บาลีวันละคำ

วจนักขมะ (บาลีวันละคำ 4,235)

วจนักขมะ

คุณสมบัติข้อหนึ่งของครู

อ่านว่า วะ-จะ-นัก-ขะ-มะ

วจนักขมะ” เขียนแบบบาลีเป็น “วจนกฺขม” อ่านว่า วะ-จะ-นัก-ขะ-มะ แยกศัพท์เป็น วจน + ขม

(๑) “วจน

อ่านว่า วะ-จะ-นะ รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วจฺ + ยุ > อน = วจน แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” “คำเป็นเครื่องพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)

(๒) “ขม” 

อ่านว่า ขะ-มะ รากศัพท์มาจาก ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + (อะ) ปัจจัย

: ขมฺ + = ขม แปลตามศัพท์ว่า “ความอดทน” “ความอดกลั้น” 

ขม” ในบาลี ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –

(1) อดทน, อภัยให้ (patient, forgiving) 

(2) อดกลั้น, ทนได้, แข็งแกร่งต่อ [ความหนาวและความร้อน], เหมาะแก่ (enduring, bearing, hardened to [frost & heat], fit for)

วจน + ขม ซ้อน กฺ ระหว่างศัพท์

: วจน + กฺ + ขม = วจนกฺขม (วะ-จะ-นัก-ขะ-มะ) แปลว่า “ผู้อดทนต่อถ้อยคำ” (a meek words)

วจนกฺขม” เขียนแบบไทยเป็น “วจนักขมะ

ขยายความ :

วจนักขมะ” เป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของครู ดังข้อความแสดงคุณสมบัติของกัลยาณมิตรในพระไตรปิฎกดังนี้ –

…………..

ปิโย ครุ ภาวนีโย

วตฺตา จ วจนกฺขโม

คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา

โน จฏฺฐาเน นิโยชเย.

(ปิโย  คะรุ ภาวะนีโย

วัตตา จะ วะจะนักขะโม

คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา

โน จัฏฐาเน นิโยชะเย.)

ที่มา: อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 34 

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [278] อธิบายขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

1. ปิโย (น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม — lovable; endearing)

2. ครุ (น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย — estimable; respectable; venerable)

3. ภาวนีโย (น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ — adorable; cultured; emulable)

4. วตฺตา (รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี — being a counsellor)

5. วจนกฺขโม (อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว — being a patient listener)

6. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา (แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป — able to deliver deep discourses or to treat profound subjects)

7. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย — never exhorting groundlessly; not leading or spurring on to a useless end)

…………..

ถ้าไม่รังเกียจคำบาลี ขอฝาก “วจนักขมะ” คำนี้ ไปพูดกันในภาษาไทยอีกสักคำ

…………..

ดูก่อนภราดา!

ค ครู – ค คน – ค ควาย :

: ถ้าเห็นว่า “ไหว้ครู” เป็นความงมงาย

: ก็ควรเป็นควายดีกว่าเป็นคน

#บาลีวันละคำ (4,235)

16-1-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *