บาลีวันละคำ

ลักษิกา (บาลีวันละคำ 4,227)

ลักษิกา

แปลว่าอะไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำมี “เพื่อน” ทางเฟซบุ๊ก เป็นสตรีชื่อ “ลักษิกา” เพิ่งอวยพรวันเกิดไปเมื่อวันก่อน และที่จังหวัดราชบุรีบ้านของผู้เขียนบาลีวันละคำก็มีนักการเมืองท้องถิ่นเป็นสตรีชื่อ “ลักษิกา” เหมือนกัน เข้าใจว่าในเมืองไทยคงมีสตรีที่ชื่อ “ลักษิกา” อยู่ไม่น้อยทีเดียว

ลักษิกา” เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร ใครรู้บ้าง?

…………..

คำบาลีที่น่าจะมีความหมายทำนองเดียวกับ “ลักษิกา” คือ (1) “ลกฺข” (2) “ลกฺขี” (3) “ลกฺขิก” 

(1) “ลกฺข

อ่านว่า ลัก-ขะ รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด, เห็น) + (อะ) ปัจจัย

: ลกฺขฺ + = ลกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย” “สิ่งอันเขากำหนดไว้เพื่อยิง” 

ลกฺข” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) เครื่องหมาย (a mark) 

(2) เป้า (a target) 

(3) เงินเดิมพันในการพนัน (a stake at gambling)

(4) จำนวนสูง, แสน (a high numeral, a lac or 100,000) 

(2) “ลกฺขี

อ่านว่า ลัก-ขี รากศัพท์มาจาก ลกฺข (ดูรากศัพท์ข้างต้น) + อี ปัจจัย

: ลกฺข + อี = ลกฺขี แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้อันเขามองเห็นเพราะเป็นผู้ควรสรรเสริญ” (คือมีความดีเด่นอย่างใดอย่างหนึ่งที่ควรสรรเสริญ คนทั้งหลายจึงมองเห็น) (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดสัตว์โลก” (คือกำหนดว่าดีกว่าสัตว์ดิรัจฉานเนื่องจากรู้จักสรรค์สร้างสิ่งที่ดีงามให้แก่ตัวเองและหมู่คณะได้ หรือกล่าวรวบยอดว่าเป็นผู้สามารถพัฒนาตนเองได้)

ลกฺขี” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) โชค, เคราะห์ดี, ความสำเร็จ, สวัสดิภาพส่วนตัว (luck, good fortune, success, personal welfare) 

(2) ความสง่างาม, อำนาจ (splendour, power) 

(3) ความรุ่งเรือง (prosperity)

(3) “ลกฺขิก” 

อ่านว่า ลัก-ขิ-กะ รากศัพท์มาจาก ลกฺขี (ดูรากศัพท์ข้างต้น) + สกรรถ (อ่านว่า กะ-สะ-กัด คือลง ข้างท้ายศัพท์ แต่ความหมายเท่าคำเดิม), รัสสะ อี ที่ ลกฺขี เป็น อิ (ลกฺขี > ลกฺขิ)

: ลกฺขี > ลกฺขิ + = ลกฺขิก แปลเหมือน “ลกฺขี” คือ (1) “ผู้อันเขามองเห็นเพราะเป็นผู้ควรสรรเสริญ” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดสัตว์โลก” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ลกฺขิก” ว่า belonging to auspices, favoured by good luck (เกี่ยวกับการทำนายโชค, มีโชคดี) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ลักขะ” (จาก “ลกฺข”) และ “ลักขี” (จาก “ลกฺขี”) บอกไว้ดังนี้ – 

(1) ลักขะ : (คำนาม) เครื่องหมาย, เป้า; จํานวนแสนหนึ่ง. (ป.; ส. ลกฺษ).

(2) ลักขี : (คำนาม) โชค, ลาภ. (ป.; ส. ลกฺษมี).

ส่วน “ลักขิกะ” (จาก “ลกฺขิก”) พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บไว้

ทั้ง 3 คำนั้น ถ้าแปลงเป็นสันสกฤต 

ลกฺข” จะเป็น “ลกฺษ” 

ลกฺขี” จะเป็น “ลกฺษฺมี” 

ลกฺขิก” (น่า) จะเป็น “ลกฺษิก

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ลักษะ” (จาก “ลกฺข”) และ “ลักษมี” (จาก “ลกฺขี”) บอกไว้ดังนี้ – 

(1) ลักษะ : (คำนาม) ลักขะ. (ส.).

(2) ลักษมี : (คำนาม) โชคลาภ, ความเจริญ, ทรัพย์; ความงาม, เสน่ห์, สิริ; ชื่อเจ้าแม่แห่งลาภและความงาม เป็นชายาพระนารายณ์. (ส.).

ส่วน “ลักษิกะ” (จาก “ลกฺขิก”) พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บไว้

…………..

บาลี “ลกฺข” สันสกฤตเป็น “ลกฺษ” 

บาลี “ลกฺขี” สันสกฤตเป็น “ลกฺษฺมี” 

บาลี “ลกฺขิก” สันสกฤต (น่า) จะเป็น “ลกฺษิก

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ลกฺษ” และ “ลกฺษฺมี” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ) 

(1) ลกฺษ : (คำนาม) ‘ลักษ์,’ หนึ่งแสน, หรือสิบหมื่น; มายา, การปลอมแปลง; ที่หมายหรือเป้า; a lac, one hundred thousand; fraud, disguise; a mark or butt.

(2) ลกฺษฺมี : (คำนาม) พระชายาของพระวิษณุ, และภควดีแห่งทรัพย์และสมบัติ; ภาคย์, ชัยหรือศรี, บุณโยทัย; นางสีดา, พระชายาของพระราม; โศภา, ภาสุรัคว์หรือศรี; ชายา; วธูของวีรบุรุษ; ขมิ้น; มุกดาผล, ไข่มุกด์; the wife of Vishṇu, and goddess of wealth and prosperity; fortune, success, prosperity; Sitā, the wife of Rāma; beauty, splendor; a wife; the wife of a hero; turmeric; pearl.

ส่วน “ลกฺษิก” (จาก “ลกฺขิก”) สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีศัพท์นี้

หรือบาลี “ลกฺขิก” ถ้าสันสกฤตจะเป็น “ลกฺษฺมิก” ศัพท์ว่า “ลกฺษฺมิก” ก็ไม่มีใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน อีกเช่นกัน

…………..

ว่าตามรูปคำ บาลี “ลกฺขิก” สันสกฤตก็น่าจะเป็น “ลกฺษิก” และ “ลกฺษิก” นี่เองที่นักตั้งชื่อไทยเอามาแปลงเป็นชื่อสตรีว่า “ลักษิกา” มีความหมายอย่างเดียวกับ “ลกฺขิก” ในบาลี 

และ “ลกฺขิก” ในบาลีก็มีความหมายอย่างเดียวกับ “ลกฺขี” ดังที่แสดงไว้ข้างต้น คือ –

(1) โชค, เคราะห์ดี, ความสำเร็จ, สวัสดิภาพส่วนตัว (luck, good fortune, success, personal welfare) 

(2) ความสง่างาม, อำนาจ (splendour, power) 

(3) ความรุ่งเรือง (prosperity)

…………..

นักตั้งชื่อท่านใดอยากจะตั้งชื่อให้ลูกค้าว่า “ลักษิกา” แต่ยังไม่รู้ความหมาย ก็ดี ท่านผู้ใดชื่อ “ลักษิกา” และยังไม่รู้ความหมายของชื่อตัวเอง (เพราะคนไทยวันนี้นิยมตั้งชื่อให้มีตัวอักษรที่นิยมกันว่าเป็นอักษรมงคล หาคำไม่ได้ก็เอาอักษรตัวนั้น ๆ มาประสมกันเอง เกิดเป็นคำแปลก ๆ ที่ไม่มีในพจนานุกรมขึ้นมา เจ้าตัวเองก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร) ก็ดี ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้เอาความหมายของคำบาลีว่า “ลกฺขี” ดังแสดงไว้นั้น ไปเป็นความหมายของคำว่า “ลักษิกา” และยินดีให้อ้างอิงด้วยว่าเป็นความหมายตามที่ผู้เขียนบาลีวันละคำบอกไว้ ทั้งนี้ เผื่อว่าเกิดความผิดพลาดจะได้ชี้ตัวผู้รับผิดชอบได้ 

แต่ทั้งนี้ ขอความกรุณาให้บอกย้ำจำกันไว้ด้วยว่า เป็นความหมายตามสันนิษฐาน คือสันนิษฐานว่า คำว่า “ลักษิกา” มาจากคำบาลีว่า “ลกฺขิก” ซึ่งมาจากคำว่า “ลกฺขี” อีกทอดหนึ่ง (“ลกฺขิก” มาจาก “ลกฺขี” ไม่ใช่สันนิษฐาน แต่เป็นหลักภาษา พจนานุกรมบาลีระบุไว้ตรง ๆ)

ท่านผู้ใด-โดยเฉพาะท่านที่ชำนาญสันสกฤต-เห็นว่า ข้อสันนิษฐานนี้ไม่ถูกต้อง คือ แน่ใจว่าคำว่า “ลักษิกา” ไม่ได้มาจากคำบาลีว่า “ลกฺขิก” แต่มาจากคำอื่น และคำอื่นนั้นคือคำไหน ถ้าจะกรุณาชี้แนะเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชื่อเพราะ ๆ ที่ตั้งไว้ แต่ไม่มีใครเรียก หนึ่ง

เรียกแล้วก็ไม่มีใครรู้ความหมาย หนึ่ง

: ไม่ต่างอะไรกับอาหารพลาสติกที่ตั้งโชว์

เห็นแล้วน่ากิน แต่กินไม่ได้

#บาลีวันละคำ (4,227)

8-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *