บาลีวันละคำ

สนธิสัญญา (บาลีวันละคำ 4,221)

สนธิสัญญา

ความตกลงระหว่างประเทศ

อ่านว่า สน-ทิ-สัน-ยา

แยกศัพท์เป็น สนธิ + สัญญา

(๑) “สนธิ” บาลีเขียน “สนฺธิ” (มีจุดใต้ ) อ่านว่า สัน-ทิ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, รวมกัน, ดี) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ), “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ธา (ธา > )

: สํ > สนฺ + ธา = สนฺธา > สนฺธ + อิ = สนฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาอันเขาทรงไว้ร่วมกัน” > “กิริยาอันเขาเชื่อมต่อ

สนฺธิ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า – 

(1) การรวมกัน, การต่อกันเข้า (union, junction)

(2) รอยแยก, รอยแตก, ช่องโหว่, ช่องว่าง (breach, break, hole, chasm)

(3) ข้อต่อ, ชิ้น, เครื่องเกี่ยวโยง (joint, piece, link)

(4) การต่อเนื่องกัน, การรวมกัน (connection, combination

(5) การต่อที่ทำให้เสียงดีขึ้น, “สนฺธิ” (euphonic junction, euphony, “sandhi”)

(6) การลงรอยหรือตกลงกัน (agreement)

บาลี “สนฺธิ” สันสกฤตก็เป็น “สนฺธิ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สนฺธิ : (คำนาม) ‘สันธิ, สนธิ,’ สมาคม, การต่อหรือรวม; ศานติสุข; รู, โพรงหรือชะวาก; อุโมง; การแบ่ง; โยนี; ภาคแห่งนาฏก; มัธยกาล; ข้ออวัยวะหรือศรีระ; อักษรสันธิ, การสนธิอักษรหรือต่อคำ (เข้าข้างน่าและหลังคำต่าง ๆ, หรือต่อกลางคำสมาสก็ตาม); เวลาสิ้นสุด; union, junction or combination; peace; a hole, a chasm; a mine; dividing; the vulva; a division of a drama; an interval; a joint of the body; a Sandhi, the union of letters (either at the beginning and end, or in the middle of compound terms); the period at the end of a Yuga.”

ในภาษาไทย เมื่อพูดว่า “สนธิ” มักนึกถึงในความหมายที่ว่า-เอาศัพท์ตั้งแต่ 2 ศัพท์ขึ้นไปมาเชื่อมกัน ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สนธิ : (คำนาม) ที่ต่อ, การติดต่อ; การเปลี่ยนแปลงเสียงซึ่งเกิดจากการเชื่อมเสียง ๒ เสียง ที่อยู่ชิดกันให้กลมกลืนกัน ในภาษาบาลีและสันสกฤตมีพยัญชนะสนธิ เช่น ทุส + ชน เป็น ทุรชน สระสนธิ เช่น พจน + อนุกรม เป็น พจนานุกรม และนิคหิตฺสนธิ เช่น เอวํ + เม เป็น เอวมฺเม ในภาษาอื่น ๆ ที่มีวรรณยุกต์เช่นภาษาจีนมีวรรณยุกต์สนธิ เช่น เกี่ยม + ฉ่าย เป็น เกี่ยมฉ่าย. (ป., ส.).”

(๒) “สัญญา

เขียนแบบบาลีเป็น “สญฺญา” อ่านว่า สัน-ยา รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: สํ > สญฺ + ญา + กฺวิ = สญฺญากฺวิ > สญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ” 

สญฺญา” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้ (sense, consciousness, perception)

(2) ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก (sense, perception, discernment, recognition)

(3) แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ (conception, idea, notion)

(4) สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (sign, gesture, token, mark)

(5) ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง) (sense impression and recognition)

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัญญา : (คำนาม) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดนิติกรรมขึ้น; ข้อตกลงกัน, คำมั่น, เช่น เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้; ความจำ เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (คำกริยา) ให้คำมั่น, รับปาก, ทำความตกลงกัน, เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ ๑ จะให้รางวัล. (ป.).”

สนธิ + สัญญา = สนธิสัญญา แปลตามศัพท์ว่า “ข้อตกลงที่เชื่อมโยงกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สนธิสัญญา : (คำนาม) หนังสือสัญญาที่สำคัญยิ่งและทำเป็นตราสารสมบูรณ์แบบ, ความตกลงระหว่างประเทศ; หนังสือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างประเทศเอกราชตั้งแต่ ๒ ประเทศขึ้นไป. (อ. treaty).”

ขยายความ :

พจนานุกรมฯ บอกว่า “สนธิสัญญา” บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า treaty

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล treaty เป็นไทยว่า สัญญาระหว่างชาติ เช่น สัญญาทางพระราชไมตรี, สนธิสัญญา

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล treaty เป็นบาลีดังนี้: 

(1) sandhānapaṇṇa สนฺธานปณฺณ (สัน-ทา-นะ-ปัน-นะ) = หนังสือผูกไมตรี

(2) saṅgara สงฺคร (สัง-คะ-ระ) = ความตกลงร่วมกัน

…………..

แถม :

ในภาษาไทย คำว่า “สัญญา” มักใช้ในความหมายว่า รับปากว่าจะทำตามที่ตกลงกันไว้ 

ความหมายเช่นนี้บาลีใช้คำว่า “ปฏิญฺญา” ไม่ใช่ “สญฺญา

สัญญา” ในภาษาไทย ตรงกับคำอังกฤษว่า promise

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล promise เป็นบาลีว่า “ปฏิญฺญา” ไม่ได้แปลเป็นบาลีว่า “สญฺญา

ความหมายเด่นของ “สญฺญา” ในบาลีคือ ความจำได้ (perception) ใกล้เคียงกับคำว่า “สติ” และ “อนุสฺสติ” ความระลึกได้ (remember)

นักเรียนบาลีที่เรียนวิชาแต่งไทยเป็นมคธ คือเรียงความภาษาบาลีจากข้อความที่เป็นภาษาไทย ต้องระวัง “ความหมายระหว่างภาษา” ให้ดี 

ถ้าใช้คำบาลีตามความหมายที่ใช้ในภาษาไทยไปแต่งเป็นบาลี ความหมายก็จะผิดเพี้ยนอย่างที่ท่านเรียกว่า “บาลีไทย” คือคำเป็นภาษาบาลี แต่ความหมายเป็นความหมายในภาษาไทย ไม่ใช่ความหมายตามภาษาบาลี

ตัวอย่างคำที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ คำว่า “สงสาร”

“สงสาร” ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า “รู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น”

แต่ “สงฺสาร” ในบาลีหมายถึง “การเวียนตายเวียนเกิด”

ภาษาไทยในข้อสอบว่า “รู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น” 

นักเรียนแต่งคำตอบเป็นคำบาลีว่า “สงฺสาร” 

ก็คงต้องกลับไปหาความชำนาญมาสอบใหม่ปีหน้า 

เพราะอย่างนี้แหละที่ท่านเรียกว่า “บาลีไทย”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สัญญาบนแผ่นกระดาษ

: ไม่เด็ดขาดเท่าสัญญาใจ

#บาลีวันละคำ (4,221)

2-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *