บาลีวันละคำ

นักท่องเที่ยว (บาลีวันละคำ 4,226)

นักท่องเที่ยว

บาลีว่าอย่างไร

เอ่ยคำว่า “ท่องเที่ยว” คนไทยจะคุ้นกับคำอังกฤษว่า tour คำว่า “นักท่องเที่ยว” คำอังกฤษว่า tourist 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล tourist เป็นไทยว่า นักท่องเที่ยว

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล tourist เป็นบาลี ดังนี้: 

(1) desāṭaka เทสาฏก (เท-สา-ตะ-กะ) = ผู้เที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ > นักท่องเที่ยว

(2) sañcārī สญฺจารี (สัน-จา-รี) = ผู้ท่องเที่ยวไป > นักท่องเที่ยว

หาความรู้รากศัพท์ :

(1) “เทสาฏก” 

อ่านว่า เท-สา-ตะ-กะ แยกศัพท์เป็น เทส + อาฏก

(๑) “เทส” บาลีอ่านว่า เท-สะ รากศัพท์มาจาก ทิส (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง, ประกาศ) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส)

: ทิสฺ + = ทิสณ > ทิส > เทส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่แสดงให้รู้” “ที่ประกาศให้ปรากฏ” หมายถึง จุด, หัวข้อ, ส่วน, สถานที่, ภาค, ถิ่น, ประเทศ (point, part, place, region, spot, country) 

เทส” ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “เทศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เทศ, เทศ-, เทศะ : (คำวิเศษณ์) ต่างประเทศ เช่น เครื่องเทศ ม้าเทศ. (คำนาม) ถิ่นที่, ท้องถิ่น, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”

(๒) “อาฏก” อ่านว่า อา-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก อฏฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (อฏฺ > อาฏ)

: อฏฺ + ณฺวุ = อฏณฺวุ > อฏก > อาฏก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไป” “ผู้เที่ยวไป” 

เทส + อาฏก = เทสาฏก (เท-สา-ตะ-กะ) แปลว่า “ผู้เที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ” = นักท่องเที่ยว

เทสาฏก” อาจแปลงเป็นไทยเป็น “เทศาฎก” (เท-สา-ดก) แต่ทั้งรูปและเสียงคงไม่ติดหูคนไทย เพราะฉะนั้น ก็รู้ไว้พอเป็นอลังการทางภาษา

(2) “สญฺจารี

อ่านว่า สัน-จา-รี รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, เนื่องกัน) + จรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ), ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (จรฺ > จาร

: สํ + จรฺ = สํจรฺ + ณี > อี = สํจรี > สญฺจรี > สญฺจารี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติประพฤติร่วมกัน” “ผู้มีปกติดำเนินไปร่วมกัน

ศัพท์ที่มีรากเดียวกันอีกคำหนึ่ง “สญฺจรณ” (สัน-จะ-ระ-นะ) หมายถึง การสัญจรไป, การพบ, สถานที่นัดพบกัน (wandering about, meeting, meeting-place) 

สญฺจร” “สญฺจรณ” “สญฺจารี” เป็นคำนาม คำกริยาเป็น “สญฺจรติ” (สัน-จะ-ระ-ติ) มีความหมายดังนี้ –

(1) สัญจร, ท่องเที่ยวไป (to go about, to wander)

(2) พบกัน, รวมเป็นกลุ่ม, มาด้วยกัน (to meet, unite, come together) 

(3 เคลื่อนไป, แกว่งไกว (to move, to rock) 

(4) ผ่านไป (to pass) 

ที่เป็นคำนามในคัมภีร์ พบคำว่า “สญฺจาร” (สัน-จา-ระ) และ “สญฺจรณ” เป็นพื้น 

ในภาษาไทย คำที่มีรากศัพท์เช่นนี้ที่เราคุ้นกันคือคำว่า “สัญจร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สัญจร : (คำกริยา) ผ่านไปมา เช่น ทางสัญจร. (คำนาม) ช่องทาง, ถนน; การผ่านไปมา. (ป., ส.).” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สัญจาระ” ไว้อีกคำหนึ่ง คำนี้ก็มีรากศัพท์มาทางเดียวกับ “สญฺจารี” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

สัญจาระ : (คำนาม) การเดินไป, การเที่ยวไป. (ป., ส.).”

: สญฺจาร + ณี > อี = สญฺจารี แปลว่า “ผู้เที่ยวไป” ในภาษาไทย อนุโลมตาม “สัญจาระ” สะกดเป็น “สัญจารี” อ่านว่า สัน-จา-รี หมายถึง นักท่องเที่ยว (tourist)

สัญจารี” ยังไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

ขยายความ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง กล่าวถึงวัดในเมืองไทยหลายวัดสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ด้วยความประสงค์จะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยนึกขึ้นมาว่า คำว่า “นักท่องเที่ยว” ภาษาบาลีว่าอย่างไร

และนึกต่อไปอีกว่า การแปลงวัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีผลดีอย่างไร และอาจจะมีผลไม่ดีอย่างไรบ้าง เรื่องนี้มีใครเคยคิดกันบ้าง โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่บริหารการพระศาสนา เคยคิดบ้างหรือเปล่า

เรามักจะภูมิใจและคุยอวดกันว่า วัดนี้มีคนเข้าวันละเป็นพัน วัดนั้นมีคนเข้าวันละเป็นหมื่น เราตื่นเต้นกับตัวเลขคนเข้าวัด (และรายได้ที่เข้าวัด) 

แต่เราแทบจะไม่ได้คิด (และคงไม่ต้องการจะคิด) ว่า คนเข้าวัดวันละเป็นพันเป็นหมื่นนั้น เข้าไปทำอะไร? และได้อะไรออกจากไปจากวัดบ้าง?

จากเดิม วัดคือสำนักศึกษาและปฏิบัติธรรม

ทุกวันนี้ วัดมีความหมายเป็นเพียงที่พักส่วนตัวของพระภิกษุสามเณร

และกำลังถูกแปรสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ในอนาคต วัดจะกลายเป็นอะไรอีก?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ช่วยกันรักษาพระศาสนา

: ช่วยกันทำวัดให้เป็นแหล่งศึกษาและปฏิบัติธรรม

#บาลีวันละคำ (4,226)

7-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *