อนาคามี [2] (บาลีวันละคำ 4,229)
อนาคามี [2]
ผู้ไปไม่กลับ
“อนาคามี” อ่านว่า อะ-นา-คา-มี รากศัพท์มาจาก น + อาคามี
(ก) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ
นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า “น ไม่ โน ไม่ มา อย่า ว เทียว” (น [นะ] = ไม่, โน = ไม่, มา = อย่า, ว [วะ] = เทียว)
“น” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
(ข) “อาคามี” อ่านว่า อา-คา-มี รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ค-(มฺ) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (คมฺ > คาม)
ในที่นี้ อา อุปสรรคใช้ในความหมาย “กลับความ”
: คม = ไป
: อาคม กลับความเป็น “มา”
: อา + คมฺ = อาคมฺ + ณี > อี = อาคมี > อาคามี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มา”
น + อาคามี
กฎการประสมของ น + :
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ–
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ แปลง น เป็น อน–
ในที่นี้ “อาคามี” ขึ้นต้นด้วยสระ (คือ อา-) จึงแปลง น เป็น อน
: น > อน + อาคามี = อนาคามี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่มา (เกิดเป็นมนุษย์)” หรือ “ผู้ไปไม่กลับ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนาคามี” ว่า one who does not return, a Never-Returner (ผู้ซึ่งไม่กลับมาอีก, ผู้ไม่หวนกลับมา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อนาคามี : “ผู้ไม่มาสู่กามภพอีก” เป็นชื่อพระอริยบุคคลชั้นที่ ๓ ใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์, บางทีเรียกสั้น ๆ ว่า พระอนาคา. (ป.; ส. อนาคามินฺ).”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “อนาคามี” ไว้ดังนี้ –
…………..
อนาคามี : พระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุอนาคามิผล มี ๕ ประเภท คือ
๑. อันตราปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ถึงกึ่ง (หมายถึงโดยกิเลสปรินิพพาน)
๒. อุปหัจจปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานเมื่อจวนจะถึงสิ้นอายุ
๓. อสังขารปรินิพพายี ผู้นิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก
๔. สสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก
๕. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ (พระอนาคามีผู้จะปรินิพพาน ต่อเมื่อเลื่อนขึ้นไปเกิดในชั้นสูงขึ้นไปจนถึงชั้นอกนิฏฐะ)
…………..
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายเรื่อง “อนาคามี” ไว้ดังนี้ –
…………..
As technical term designating one who has attained the 3rd stage out of four in the breaking of the bonds (Saŋyojanas) which keep a man back from Arahantship. (เป็นชื่อเฉพาะของผู้ซึ่งบรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นที่ 3 ในบรรดา 4 ชั้น เพราะท่านละเสียซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย (คือละโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ได้เด็ดขาด และทำอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ที่เหลือให้เบาบางลง) แต่ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะยังไม่บรรลุทั้ง 4 ชั้น)
So near is the Anāgāmin to the goal, that after death he will be reborn in one of the highest heaven and there obtain Arahantship, never returning to rebirth as a man. (พระอริยบุคคลที่เรียกว่าอนาคามีนี้นับว่าใกล้ความสำเร็จมาก, ดังนั้น หลังจากท่านได้ดับขันธ์ไปแล้วจะไปเกิดในชั้นพรหมโลก และ ณ ที่นั้น ท่านก็บรรลุความเป็นพระอรหันต์, ไม่กลับมาเกิดในมนุษยโลกอีก)
…………..
จับหลักไว้สั้น ๆ ว่า ใครบรรลุธรรมเป็นอนาคามี เมื่อดับชีพแล้วจะไม่มาเกิดเป็นมนุษย์อีก
หลักที่ควรทราบด้วยก็คือ พระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี อาจเป็นบรรพชิตก็ได้ เป็นฆราวาสอยู่ครองเรือนก็ได้ แต่ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ต้องเป็นบรรพชิตสถานเดียว ฆราวาสที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่บวชเป็นบรรพชิตในวันนั้น ก็จะดับขันธ์ในวันนั้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ปกติคนโง่เป็นเหยื่อของคนฉลาด
: แต่กรณีที่บอกว่าเป็นพระอนาคามีมาเกิด –
คนโง่เป็นเหยื่อของคนที่โง่กว่า
#บาลีวันละคำ (4,229)
10-1-67
…………………………….
…………………………….