พิสดาร (บาลีวันละคำ 4,237)
พิสดาร
บาลีว่าอย่างไร
อ่านว่า พิด-สะ-ดาน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิสดาร : (คำวิเศษณ์) กว้างขวาง, ละเอียดลออ (ใช้แก่เนื้อความ) เช่น ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร มีความพิสดารดังนี้; (ภาษาปาก) แปลกพิลึก เช่น เล่นพิสดาร. (ส. วิสฺตาร; ป. วิตฺถาร).”
ได้ความตามพจนานุกรมฯ ว่า “พิสดาร” บาลีเป็น “วิตฺถาร”
“วิตฺถาร” (มีจุดใต้ ตฺ) บาลีอ่านว่า วิด-ถา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ถรฺ (ธาตุ = แผ่, ขยาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (วิ + ตฺ + ถรฺ), ทีฆะ อะ ที่ ถ-(รฺ) เป็น อา (ถรฺ > ถาร)
: วิ + ตฺ + ถรฺ = วิตฺถรฺ + ณ = วิตฺถรณ > วิตฺถร > วิตฺถาร แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่แผ่ขยายไป” ใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) ความกว้าง (expansion, breadth) ใช้เมื่อกล่าวถึงการวัดระยะหรือขนาด
คำในชุดนี้มี:
อุพฺเพธ (อุบ-เพ-ทะ) = ความสูง (height)
คมฺภีร (คำ-พี-ระ) = ความลึก (deep)
อายาม (อา-ยา-มะ) = ความยาว (length)
และ วิตฺถาร = ความกว้าง (breadth)
(2) รายละเอียด, ขยายความ (detail, extension) ใช้ในการบอกเล่า หมายถึงเล่าอย่างละเอียด ตรงกันข้ามกับ “สงฺเขป” = ย่อ
บาลี “วิตฺถาร” สันสกฤตเป็น “วิสฺตาร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิสฺตาร : (คำนาม) ‘วิสดาร, พิสดาร,’ การแผ่ไพศาล, การซ่านไป; ความไพศาล; กว้าง; การขยายให้กว้าง; เส้นสกัดศูนย์กลางวงก์กลม; กิ่งไม้อันมีแขนงผลิออกใหม่; spreading, diffusion; vastness; breadth; amplification; diameter of a circle; the branch of a tree with its new shoots.”
“วิตฺถาร > วิสฺตาร” ไทยเอามาใช้เขียนตามบาลีเป็น “วิตถาร” และเขียนอิงสันสกฤตเป็น “พิสดาร” (พิด-สะ-ดาน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) วิตถาร : (คำวิเศษณ์) กว้างขวาง, มากเกินไป, พิสดาร. (ป.; ส. วิสฺตาร); นอกแบบ, นอกทาง, (เกินวิสัยปรกติ) เช่น พวกเด็ก ๆ ชอบเล่นวิตถาร เอาน้ำสกปรกผสมแป้งสาดเข้าไปในรถประจำทางในวันสงกรานต์.
(2) พิสดาร : (คำวิเศษณ์) กว้างขวาง, ละเอียดลออ (ใช้แก่เนื้อความ) เช่น ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร มีความพิสดารดังนี้; (ภาษาปาก) แปลกพิลึก เช่น เล่นพิสดาร. (ส. วิสฺตาร; ป. วิตฺถาร).
อภิปรายขยายความ :
“วิตฺถาร > วิตถาร” “วิสฺตาร > พิสดาร” แม้จะมีรากศัพท์เดียวกัน แต่เมื่อเราเอามาใช้ในภาษาไทย น้ำหนักของความหมายออกจะต่างกัน
“วิตถาร” หนักไปในทางนอกแบบ, นอกทาง, ผิดวิสัยปรกติ
“พิสดาร” หนักไปในทางแปลกพิลึก ไม่ถึงกับนอกทาง แต่ไม่เหมือนกับที่คนทั่วไปเขาทำกัน
“พิสดาร < วิตถาร” ในบาลีใช้ในความหมายว่า อธิบายชี้แจงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างละเอียด ครอบคลุม กว้างขวาง ตรงกับข้ามกับคำว่า “สังเขป” ซึ่งหมายถึง อย่างย่อ ๆ หรือย่นย่อ สั้น ๆ
“พิสดาร < วิตถาร” ในบาลีไม่ได้หมายถึงนอกแบบ, นอกทาง, ผิดวิสัยปรกติ หรือทำอะไรแปลก ๆ ไม่เหมือนกับที่คนทั่วไปเขาทำกัน-อย่างที่ใช้กันในภาษาไทย
และ “พิสดาร < วิตถาร” ในภาษาไทยก็แทบจะไม่มีใครนึกถึงความหมายที่ว่า อธิบายชี้แจงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างละเอียด-อย่างที่ใช้ในภาษาบาลี
…………..
แถม :
“วิตถาร” ในภาษาไทย อ่านว่า วิด-ถาน ไม่ใช่ วิด-ตะ-ถาน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรียนรู้คน
: ยากเหลือล้นยิ่งกว่าเรียนรู้คำ
#บาลีวันละคำ (4,237)
18-1-67
…………………………….
…………………………….