสงกรานต์ ก็จะสะกดเป็น “มโหธรเทวี”

ชื่อนาคราชหรือพญานาค 2 ตน คือ “มโหทรนาคราช” และ “จุโฬทรนาคราช” ก็มีผู้สะกดเป็น “มโหธร – จุโฬธร” ใช้ -ธร ธ ธง อยู่นั่นแล้ว

เหมือนกับว่า คนไทยจะถูกสาป ได้ยินเสียง -ทอน- เป็นคำบาลีสันสกฤต เป็นต้องใช้ -ธร ธ ธง ทันที

ทำนองเดียวกับได้ยินคำว่า “ทูต” ต้องใช้ ฑ มณโฑ ทันที

ได้ยินคำว่า “มุทิตา” ต้องใช้ ฑ มณโฑ ทันที

โปรดทราบและโปรดตราไว้ว่า คำที่ออกเสียงว่า มะ-โห-ทอน จุ-โล-ทอน ที่เป็นชื่อคนชื่อสัตว์ สะกดเป็น “มโหทร” “จุโฬทร” -ทร ท ทหาร 

“มโหธร – จุโฬธร” -ธร ธ ธง เป็นคำที่สะกดผิด

ที่เขียนผิดมาแล้ว โปรดตามไปแก้ไขให้ถูกต้อง

ที่จะเขียนต่อไป โปรดสะกดให้ถูกต้อง

ขยายความ :

(๑) “มโหทร” แยกศัพท์เป็น มหา + อุทร 

มหา” รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” แล้วแปลงเป็น “มหา” แปลว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

อุทร” บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-ระ แปลว่า ท้อง, กระเพาะอาหาร (the belly, stomach)

มหา + อุทร ลบสระหน้า คือ อา ที่ มหา (มหา > มห) แผลง อุ ที่ อุทร เป็น โอ (อุทร > โอทร

: มหา > มห + อุทร = มหุทร > ทโหทร บาลีอ่านว่า มะ-โห-ทะ-ระ แปลว่า “มีท้องใหญ่

(๒) “จุโฬทร” แยกศัพท์เป็น จูฬ + อุทร 

จูฬ” บาลีเป็น จู– สระ อู รูปคำเดิมเป็น “จุลฺล” อ่านว่า จุน-ละ แผลงเป็น “จูฬ” แปลว่า เล็ก, น้อย, บาง, ผอม (small, minor) คำตรงข้ามก็คือ “มหา” (great, major)

อุทร” คำเดียวกับ “อุทร” คำว่า “มโหทร

: จูฬ + อุทร = จูฬุทร > จูโฬทร บาลีอ่านว่า จู-โล-ทะ-ระ แปลว่า “มีท้องเล็ก

จูโฬทร” ภาษาไทยใช้เป็น “จุโฬทร” บางทีสะกดตามรูปเดิมเป็น “จุโลทร” ก็มี

อภิปราย :

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นข้อความที่เอ่ยถึงนาคราช 2 ตน คือ “มโหทรจุโฬทร” แต่ผู้เขียนสะกดเป็น มโหธร – จุโฬธร (-ธร ธ ธง)

มโหทร” “จุโฬทร” (-ทร ท ทหาร) เป็นคำบาลี เป็นคำเก่า ในคัมภีร์พบคำนี้มีใช้อยู่หลายแห่ง 

คำว่า มโหธร – จุโฬธร (-ธร ธ ธง) ถ้ามีใช้ก็จะต้องเป็นคำเก่าเช่นเดียวกัน แต่ไม่พบคำที่สะกดเช่นนี้ในคัมภีร์

จึงยืนยันได้ว่า 

มโหทร” “จุโฬทร” –ร- ท ทหาร – ถูก

มโหธร – จุโฬธร –ร- ธ ธง – ผิด

ถ้าไม่ทักท้วงกันไว้ แต่ปล่อยให้เขียนกันอย่างนี้แบบเลยตามเลย เชื่อว่าจะต้องมีผู้ออกมาอธิบายให้ผิดกลายเป็นถูก

เช่นคำว่า “มโหธร” (-ธร ธ ธง) ที่เป็นชื่อนางสงกรานต์ อธิบายว่า ก็แปลได้ความว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งความยิ่งใหญ่” ไม่เห็นจะผิดตรงไหน มีความหมายดีกว่า “มโหทร” (-ทร ท ทหาร) ที่แปลว่า“ผู้มีท้องใหญ่” ซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่สวยงาม และไม่น่าจะเป็นชื่อของเทพธิดาที่เป็นนางสงกรานต์แต่ประการใด 

ฟังเผิน ๆ จะเห็นว่าน่าเชื่ออยู่ไม่น้อย 

แต่ชื่อเฉพาะเช่นนี้จะมองเพียงแค่ความหมายที่คิดเอาเองหาได้ไม่ ต้องดูลึกลงไปถึงรากศัพท์ด้วย 

มโหธร” (-ธร ธ ธง) ที่อ้างว่าแปลได้ความว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งความยิ่งใหญ่” นั้นเป็นการแปลแบบลากเข้าความ ตามศัพท์แท้ ๆ “มหนฺต > มหา > มห +” แปลว่า “ใหญ่” เฉยๆ ไม่มีคำแสดงว่าอะไรใหญ่ 

ที่แปลว่า “ความยิ่งใหญ่” หรือ “คุณอันยิ่งใหญ่” นั้นเป็นการแปลแบบที่นักเรียนบาลีเรียกกันว่า “แปลคุด” คือเสริมความเข้ามาเพื่อให้ตรงกับความประสงค์เท่านั้น 

แม้จะลากต่อไปว่า มีคำว่า “คุณ” อยู่ด้วย แต่ลบออกตามกฎของคำสมาสหรือตัทธิต ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้ ก็ฟังได้เพียงผิวเผิน

แต่องค์ประกอบอื่น ๆ ไม่มีน้ำหนักมากพอ

เช่น ลองแยกศัพท์ดู “มโหธร” (-ธร ธ ธง) คำเดิม “มห” (มาจาก “มหา” และ “มหา” มาจาก “มหนฺต”) ในที่นี้เปลี่ยนรูปเป็น “มโห-” แสดงว่าคำที่มาต่อท้ายจะต้องขึ้นต้นด้วย “อุ-” แล้วแผลง “อุ” เป็น “โอ” หรือไม่ก็ต้องขึ้นต้นด้วย “โอ-” ตรง ๆ “มห” จึงกลายรูปเป็น “มโห-” ได้ 

ตามหลักนี้คำหลังก็ต้องเป็น “อุธร” หรือ “โอธร” (-ธร ธ ธง)

ในภาษาบาลีหรือสันสกฤต ไม่ปรากฏว่ามีศัพท์ว่า “อุธร” หรือ “โอธร” 

มห + อุธร = มโหธร จึงขาดน้ำหนักที่ควรเชื่อถือ 

แต่ที่สำคัญก็คือ ถ้า “มโหธร” (-ธร ธ ธง) ก็ถูกเหมือนกัน-เช่นอ้างว่า แปลง – ท หาร เป็น – ธ ธง-แล้วไซร้ ก็ควรจะพบคำที่สะกดเช่นนี้ในคัมภีร์เท่า ๆ กับที่พบ “มโหทร” (-ทร ท ทหาร) หรือควรจะพบบ้าง แต่นี่กลับไม่พบเลย 

สรุปว่า “มโหธร” รวมทั้ง “จุโฬธร” (-ธร ธ ธง) เป็นคำที่เขียนผิดเพราะความเข้าใจผิด 

และการสะกดผิดเช่นนี้ ไม่ว่าจะออกมาจากเอกสารของใครหรือหน่วยงานไหน ก็ต้องนับว่าผิดทั้งนั้น 

การแก้ไขให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่ควรทำ 

การอธิบายผิดให้เป็นถูกเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

…………..

แถม :

ขอนำข้อความในคัมภีร์ที่กล่าวถึงชื่อ “มโหทรนาคราช” และ “จุโฬทรนาคราช” มาเสนอไว้ในที่นี้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าชื่อนี้สะกดอย่างนี้-ทร ท ทหาร เป็นคำสะกดที่ถูกต้อง

…………..

ตถาหิ  ภควตา  ติรจฺฉานปุริสาปิ  อปลาโล  นาคราชา  จูโฬทโร  มโหทโร  อคฺคิสิโข  ธูมสิโข  อาลวาโฬ  นาคราชา  ธนปาลโก  หตฺถีติเอวมาทโย  ทมิตา  นิพฺพิสา  กตา สรเณสุ  จ  สีเลสุ  จ  ปติฏฺฐาปิตา  ฯ

จริงอย่างนั้น แม้ดิรัจฉานบุรุษ*ทั้งหลาย เช่นอย่าง อปลาลนาคราช จูโฬทรนาคราช มโหทรนาคราช อัคคิสิขนาคราช ธูมสิขนาคราช อาลวาฬนาคราช ช้างธนปาลกะ พระผู้มีพระภาคก็ทรงฝึกได้ คือทรงทำให้หมดพิษ (หมดร้าย) ให้ตั้งอยู่ในสรณะและในศีลได้

ที่มา:

– วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 265 (ฉอนุสสตินิทเทส)

– สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ภาค 1 หน้า 150-151 (เวรัญชกัณฑวัณณนา)

…………..

*คำว่า “บุรุษ” ในที่นี้ ท่านมิได้หมายถึงเพศ แต่หมายถึงว่าใครก็ตามที่จะรับการฝึกได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำผิดแล้วยอมรับผิด 

ควรแก่การนับถือ

: ทำผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้อง

ควรแก่การน้อมคารวะ

#บาลีวันละคำ (4,219)

31-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *