บาลีวันละคำ

มติ มิติ มุติ (บาลีวันละคำ 4,236)

มติ มิติ มุติ

คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน

(๑) “มติ

อ่านว่า มะ-ติ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (มนฺ > )

: มนฺ + ติ = มนติ > มติ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” (คำหลักคือ “รู้” และมองว่า การรู้นั้นเป็น “ธรรมชาติ” อย่างหนึ่ง) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ให้ความหมายคำว่า “มติ” ว่า mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for (จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) บอกไว้ว่า –

มติ : (คำนาม) พุทธิ; ความปรารถนา; ความจำ; ความเคารพ; ความเห็น; understanding or intellect; wish or desire; memory or recollection; opinion.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มติ : (คำนาม) ความเห็น, ความคิดเห็น, เช่น ที่ประชุมลงมติ มติของข้าพเจ้า, ความรู้; ข้อวินิจฉัยญัตติที่เสนอต่อที่ประชุม. (ป., ส.).”

(๒) “มิติ

อ่านว่า มิ-ติ รากศัพท์มาจาก มิ หรือ มา (ธาตุ = ชั่ง, ตวง, วัด, นับ, กะประมาณ) + ติ ปัจจัย, (มา ธาตุ แปลง มา เป็น มิ)

: มิ + ติ = มิติ

: มา > มิ + ติ = มิติ 

มิติ” แปลตามศัพท์ว่า “การวัด” “การนับ” หมายถึง การทำกรรมวิธีเพื่อให้รู้ขนาด ปริมาณ และจำนวนเป็นต้น

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

มิติ : (คำนาม) การวัด-ตวง-ชั่ง; น้ำหนัก; ราคา; ความรู้; นิทรรศน์, หลักฐาน; measuring; weight; value; knowledge; evidence, proof.”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า “มิติ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า dimension มีคำแปลและขยายความดังนี้ –

…………..

dimension n. 

ขนาด, มิติ ขนาดกว้างยาวและหนา (หรือสูง) ทั้งสามอย่าง เรียกว่า the three dimensions เฉพาะขนาดยาวเรียกว่า first dimension ขนาดกว้าง second dimension ขนาดหนาหรือสูง third dimension นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดคะเนว่ายังมีขนาดอีกอย่างหนึ่ง คือ fourth dimension หรือมิติที่สี่ คือ ความไม่สิ้นสุด

…………..

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล dimension เป็นบาลีดังนี้:

(1) āroha-pariṇāha อาโรหปริณาห (อา-โร-หะ-ปะ-ริ-นา-หะ) แปลตามศัพท์ว่า “ระยะที่ยาวออกไปและด้านที่ติดเนื่องกันโดยรอบ” หมายถึง รูปทรงสัณฐานของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (คำนี้น่าจะไม่มีใช้ในภาษาไทย แต่ในคัมภีร์บาลีมีใช้)

(2) parimāṇa ปริมาณ (ปะ-ริ-มา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การนับรอบด้าน” หมายถึง ขนาด ปริมาณ หรือจำนวนที่สามารถกำหนดได้ (คำนี้รู้จักกันดีในภาษาไทย)

มิติ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) มิติ ๑ : (คำนาม) การวัด (มักใช้ประกอบหลังศัพท์อื่น) เช่น ตรีโกณมิติ สังคมมิติ, ขนาดซึ่งวัดไปตามทิศทางใดทิศทางหนึ่ง โดยถือขนาดยาวเป็นมิติที่ ๑ ขนาดกว้างเป็นมิติที่ ๒ ขนาดหนาหรือสูงเป็นมิติที่ ๓ และถือว่าเวลาเป็นมิติที่ ๔, ในทางศิลปะอาจใช้ หนาหรือลึก แทน กว้างหรือยาว ก็ได้. (ส.).

(2) มิติ ๒ : (คำนาม) ด้าน, มุมมอง, เช่น เปิดมิติใหม่ของวงการภาพยนตร์.

ข้อ (1) เป็นความหมายในทางวิชาการ

ข้อ (2) เป็นความหมายที่นิยมใช้ด้านสังคม เป็นความหมายที่กลายมาจากรากศัพท์เดิม คือจาก “การวัด การนับ” ขยายเป็น “การมอง” และกลายเป็น “การคิด” คือ ความคิดเห็น หรือการนำเสนอความคิดเห็น

(๓) “มุติ

อ่านว่า มุ-ติ รากศัพท์มาจาก –

(1) มุ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย

: มุ + ติ = มุติ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(นฺ) เป็น อุ (มนฺ > มุน), ลบ ที่สุดธาตุ (มุนฺ > มุ),

: มนฺ + ติ = มนติ > มติ > มุติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หมายถึง ญาณ, ปัญญา, ความรู้ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ให้ความหมายคำว่า “มุติ” ว่า sense-perception, experience, understanding, intelligence (การกำหนดรู้โดยทางประสาท, ประสบการณ์, ความเข้าใจ, สติปัญญา) 

โปรดสังเกตว่า คำแปลในภาษาไทย (จากหนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ [ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต]) “มติ” (ความรู้, ญาณ, ปัญญา, ความคิด) กับ “มุติ” (ญาณ, ปัญญา, ความรู้) ความหมายเหมือนกัน แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ให้ความหมายค่อนข้างแตกต่างกัน 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

มุติ : (คำนาม) ความรู้สึก, ความเห็น, ความเข้าใจ. (ป.).”

ขยายความ :

มติ” “มิติ” “มุติ” ในไวยากรณ์บาลีลง ติ ปัจจัยเหมือนกันทุกคำ แต่ธาตุหรือคำที่เป็นรากศัพท์มีทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน

มติ” มาจาก มนฺ ธาตุ (รู้)

มิติ” มาจาก มิ หรือ มา ธาตุ (ชั่ง, ตวง, วัด, นับ, กะประมาณ)

มุติ” มาจาก มุ ธาตุ (รู้) และ มนฺ ธาตุ (รู้)

ในบาลี “มติ” “มิติ” “มุติ” ใช้ในความหมายคล้ายกัน แต่ในภาษาไทยใช้ในความหมายต่างกัน

มติ” กับ “มิติ” เราค่อนข้างจะคุ้น แต่ “มุติ” นั้นเราไม่คุ้น จะว่าไปก็ไม่มีใครรู้จักด้วยซ้ำ แต่ถ้าพูดคำว่า “สมมุติ” เราจะคุ้นกันเป็นอย่างดี ทั้ง ๆ ที่ “มุติ” ก็มีอยู่ในคำว่า “สมมุติ” แท้ ๆ!

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนรู้คำ

: ง่ายกว่าเรียนรู้คน

#บาลีวันละคำ (4,236)

17-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *